สับปะรดGI “นครพนม” รุกแปลงใหญ่ฉีกปัญหาโลละบาท

นครพนมเดินหน้ายกระดับสับปะรด หนุนเกษตรกรทำแปลงใหญ่-ขึ้นทะเบียน GI ดันราคาสูงถึง กก.ละ 7-8 บาท ไม่หวั่นแม้สับปะรดล้นตลาด-ราคาทรุดฮวบ

นายสงกรานต์ พิมพ์ทอง รองประธานและเลขานุการ กลุ่มสับปะรด ต.นาใน อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม ผู้ผลิตสับปะรดแปลงใหญ่มาตรฐาน GI เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวัดนครพนม โดยเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ สหกรณ์จังหวัด และพาณิชย์จังหวัด ได้เชิญชวนเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดรวมกลุ่มกันผลิตแปลงใหญ่เพื่อแก้ปัญหาราคาตกต่ำ ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการทั้งหมด 2 อำเภอ 5 ตำบล ได้แก่ ท่าอุเทนและโพนสวรรค์ มีพื้นที่ปลูก 8,000 ไร่ สมาชิก 400 คน

ด้านการผลิตมุ่งเน้นให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันใช้สารเคมีเพียง 10-15% และอินทรีย์ 85-90% จึงทำให้ได้มาตรฐาน GAP และได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ขณะที่การจัดการตลาดได้กำหนดปริมาณสับปะรดที่จะออกสู่ตลาดในแต่ละเดือน เพื่อป้องกันปัญหาผลผลิตล้นตลาดในช่วงที่พีกของประเทศ ตั้งแต่เมษายน-พฤษภาคม รวมถึงมิถุนายน-กรกฎาคม ที่ผลไม้ทางภาคตะวันออกออกสู่ตลาดมาก โดยเฉลี่ยผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 100 ตัน/วัน ช่วงพีก 200 ตัน/วัน ซึ่งพาณิชย์จังหวัดเป็นส่วนสำคัญในการหาช่องทางการตลาด

ขณะที่ต้นทุนในการผลิตอยู่ที่ 3 บาท/กิโลกรัม (กก.) แต่กลุ่มสามารถขายในราคาหน้าสวนเฉลี่ย 5-6 บาท/กก. แต่เมื่อได้ GI ราคาอยู่ที่ 7-8 บาท/กก. และราคาหน้าแผง 10-12 บาท/กก. โดยเฉพาะช่วงที่มีผลิตออกมากหรือล้นตลาด ราคาสับปะรดที่อื่นตกลงเหลือเพียง กก.ละ 1 บาท แต่ของกลุ่มสามารถขายได้เท่าทุน โดยปัจจุบันมีพ่อค้ามารับซื้อถึงหน้าสวนในราคา 5-6 บาท/กก. และส่งไปจำหน่ายใน จ.อุบลราชธานี อุดรธานี นครราชสีมา และขอนแก่น อีกทั้งมีล้งรายใหญ่ ซึ่งเป็นเกษตกรในพื้นที่ประมาณ 4-5 รายเข้ามารับซื้อ ขณะเดียวกันกลุ่มได้แนะนำให้สมาชิกนำผลผลิตไปขายที่แผงวิสาหกิจชุมชนริมถนนทางหลวง 2028 อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร-อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม และเลียบแม่น้ำโขง บ้านแพง-ศรีสงคราม

“ตอนนี้มองหาตลาดต่างประเทศ อยากจะส่งออก กำลังมองหานักธุรกิจที่จะเข้ามาร่วมมือกับเราในการส่งออกผลผลิตไปจีนหรือเวียดนาม เพราะยังไม่มีความชำนาญในด้านนี้ แต่มั่นใจในคุณภาพของผลผลิต เพราะสามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง และอยากขยายตลาดมาที่กรุงเทพฯด้วย เนื่องจากตอนนี้สามารถกระจายผลผลิตได้เพียงภายในภูมิภาคเท่านั้น”

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์