ธ.ก.ส. จัดประชุมใหญ่ซักซ้อมพนักงานลุยช่วยเกษตรกรพักหนี้

นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 17 ส.ค.นี้ ธนาคารจัดประชุมใหญ่ผู้บริหาร และสำนักงานสาขาทั่วประเทศกว่า 2,000 คน เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจโครงการลดภาระหนี้เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปภาคการเกษตรตามแนวทางเกษตรประชารัฐ และจัดทำแนวทางการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์โครงการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศถึงพื้นที่กว่า 3.81 ล้านคน โดยไม่ต้องเดินทางมาสาขาของ ธ.ก.ส.

“ตอนนี้ธนาคารกำลังเตรียมความพร้อม ด้วยการจัดทำคู่มือ วิธีปฏิบัติต่างๆ เพื่อสื่อสารกับพนักงานและนำไปประชาสัมพันธ์ให้กับเกษตรกรได้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยแนวทางของธ.ก.ส. จะจัดชุดเจ้าหน้าที่ลงไปหาเกษตรกรในพื้นที่เลย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ ไม่ต้องให้เกษตรกรลำบากต้องเดินทางมายื่นเรื่องที่สาขา เพราะปกติธ.ก.ส. จะมีการลงพื้นที่สำหรับนัดพูดคุยกับเกษตรกรเป็นประจำอยู่แล้ว”

สำหรับรูปแบบการช่วยเหลือเกษตรกร แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการช่วยเหลือแบบภาคสมัครใจ พักชำระเงินต้นใจแก่เกษตรกรที่มีหนี้กับธ.ก.ส. ระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2561 – 31 ก.ค. 2564 โดยใครจะเข้าหรือไม่ก็ได้ เพราะหากเกษตรกรรายใด มีกำลังผ่อนชำระได้ ไม่ต้องการเสียดอกเบี้ยเพิ่มก็สามารถผ่อนชำระได้ตามปกติ เพราะโครงการนี้พักเฉพาะเงินต้น แต่ดอกเบี้ยยังคิด และให้ผ่อนชำระดอกเบี้ยอยู่ แต่ถ้าเป็นดอกเบี้ยเดิมก่อนเข้าโครงการให้ชำระตามงวดอย่างน้อยปีละ1ครั้ง

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ส่วนที่สองโครงการการลดดอกเบี้ยเงินกู้ ธ.ก.ส. จะลดดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่ 3% ให้ทุกคนที่เข้าเกณฑ์ เฉพาะวงเงิน 3 แสนบาทแรก เป็นเวลา 1 ปี โดยมีเกษตรกรที่เข้าเกณฑ์ 3.81 ล้านราย เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2561 – 31 ก.ค. 2562 โดยในจำนวนนี้เป็นส่วนที่ ธ.ก.ส. ลดให้ 0.5% อีกส่วนมาจากที่รัฐบาลช่วยชดเชยอีก 2.5%

“โครงการส่วนที่สองนี้เกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลือเท่ากันไม่ต้องมาสมัครแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในระหว่างที่มีการพักชำระหนี้ ธนาคารยังเปิดให้เกษตรกรสามารถกู้เงินดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อนำไปปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตได้ หรือกู้ทำการผลิตโครงการใหม่ได้ หลายโครงการเพื่อปรับเปลี่ยนการผลิต หรือนำไปพัฒนาอาชีพได้ด้วย”

รายงานข่าวแจ้งว่า ธ.ก.ส. เตรียมวงเงินสินเชื่อสำหรับเปิดให้เกษตรกรสามารถกู้เงินนำปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต หรือกู้ทำการผลิตโครงการใหม่ได้หลายโครงการ อาทิ โครงการสินเชื่อเพิ่มศักยภาพการประกอบอาชีพ ดอกเบี้ยเงินกู้ปี 5% ต่อปี วงเงิน 1 แสนล้านบาท อีกทั้งยังมีสินเชื่อนำไปใช้ปรับโครงสร้างการผลิตและมีแผนพัฒนาอาชีพรายบุคคล ด้วย เช่น โครงการสินเชื่อชุมชนเพื่อการปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพผู้มีรายได้น้อย (โครงการเอ็กซ์วายแซด) ดอกเบี้ย 0.01%

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสินเชื่อพัฒนาอาชีพผู้มีรายได้น้อยดอกเบี้ย 0% นาน 6 เดือน สินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรสู่ความยั่งยืน หรือกรณีมีความจำเป็นยังสามารถขอสินเชื่อและสินเชื่อจัดหาปัจจัยการผลิตจากโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร โครงการสินเชื่อบัตรเกษตรสุขใจ โครงการสินเชื่อเงินด่วน เอ-แคลชได้ด้วย

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า กลุ่มเกษตรกรเป้าหมายที่ได้รับความช่วยเหลือพักหนี้ลดดอกเบี้ยครั้งนี้ มีลูกหนี้ทั้งหมดที่เข้าข่าย 3.81 ล้านราย วงเงินลูกหนี้ 1.35 ล้านล้านบาท แยกเป็นวงเงิน 0-300,000 บาท จำนวน 2.61 ล้านราย เป็นเงิน 363,652 ล้านบาท วงเงิน 300,001 – 1,000,000 บาท จำนวน 1.05 ล้านราย เป็นเงิน 540,536 ล้านบาท วงเงิน 1,000,001 บาทขึ้นไป จำนวน 0.15 ล้านราย เป็นเงิน 445,829 ล้านบาท

ขณะที่การออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรดังกล่าว ครม. อนุมัติงบประมาณสำหรับทำทั้ง 2 โครงการ โดยเป็นการใช้งบกลางปี 2561 ในช่วงเดือนส.ค. และ ก.ย. 2561 จำนวน 2,724.85 ล้านบาท ส่วนอีก 10 เดือนที่เหลืออีก 13,580 ล้านบาท จะเป็นงบประมาณปี 2562 ซึ่งกระทรวงการคลังดำเนินการใช้ตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติครม. ต่อไป

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์