“ร่าง พ.ร.บ. ข้าว” ฉบับ สนช. ขึ้นทะเบียนชาวนา-จัดโซนนิ่งเพาะปลูก

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมาชิก สนช. 25 คน ร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ. ข้าว ฉบับที่ พ.ศ. … ต่อที่ประชุม สนช. โดยร่าง กม. ฉบับนี้กำหนดให้มี “คณะกรรมการข้าว” หรือ คกข. โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77

ตั้งบอร์ดข้าว นายกฯ เป็นประธาน

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติข้าว ฉบับที่ พ.ศ. … ประกอบด้วย มาตรา 6 ให้มีคณะกรรมการข้าว (คกข.) มีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯ เป็นประธาน มีคณะกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รมว. เกษตรและสหกรณ์ รมว. พาณิชย์ ปลัดกระทรวงการคลัง เกษตรฯ พาณิชย์ มหาดไทย อุตสาหกรรม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจฯ

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

นอกจากนี้ ยังให้มีกรรมการผู้แทนเครือข่ายชาวนา ผู้แทนภาคเอกชน อาทิ ผู้ค้าข้าว ผู้รวบรวมและรับซื้อข้าวเปลือก ผู้ค้าปัจจัยการผลิตการเกษตร ผู้ส่งออกข้าว โรงสี

ให้อำนาจ คกข. จัดโซนนิ่งข้าว

อำนาจหน้าที่ของ คกข. บัญญัติไว้ ในมาตรา 12 อาทิ จัดทำแผนพัฒนาข้าวและชาวนาให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวของประเทศโดยมีกรอบเวลาที่ชัดเจน ครอบคลุมด้านวิจัยและพัฒนา พัฒนากระบวนการผลิต การแปรรูป การตลาด และส่งเสริมการส่งออกข้าวภายใต้กรอบความตกลงขององค์การการค้าโลก ให้กำหนดหลักเกณฑ์จัดทำเขตศักยภาพการผลิตข้าวของประเทศ การจดทะเบียนและการพักใช้หรือเพิกถอนการจดทะเบียนพันธุ์ข้าว และผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ควบคุมและกำกับพันธุ์ข้าว การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว รวมทั้งการผลิต พัฒนา และกำหนดมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว และการกระจายเมล็ดพันธุ์ ฯลฯ

กำหนดมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่มีพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว ให้ปรับเปลี่ยนไปทำการเกษตรประเภทอื่นที่เหมาะสม โดยใช้กองทุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร หรือกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

ตั้ง “สำนักงานบอร์ดข้าว”

ขณะเดียวกัน ในมาตรา 15 มีการ “ยกระดับ” หน่วยงานที่ดูแลข้าวอย่างกรมการข้าวมาเป็นสำนักงาน โดยกำหนดให้กรมการข้าวทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการข้าว โดยให้อธิบดีกรมการข้าวทำหน้าที่เป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าว มีหน้าที่ อาทิ ควบคุมและกำกับดูแลการจำหน่ายข้าวเปลือกและผลพลอยได้ ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการศึกษา วิจัย และทดลอง เพื่อสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับข้าว เทคโนโลยีการผลิต การพัฒนาพันธุ์ข้าว ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว และระบบการตรวจสอบย้อนกลับด้านการผลิตข้าว

ชาวนาต้องขึ้นทะเบียน

ด้านเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไปจนถึงโรงสีข้าวต้องมา “ขึ้นทะเบียน” กับสำนักงาน คกข. โดยปรากฏในมาตรา 19 ได้แก่ ผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ศูนย์ข้าวชุมชน ชาวนา ผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือก ผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร ผู้รับจ้างทำนา และผู้ดำเนินการรับจ้าง ฉีด พ่น หว่าน วัตถุอันตรายทางการเกษตร ปุ๋ย สารชีวภัณฑ์ สารปรับปรุงดินให้แก่ชาวนา ขณะที่มาตรา 20 กำหนดให้เครือข่ายชาวนา แหล่งรวบรวมข้าว ผู้รับซื้อข้าว และโรงสีข้าว ต้องขึ้นทะเบียนด้วย

ขณะที่ส่วนที่ 2 เรื่อง “การกำกับดูแล” ในมาตรา 21 กำหนดให้ กระทรวงเกษตรฯ จัดให้มีการทำเขตศักยภาพการผลิตข้าวครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดให้มีการผลิตข้าวตามพันธุ์ข้าวที่มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ทำโซนนิ่งปลูกข้าวให้เสร็จใน 2 ปี

ขณะที่บทกำหนดโทษ บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวซึ่งไม่ได้รับการรับรองตามพระราชบัญญัตินี้ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวเสื่อมคุณภาพ หรือเมล็ดพันธุ์ข้าวปลอมปน ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวอันเป็นเท็จหรือไม่ตรงกับความเป็นจริง ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีที่มีการลักลอบนำข้าวออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ยึดและทำลายบทเฉพาะกาลมาตรา 36/1 บัญญัติว่า ในวาระเริ่มแรก ให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการให้มีการจัดทำเขตศักยภาพการผลิตข้าวของประเทศภายใน 2 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้

ทีดีอาร์ไอ จวกยับ

ขณะที่ ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก เพราะจะติดขัดเรื่องขอบเขตอำนาจ คน และงบประมาณ กล่าวคือ 1) กม. ฉบับนี้ไปล่วงอำนาจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เพราะเรื่องข้าวไม่ใช่มีเพียงกรมการข้าว แต่ยังมีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะทำหน้าที่ดูแลกำกับการซื้อขายข้าวตาม พ.ร.บ.การค้าข้าว พ.ศ. 2498 โดยมี กม.ใหม่กำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นมาคล้ายกับคณะกรรมการบริหารจัดการข้าว (นบข.) ให้กรมการข้าวเป็นฝ่ายเลขาฯ แต่ในทางปฏิบัติการอนุมัติงบประมาณจะให้ไปที่หน่วยงาน ไม่ใช่ให้ไปที่คณะกรรมการ เมื่อไม่มีงบประมาณก็บริหารจัดการไม่ได้

2) กฎหมายนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการเข้าไปกำกับดูแลการซื้อข้าว โดยเฉพาะการซื้อข้าวเปลือกระหว่างโรงสีและเกษตรกร จนมีลักษณะว่า โรงสีเป็นผู้ร้าย ที่จะไปกดราคาข้าว ซึ่งในทางปฏิบัติโรงสีเป็นกลไกหนึ่งในการรับซื้อข้าวเปลือกและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้วย หากรัฐจะไปกำกับดูแลก็ต้องมีเจ้าหน้าที่ไปนั่งประจำโรงสี แล้วคำถามคือ จะมีเจ้าหน้าที่เพียงพอหรือไม่และประเด็นนี้อาจจะนำไปสู่การทุจริตด้านอื่น

3) การกำกับดูแลโดยกำหนด “ผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือก” จะเป็นต้นทุนทางสังคม ส่วนการกำหนดบทลงโทษผู้ประกอบการที่กดราคารับซื้อ เป็นเหมือนกฎหมายในสมัยก่อนที่มองว่า พ่อค้าเป็นผู้ร้าย ต้องเข้าใจว่า ปัจจุบัน ราคารับซื้อข้าวเปลือกปัจจุบันเป็นไปตามกลไกตลาด โรงสีมีจำนวนมากแย่งกันซื้อ หากเกษตรกรผลิตข้าวเปลือกคุณภาพดีมาขายก็จะได้ราคาสูง แต่หากข้าวเปลือกคุณภาพไม่ดี ความชื้นสูงจะได้ราคาต่ำ

อย่างไรก็ตาม ทางออกคือ ไม่จำเป็นต้องยกร่างกฎหมายใหม่ แต่ควรเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายเดิมให้ประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มองค์ประกอบ นบข. ให้ตัวแทนจากทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมด้วย พร้อมทั้งต้องวางแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวระยะยาว