เกษตรจังหวัดกระบี่ เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังแมลงดำหนามมะพร้าว

Unicode

นางระนอง จรุงกิจกุล เกษตรจังหวัดกระบี่ เตือนเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวให้ระวังแมลงดำหนามมะพร้าว เนื่องจากพบการระบาดในแปลงมะพร้าวทั่วทั้งจังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ จึงขอแจ้งให้เกษตรกรหมั่นสำรวจต้นมะพร้าวและเฝ้าระวังการระบาดของโรคเมื่อเริ่มพบใบมะพร้าวแห้งเหี่ยวสีน้ำตาล ให้เตรียมการป้องกันหรือขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอสำนักงานเกษตรจังหวัดเพื่อหาทางควบคุมป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง

ลักษณะการทำลาย…ตัวหนอนและตัวเต็มวัยจะกัดกินยอดอ่อนที่สุดของมะพร้าวที่ยังไม่คลี่ โดยซ่อนตัวในใบอ่อนที่พับอยู่ และจะย้ายไปกินใบอ่อนอีกใบหลังจากที่ใบเดิมคลี่ออก ทำให้ยอดอ่อนของมะพร้าวชะงักการเจริญเติบโต เมื่อมีการทำลายรุนแรงหลายๆ ใบในแต่ละต้นจะมองเห็นเป็นสีขาวโพลนชัดเจน ซึ่งชาวสวนมะพร้าว เรียกว่า “โรคหัวหงอก” ระยะตัวหนอนสำคัญที่สุด เพราะทำลายได้รุนแรงกว่าตัวเต็มวัย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอากาศแห้งแล้งและขาดน้ำ

Unicode

การแพร่ระบาด…แมลงดำหนามมะพร้าวเป็นแมลงศัตรูสำคัญของพืชตระกูลปาล์มพบระบาดรุนแรงในมะพร้าว ทำให้ผลผลิตมะพร้าวไม่มีคุณภาพและมีปริมาณลดลง นอกจากนี้ ยังให้ทัศนียภาพที่งดงามของแหล่งท่องเที่ยวขาดความสวยงามเนื่องจากมะพร้าวเป็นโรคหัวหงอก

แมลงดำหนามมะพร้าวระบาดทำลายยอดมะพร้าวทั้งต้นเล็กและต้นสูงที่ให้ผลผลิตแล้วมักพบทั้งตัวหนอนและตัวเต็มวัยในยอดเดียวกันเป็นจำนวนมากและในมะพร้าวที่ให้ผลแล้วจะทำให้ผลผลิตลดลงมาก นอกจากนี้ ยังทำลายปาล์มน้ำมันและปาล์มประดับประเภทหมากเขียว หมากเหลือง และหมากแดงอีกด้วย พบระบาดในแหล่งปลูกมะพร้าวทั่วไปในภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ภูเก็ต กระบี่ ฯลฯ และได้แพร่ระบาดไปยังภาคกลางและภาคตะวันออก

สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้

  1. ในมะพร้าวต้นเตี้ย ตัดยอดที่ถูกแมลงกัดกินมาเก็บไข่ หนอน และตัวเต็มวัยไปทำลาย
  2. โดยใช้ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อจุลินทรีย์ เช่น แมลงหางหนีบ แตนเบียนแมลงดำหนามมะพร้าว และเชื้อเมตตาไรเซียม

2.1 แมลงหางหนีบกินไข่ หนอน และดักแด้ ปล่อยแมลงหางหนีบ อัตรา 200 ตัว ต่อไร่

2.2 แตนเบียนแมลงดำหนามมะพร้าว (Asecodeshipinarum) ช่วยทำลายหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว พฤติกรรมการเข้าทำลายของแตนเบียน เกิดจากเพศเมียที่ผสมพันธุ์แล้วจะใช้อวัยวะวางไข่แทงเข้าไปในลำตัวของหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว หนอนแตนเบียนที่เกิดขึ้นภายในตัวแมลงดำหนามมะพร้าวฟักออกเป็นไข่ดูดกินของเหลว แล้วเข้าทำลายตัวแมลงในที่สุด ระยะการเจริญหนอนแมลงดำหนามมะพร้าวถูกแตนเบียนทำลาย เติบโตตั้งแต่ไข่จนถึงตัวเต็มวัยประมาณ 17-20 วัน ปล่อยแตนเบียนอะซิโคเดส อัตรา 5 มัมมี่ ต่อไร่

2.3 เชื้อราเขียวเมตตาไรเซียม (Metarhiziumanisopliae) อัตราการใช้ 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (นำเชื้อราที่เจริญบนเมล็ดธัญพืชมาขย้ำเพื่อแยกกากออกและเอาเฉพาะสปอร์ที่อยู่ในของเหลว) ผสมสารจับใบ ฉีดพ่นบนยอดมะพร้าวกำจัดหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัยของแมลงดำหนามมะพร้าว หนอนแมลงดำหนามมะพร้าวถูกทำลายโดยเชื้อเมตตาไรเซียม

  1. ใช้สารเคมี ใช้สารเคมีที่มีอันตรายน้อยและสลายตัวเร็ว เช่น คาร์บาริล (เซฟวิน 85% wp) อัตรา 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นในแปลงเพาะกล้าพืชตระกูลปาล์ม ก่อนการเคลื่อนย้ายจากแหล่งที่มีการระบาดทุกครั้ง

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ โทร. 075-611-649