ประดู่ป่า ต้นไม้พระราชทาน จังหวัดชลบุรี

ประดู่ป่า เป็นต้นไม้พระราชทาน เพื่อปลูกเป็นมงคล แก่จังหวัดชลบุรี และมีคำขวัญประจำจังหวัดคือ “ทะเลงาม ข้าวหลามอร่อย อ้อยหวาน จักสานดี ประเพณีวิ่งควาย”

จังหวัดชลบุรี หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า เมืองชล เมืองแห่งน้ำ มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมาก ประโยคแรกของคำขวัญหมายถึง สถานที่ที่โดดเด่น ไม่เพียงแต่โดดเด่นของจังหวัดชลบุรีเท่านั้น แต่โดดเด่นระดับประเทศก็ว่าได้ นั่นคือ ทะเลงาม ชลบุรีมีหาดทรายชายทะเลที่สวยงามและใกล้กรุงเทพฯ มากด้วย “หาดบางแสน” เป็นสถานที่ตากอากาศชายทะเลยอดนิยม ของชาวไทยที่มีชื่อเสียงมาช้านาน ตั้งแต่ พ.ศ. 2486 จนถูกขนานนามว่า “บางแสนดินแดนสุขขี”

จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ริเริ่มให้มีการสร้างสถานที่ตากอากาศขึ้น มีการสร้างโรงแรม และที่พักต่างๆ ดำเนินการโดย บริษัทแสนสำราญ จึงเรียกว่าสถานตากอากาศแสนสำราญตามชื่อบริษัท ต่อมา พ.ศ. 2503 จึงโอนให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และเปลี่ยนชื่อเป็น สถานตากอากาศบางแสน ทะเลงามอีกแห่งหนึ่ง คือ พัทยา ซึ่งจัดเป็นเมืองท่องเที่ยวนานาชาติ ที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยเฉพาะหาดทรายที่ทอดยาวไปตามแนวชายฝั่งทะเล จัดได้ว่ามีความสวยงามอีกแห่งของประเทศไทย ปัจจุบัน ได้มีแผนเสนอชื่อเมืองพัทยาต่อ ยูเนสโก ให้เป็นเมืองภาพยนตร์ เนื่องจากมีการถ่ายทำภาพยนตร์ที่พัทยาไม่น้อยกว่า 300 เรื่อง ต่อปี และรายได้ ร้อยละ 90 มาจากการท่องเที่ยว

ข้าวหลามอร่อย ข้าวหลามหนองมน เป็นที่เลืองชื่อลือชาของจังหวัดชลบุรีมาก ข้าวหลามหนองมนนี้มีประวัติที่เล่าต่อกันมาว่า สมัยก่อนบ้านหนองมน จะมีอาชีพทำนาปลูกข้าว พอหลังหมดหน้านาชาวบ้านก็จะทำขนมฉลองกินกัน พอมีงานแสดงงิ้วที่ศาลเจ้าชาวบ้านต่างก็มารวมตัวกันจนเกิดการซื้อขายขึ้น ข้าวหลามหนองมนเริ่มมามีชื่อเสียง ก็ตอนที่มีการตัดถนนสุขุมวิท เพื่อผ่านตลาดให้คนกรุงเทพฯ ได้ไปเที่ยวบางแสน คนที่ผ่านไปมาก็ซื้อติดไม้ติดมือกลับกรุงเทพฯ จนกระทั่งยุคสมัยของ จอมพลสฤษฎ์ ที่มาพักตากอากาศที่บางแสน พร้อมกับ นายพลเนวิน ของพม่าในยุคนั้น ได้มีการเกณฑ์ชาวบ้านไปเผาข้าวหลามโชว์ จึงมีการลงหนังสือพิมพ์ และมีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน

อ้อยหวาน จังหวัดชลบุรี เป็นแหล่งเกษตรกรรมที่เพาะปลูกพืช ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา ดังนั้นจังหวัดชลบุรี จึงมีโรงงานต่างๆ มากมาย ที่เกี่ยวกับการผลิตน้ำตาล ซึ่งได้มาจากต้นอ้อยที่หอมหวาน และยังมีการนำมาทำเป็นน้ำตาลสด ซึ่งหอมหวานอร่อยและติดลิ้น และถือเป็นของฝากที่ใครๆ ก็ซื้อ ถ้ามีคำถามว่า ถ้าให้เลือกเป็นต้นไม้ คนชลบุรีอยากเป็นต้นอะไร ขอตอบแทนได้เลยว่า อยากเป็นต้นอ้อย เพราะอ้อยเป็นพืชที่คุ้นเคยกับชาวชลบุรีนาน หลายชั่วอายุคน ก็เติบโตมากับไร่อ้อย อ้อยก็เหมือนคนชลบุรี เลี้ยงง่าย ดูแลง่าย ไม่เรื่องมาก จริงใจ มีแต่ให้อย่างเดียว ให้แต่ความหวานสดชื่นโดยเสมอภาค

จักสานดี เครื่องจักสานพนัสนิคม เป็นงานจักสานที่มีชื่อเสียงโด่งดังของชาวตำบลพนัสนิคม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีมานานกว่าร้อยปีแล้ว เครื่องจักสานของตำบลพนัสนิคมเกิดขึ้นมาพร้อมกับการตั้งชุมชนในสมัยรัชกาลที่ 3 ผู้ที่นำเครื่องจักสานเข้ามานั้น เป็นชาวลาวที่อพยพเข้ามาสวามิภักดิ์กับประเทศไทย ดังนั้น งานจักสานของชาวพนัสนิคมเป็นงานที่ประณีตสวยงาม ทำให้เกิดเป็นโครงการส่งเสริมฝีมือการจักสานด้วยไม้ไผ่ ตามพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขึ้นมา โดยเปิดสอนให้ชาวบ้านรุ่นแรก เมื่อปี 2520 จนถึงปัจจุบัน

ประเพณีวิ่งควาย เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดชลบุรี งานนี้จัดขึ้นหลังฤดูการไถนา เพื่อให้ควายพักเหนื่อยหลังการใช้งานมาอย่างหนัก และระหว่างรอการเก็บเกี่ยวชาวนาจะนำควายมาชุมนุมกัน เพื่อถือโอกาสมาพบปะสนทนากัน รวมทั้งการซื้อขายสินค้าที่ตลาด จนกลายมาเป็นการแข่งขันวิ่งควายขึ้น ปัจจุบัน ประเพณีวิ่งควายในเขตเทศบาลเมืองชลบุรี จะจัดในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 อำเภอบ้านบึง จัดในวันขึ้น 26 ค่ำ เดือน 11 วัดดอนกลาง ตำบลแสนสุข อำเภอชลบุรี จัดวิ่งควายในวันทอดกฐินประจำปีของวัดในวันนี้ นอกจากจะจัดให้มีการแข่งขันวิ่งควายแล้ว ยังมีการประกวดความงามของควาย การประกวดสุขภาพของควาย และการ “สู่ขวัญควาย” หรือการทำขวัญควายอีกด้วย

ประเพณีวิ่งควาย เป็นประเพณีที่จัดเป็นประจำทุกปีในวันก่อนออกพรรษา 1 วัน เป็นประเพณีที่เป็นมรดกตกทอดมา แต่บรรพชนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นการทำขวัญควายและให้ควายได้พักผ่อน จากงานในท้องนาเพื่อให้สอดคล้องกับความเชื่อที่ว่า หากปีใดไม่มีการวิ่งควาย ปีนั้นควายจะเป็นโรคระบาดกันมาก เพื่อแสดงรู้คุณ ต่อควายซึ่งเป็นสัตว์ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพทำนา และเพื่อให้ชาวบ้านมาพบปะสังสรรค์กัน ส่วนใหญ่จัดงานในเขตเทศบาลเมืองชลบุรี และอำเภอบ้านบึง เดิมมีแต่คนในท้องถิ่นรู้จัก แต่ในปัจจุบันประเพณีวิ่งควายเป็นประเพณีประจำจังหวัดชลบุรี ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันไปทั่วทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

ชื่ออื่น : ดู่ ดู่ป่า (ภาคเหนือ) ประดู่ป่า (ภาคกลาง) ฉะนอง (เชียงใหม่), ประดู่เสน (สระบุรี ราชบุรี), ติเลง จิต๊อก ประดู่ป่า (แม่ฮ่องสอน)

ชื่อสามัญ : Burmese Ebony, Burma  Padouk

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pterocarpus macrocarpus  Kurz

ชื่อวงศ์ : Leguminosae – Papilionaceae

ประดู่ป่า เป็นต้นไม้พระราชทาน เพื่อปลูกเป็นมงคลของจังหวัดชลบุรี  เช่นเดียวกับประดู่บ้านที่เป็นต้นไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลของจังหวัดภูเก็ต

ประดู่บางชนิด ที่มีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ประดู่ที่ว่า คือ ประดู่ลาย หรือประดู่แขก ซึ่งเป็นโพธิญาณพฤกษาของพระติสสะพุทธเจ้า โพธิญาณพฤกษา คือ พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28  พระองค์ ประทับตรัสรู้ต้นประดู่ลาย (ทั่วๆ ไปเรามักจะคิดว่าพระพุทธเจ้ามีเพียงพระองค์เดียวคือ พระโคตมพุทธเจ้า (ผู้ประเสริฐแห่งหมู่ศากยราช) แต่แท้ที่จริงแล้วก่อนหน้าพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ มีพระพุทธเจ้ามาแล้ว 27 พระองค์ และพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ทรงตรัสรู้ภายใต้ต้นไม้ที่แตกต่างกัน ซึ่งเราเรียกว่า โพธิญาณพฤกษา)

ตามพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้ากลับจากเทศนาโปรดพระเจ้าสุทโทธนะ พระราชบิดา  แล้วก็เสด็จพาพระอานนท์ พระราหุล พร้อมทั้งพระภิกษุสาวกบริการ สู่กรุงราชคฤห์ประทับยังสีสปาวัน หรือป่าประดู่แขกหรือประดู่ลายซึ่งเป็นพันธุ์ไม้อยู่ในกลุ่มพวกไม้พะยูง ไม้ชิงชัน ของไทย แต่บางท่านให้ความเห็นว่า พระพุทธเจ้าน่าจะเสด็จประทับในป่าประดู่บ้านหรือประดู่อินเดียมากกว่า เพราะมีร่มเงาดี และชื่อสกุลก็บอกอยู่แล้วว่า มีกำเนิดในอินเดีย แต่ปรากฏว่าประดู่บ้านหรือประดู่อินเดียหรือประดู่อังสนานี้ กลับเป็นไม้พื้นเดิมของมาเลเซียและอินโดนีเซีย ชาวมาเลเซียเรียกว่า ไม้สะโน แต่อินเดียไม่ปรากฏว่ามีชื่อพื้นเมืองเรียกไม้ชนิดนี้

ในประเทศไทย ประดู่ป่า เป็นไม้ผลัดใบ ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่ในป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest) และป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp Forest) ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตก ของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ ประดู่ป่า เป็นไม้ที่ต้องการแสง สามารถขึ้นได้ตามไหล่เขา ที่ราบ ยอดเขาเตี้ยๆ ใกล้แหล่งน้ำที่มีความสูงระดับน้ำทะเล 300-600 เมตร จะเจริญเติบโตดีในพื้นที่ดินร่วนปนทราย (sandy loam) ดินลึก และมีการระบายน้ำดี

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ลำต้น เปลือกหนาสีน้ำตาลเทาถึงเทาเข้ม เปลือกในสีน้ำตาล เมื่อถากเปลือก จะมียางสีแดงไหลออกมา เนื้อไม้แข็งมีสีน้ำตาลอมเหลืองแก่นสีน้ำตาลแดง ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่ แต่ละใบมีใบย่อย จำนวน 5-11 ใบ ใบย่อยอ่อนมีขนเล็กน้อย ส่วนใบแก่จะเกลี้ยง และจะร่วงในฤดูร้อน เริ่มผลิใบในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ดอก เป็นช่อที่เกิดระหว่างง่ามใบที่ห้อยลง รูปร่างของดอกเป็นรูปดอกถั่ว กลีบเลี้ยงสีน้ำตาลอมเขียวหรือสีเขียว กลีบดอกสีเหลือง ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกช่วงเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน ผลและเมล็ด เป็นฝักกลมใหญ่กว่าประดู่บ้านและมีขนปกคลุมอยู่ ผลแก่มีสีน้ำตาลแกมเทา ตรงกลางมีเปลือกคลุม แข็งหนา มีเมล็ด 1-2 เมล็ด สีน้ำตาลแดงยาว 0.4-0.5 นิ้ว จำนวนเมล็ด 1 กิโลกรัม มีเมล็ด 12,500-18,000 เมล็ด ผลแก่ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน

การขยายพันธุ์ :  เพาะเมล็ด

สรรพคุณทางสมุนไพร :  รากใช้แก้ไข้ บำรุงโลหิต คุมธาตุ แก้เสมหะ แก่นใช้บำรุงโลหิต แก้พิษเบื่อเมา แก้คุดทะราด แก้ผื่นคัน แก้ปัสสาวะพิการ แก้กษัย เปลือกใช้สมานบาดแผล แก้ท้องเสีย ใบ ใช้พอกแผล พอกฝีให้สุกเร็ว แก้ผดผื่นคัน ยาง แก้โรคท้องเสีย  โรคปากเปื่อย ปากแห้งแตกระแหง

ประโยชน์ในเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประดู่ เป็นไม้เรือนยอดกลมโต แข็งแรง จะช่วยป้องกันลมและคลุมดินให้ร่มเย็นชุ่มชื้น และรองรับน้ำฝนลดแรงปะทะหน้าดินน้อยลง ประกอบกับระบบรากหยั่งลึกแผ่กว้างเช่นเดียวกับเรือนยอด จะช่วยยึดดินไม่ให้พังทลายได้ง่ายและรากมีปมใหญ่ช่วยตรึงไนโตรเจนในอากาศมาเก็บไว้ในรูปไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์ได้อีกด้วย ใบหนาแน่นเมื่อร่วงหล่น ผุพังเพิ่มธาตุอาหารและอินทรียวัตถุแก่ดินอย่างมาก

ประโยชน์อื่นๆ ใช้ปลูกเป็นไม้ร่มเงา ไม้ริมทาง เปลือกให้น้ำฝาดสำหรับฟอกหนังและแก่นให้สีแดงสำหรับย้อมผ้า เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องเรือนต่างๆ ทำเครื่องดนตรี เช่น ระนาด นอกจากนั้น เนื้อไม้ประดู่ยังนำไปใช้ในงานก่อสร้างทั้งภายในและภายนอกอาคารเป็นอย่างดี เพราะเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความทนทานสูง เนื้อไม้มีสีสวยงาม สีแดงอมเหลืองถึงสีแดงอิฐเข้ม มีเส้นสีแก่กว่าสีพื้น เสี้ยนสนเป็นริ้ว ไสกบตกแต่งชักเงาได้ดี จากการเปรียบเทียบกับไม้สักที่ประเทศพม่า พบว่า ไม้ประดู่มีความแข็ง (hardness) มากกว่าไม้สัก 2 เท่า และหนักกว่า ร้อยละ 24 มีความทนทานตามธรรมชาติ (การทดลองฝังดิน) เฉลี่ย 14 ปี ดังนั้น การใช้ไม้ประดู่ในการก่อสร้างจึงเป็นไปอย่างกว้างขวาง ตลอดจนการทำเฟอร์นิเจอร์เครื่องมือเครื่องใช้ ส่วนไม้ขนาดเล็กใช้ทำไม้ปาร์เก้ ไม้ประสาน แผ่นชิ้นไม้อัด แผ่นไม้ชุบซีเมนต์ ฟืนและถ่านไม้ประดู่ให้ความร้อนดีมาก