กรมการข้าว เร่งเครื่องเดินหน้าต่อ สร้างมาตรฐาน GAP ทุกแปลงควบคู่เชื่อมโยงตลาดครบวงจร

นางจุลมณี  ไพฑูรย์เจริญลาภ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการผลิตข้าว กรมการข้าว เปิดเผยภายหลังเยี่ยมชมการดำเนินกิจกรรมนาแปลงใหญ่ ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี และเพชรบุรี ว่า กรมการข้าวได้ดำเนินโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) ปี 2558-2561 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโดยการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตข้าวคุณภาพดี อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มสมรรถนะในการบริหารจัดการการผลิตข้าวของชุมชนแบบครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการผลิต การจัดการคุณภาพ และการจัดการด้านการตลาด เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจนถึงขณะนี้มีจำนวนนาแปลงใหญ่ที่กรมการข้าวรับผิดชอบ จำนวนทั้งสิ้น 1,902 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 2,433,172 ไร่ เกษตรกรจำนวน 175,647 ราย ในพื้นที่ 71 จังหวัด แบ่งเป็นกลุ่มต่อเนื่องปี 2558-2560 จำนวน 1,172 แปลง และกลุ่มใหม่ปี 2561 จำนวน 730 แปลง

โดยกรมการข้าว ได้พัฒนาเกษตรกรเข้าสู่ระบบการผลิตข้าวที่เหมาะสมตามมาตรฐาน GAP แล้วจำนวน 854 แปลง เกษตรกร 47,700 ราย พื้นที่ 594,916 ไร่ โดยรับใบรับรองมาตรฐานแล้ว 143 แปลง และจะเข้าสู่ระบบการตรวจรับรองในฤดูกาลผลิตนี้อีก 711 แปลง  ซึ่งคาดว่าจะมีผลผลิตข้าวที่ได้มาตรฐาน GAP เข้าสู่ตลาดจำนวนไม่น้อยกว่า 300,000 ตัน ซึ่งจะมีทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวปทุมธานี 1 กข 43 ข้าวเหนียว กข 6 และข้าวพันธุ์พื้นเมืองคุณภาพดีอื่นๆ เช่น สังข์หยดพัทลุง เล็บนกปัตตานี หอมกระดังงา เป็นต้น  นอกจากนี้ ยังได้มีการเตรียมความพร้อมเกษตรกรเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP เพื่อตรวจใบรับรองในปี 2562 อีกจำนวน 1,048 แปลง เกษตรกร 127,947 ราย พื้นที่ 1.8 ล้านไร่

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา พบว่า เกษตรกรมากกว่า 80% มีความพึงพอใจในการรวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกันภายใต้ระบบนาแปลงใหญ่ เนื่องจากทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็งขึ้นในด้านการจัดการเพาะปลูกให้มีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งการรวมกลุ่มทำให้เกิดประสิทธิภาพทั้งด้านการผลิต การตลาด ทั้งกลุ่มของศูนย์ข้าวชุมชน วิสาหกิจชุมชนด้านข้าว และสหกรณ์การเกษตร ทั้งนี้ จากการประเมินผลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 1,326 บาท ต่อไร่ โดยปีแรกเพิ่มขึ้น 115 บาท ต่อไร่ ปีที่ 2 เพิ่มขึ้น 1,211 บาท ต่อไร่ เป็นผลมาจากผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้น 17.50% ขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง 19.02% ปี ส่งผลให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ต่างพอใจในผลลัพธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ กรมการข้าว จะเดินหน้าเพิ่มศักยภาพในการเชื่อมโยงตลาดข้าวในนาแปลงใหญ่ให้มีระบบมากขึ้น เพื่อช่วยเกษตรกรให้มีพื้นที่ในการจำหน่ายต่อยอดการผลิตข้าวที่ได้คุณภาพต่อไป