จ้าวแห่งสีสัน “เลิฟเบิร์ด” ราชินีนกเล็ก

ในช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาไข้หวัดนก ทำให้ผู้เพาะเลี้ยงนกสวยงามหลายรายประสบปัญหาขาดทุน ไม่มีกำลังพอที่จะเลี้ยงนกสวยงามในฟาร์ม ประกอบกับเพื่อนบ้าน หรือสมาชิกในครอบครัวเอง เกิดความไม่มั่นใจในนกของผู้เพาะ ทำให้ต้องเลิกกิจการฟาร์มนกสวยงามในที่สุด

ผู้เพาะเลี้ยงนกสวยงามหลายราย ถอดใจ เลิกเลี้ยงนกบ้าง หรือถึงขั้นปล่อยนกขึ้นฟ้าไปเผชิญชะตากรรมเองก็มี แต่ปัจจุบัน สามารถควบคุมสถานการณ์โรคไข้หวัดนกได้ ทำให้ตลาดการซื้อขายนกสวยงามในประเทศกลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง

คุณอิษฎา อยู่นุช

ที่ฟาร์ม I.S. Beauty Bird เชื่อมั่นว่า นกสวยงาม ยังเป็นสัตว์เลี้ยงที่ประชาชนทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจ จึงได้ใช้จังหวะนั้นปรับปรุงสถานที่ และปรับเปลี่ยนพ่อแม่พันธุ์ใหม่ เน้นนกที่ยังมีน้อย และด้วยความชอบส่วนตัวที่ต้องการเลี้ยงนกจำนวนไม่มากนัก เพื่อดูแลนกได้ทั่วถึง

คุณอิษฎา อยู่นุช หรือพี่อ้อ เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยตำแหน่งอินสเปคเตอร์ของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ตามมาด้วยตำแหน่ง เลขานุการผู้บริหาร ผู้จัดการฝ่ายบุคคล  ผู้จัดการทั่วไป ในหน่วยงานเอกชน และสุดท้ายที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ก่อนจะมาเลี้ยงนกอย่างเต็มตัว ส่วนคุณสุรพงค์ อยู่นุช หรือ พี่อ๊อต ปัจจุบันยังทำงานเป็นช่างซ่อมส่วนล่างรถโดยสาร การรถไฟแห่งประเทศไทย

พี่อ้อ เล่าประวัติการก่อตั้งฟาร์มแห่งนี้ ให้ฟังว่า ด้วยเหตุที่พี่ทั้งสองมีสวัสดิการในการทำงานด้วยกันทั้งคู่ จึงหารือกันว่าใครควรจะเป็นคนที่เกษียณก่อนเวลา เพื่อมองหาอาชีพไว้ยามเกษียณอายุ หลังจากที่ตกลงกันแล้ว ทั้งคู่ใช้เวลา 1 ปีเต็ม ในการมองหาสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้ที่สามารถสร้างความสุขและสร้างรายได้ให้กับอนาคต โดยพิจารณาด้วยเหตุและปัจจัยหลายๆ ด้าน และลงตัวที่นก เนื่องจากมีความชอบ และประสบการณ์ทั้งนกไทยและนกต่างประเทศเป็นทุนเดิมมาก่อน อีกทั้งมีนกหลายชนิด ที่สามารถเพาะเลี้ยง และพัฒนาให้สวยงามต่อไปได้อีก

“ที่เลือกเลี้ยงนกเลิฟเบิร์ด เพราะนกเลิฟเบิร์ดจัดเป็นนกที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์อยู่ในตัวเอง เสามารถให้ผลผลิตที่หลากสีสัน ทำให้ผู้เลี้ยงเกิดจินตนาการ ความตื่นเต้น ความประทับใจ และมีความสุข  เลิฟเบิร์ด มีนิสัยร่าเริง กินธัญพืช ชอบอากาศแบบประเทศไทย จึงให้ลูกได้ตลอดปี ทั้งยังเป็นนกที่อยู่ในความนิยมของชาวไทย และชาวต่างประเทศอีกด้วย”

นกเลิฟเบิร์ด เป็นนกแก้วขนาดเล็กชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดในทวีปอัฟริกา และหมู่เกาะมาดากัสก้า ชอบอากาศอบอุ่นถึงค่อนข้างร้อน ในธรรมชาตินกชนิดนี้จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์และเลือกคู่ได้แล้ว จะอยู่กับคู่ของมันไปจนตาย แต่มนุษย์สามารถนำมาเพาะเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์ จนทำให้มีลักษณะและสีสันต่างๆ มากมาย ทั้งยังสลับสับเปลี่ยนคู่ครองได้อีกด้วย ในประเทศไทย มีผู้นำนกชนิดนี้เข้ามาจากยุโรป ในปี 2515 และยังมีการนำเข้ามาเป็นระยะๆ จนถึงปัจจุบัน

นกเลิฟเบิร์ดเป็นนกที่สามารถนำมาเลี้ยงดูเล่น  เลี้ยงเป็นเพื่อน  เลี้ยงเพื่อทำเป็นอาชีพเสริม หรือเป็นอาชีพหลักได้ทั้งสิ้น เนื่องจากเป็นนกที่เหมาะกับสภาพอากาศในเมืองไทย อายุไม่เกิน 1 ปี ก็สามารถให้ลูกได้  ทั้งยังให้ลูกได้ตลอดปี มีหลากหลายสีสัน และหลายราคาให้เลือกตั้งแต่หลักร้อย ไปจนถึงหลักแสนบาท

จะเลี้ยงตัวเดียว เลี้ยงคู่ หรือเลี้ยงรวมก็ทำได้ หรือจะนำลูกนกมาป้อน เป็นนกเชื่อง ฝึกให้ทำตามคำสั่ง หรือปล่อยบิน เป็นนกบินอิสระได้อีกด้วย

โดยทั่วไปนิยมแยกนกเลิฟเบิร์ด ออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดมีขอบตา (ขอบตาหนา) และไม่มีขอบตา (ขอบตาบาง) นกทั้ง 2 ชนิดแบ่งออกเป็นสายพันธุ์หลักๆ ได้ 9 สายพันธุ์ ดังนี้ ชนิดมีขอบตา มี 4 สายพันธุ์ Fischeri, Personata, Black Cheeked และ Nyasa ชนิดไม่มีขอบตา มี 5 สายพันธุ์ Peach Face, Red Face, Black Collared, Madagascar และ  Abyssinian

พี่อ้อ ยังแอบกระซิบบอกเราเกี่ยวกับการเลือกพ่อ-แม่พันธุ์นกเลิฟเบิร์ดว่า ควรเลือกจากแหล่งที่ไว้ใจได้ มองดูสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูเป็นองค์ประกอบ แล้วเลือกซื้อนกที่ร่างเริง ดวงตาสดใสไม่มีลักษณะระคายเคือง ขนสวยเป็นระเบียบ ไม่มีอาการพองขน ไม่ยืนหลับ ปีกไม่ตก นิ้วเท้าและเล็บเท้าครบ จงอยปากไม่ผิดปกติ จมูกไม่แฉะไม่มีขี้ติดตูด ก้นไม่ย้อย อกไม่แหลม ไม่มีตุ่มตามตัว ไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ เพียงแค่นี้ก็จะได้พ่อ-แม่พันธุ์นกเลิฟเบิร์ดที่ได้คุณภาพไปครอบครอง

ส่วนการดูเพศและการเข้าคู่นกนั้น สามารถสันนิษฐานได้จากลักษณะของโครงสร้าง  พฤติกรรม และสัมผัสกระดูกเชิงกรานของนก ซึ่งวิธีนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน แต่วิธีนี้มีโอกาสผิดพลาดได้ ทำให้บางคนเลือกใช้วิธีตรวจ DNA แทน แต่การตรวจ DNA ต้องทำในห้องแล็ป มีค่าใช้จ่ายตามมา ดังนั้น หากดูเพศเองไม่ได้และไม่ต้องการตรวจ DNA การจับคู่ให้นกก็สามารถทำได้ โดยการปล่อยนกในกรงรวม ให้นกจับคู่กันเอง หรือกรณีมั่นใจเพศก็สามารถบังคับคู่ โดยการจับคู่ให้นกเอง

จำนวนการให้ลูก ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของตัวนก  เฉลี่ยแม่นกจะออกไข่อยู่ที่ 4-6 ฟอง ปกติจะไข่วันเว้นวัน หรือ วันเว้น 2 วัน หรือมากกว่านั้น ใช้เวลาฟักประมาณ 20-21 วัน  หรือเลยไปไม่เกิน 5 วัน ลูกนกอายุครบ 45 วัน ก็พร้อมที่จะแยกจากพ่อแม่ได้แล้ว

ฟาร์ม I.S. Beauty Bird มีการจดบันทึกทำประวัติของนกทุกตัวในฟาร์มโดยละเอียดเพื่อให้สามารถตรวจสอบสายพันธุ์ พ่อ-แม่ของนกได้ พร้อมทั้งขึ้นทะเบียนไว้กับกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชตามอนุสัญญา กลุ่มงานควบคุมและตรวจสอบการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ เพื่อรองรับความต้องการของต่างประเทศแล้วยังป้องกันการเกิดสายเลือดชิดของลูกนกอีกด้วย

ส่วนเรื่องการทำความสะอาดกรงนกนั้น พี่อ้อให้ข้อมูลว่า กรงนี่เลี้ยงนั้นทุกกรงจะมีกระดาษรองที่ก้นถาด ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่เราจะเก็บทำความสะอาดนั่นจะทำได้ง่าย โอกาสที่จะโดนเชื่อโรคหรือการสัมผัสกับมูลของนกที่บางคนจะกลัวเรื่องไข้หวัดนก แต่ I.S. Beauty Bird ฟาร์มของเรา เชื่อใจได้เพราะเราเลี้ยงระบบปิด แต่เพื่อนให้ลูกค้ามั่นใจว่านกของเราปลอดภัย เราก็จะมีการเก็บมูลนกทุกวันและมีถาดรองที่ด้านล่างของกรง เพราะฉะนั้นที่ I.S. Beauty Bird ฟาร์มของเราจะเน้นที่ระบบป้องกันโรค เราไม่รอให้นกเป็นโรคแล้วค่อยรักษา”

นี่จึงเป็นจุดแข็งของฟาร์ม I.S. Beauty Bird ที่ทำให้มีลูกค้ารายใหม่และรายเก่าพลัดกันแวะเวียนเข้ามาอยู่ตลอดไม่ขาดสาย

สิ่งสำคัญที่สุดของการเลี้ยงนกเลิฟเบิร์ด คือน้ำสะอาด ในกรณีของ I.S. Beauty Bird ฟาร์มนั้น น้ำที่จะนำมาให้นกดื่มจะให้เป็นวิตามิน น้ำวิตามินจะให้ได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ไม่อย่างนั้นจะเกิดแบคทีเรียในน้ำได้ ดังนั้นพี่อ้อ จะต้องให้น้ำนกให้เสร็จภายใน 08.00 น. เก็บน้ำอีกครั้งในเวลา 17.00 น. แล้วจึงล้างคว่ำถ้วยน้ำ

แต่ถ้าเป็นการเลี้ยงไว้ดูเล่น พี่อ้อบอกว่า เราสามารถเลี้ยงด้วยน้ำเปล่า โดยไม่ต้องใส่วิตามินในน้ำก็ได้ หรือถ้าจะให้ดี ใส่วิตามินให้นกด้วยจะดีกว่า เพราะว่าวิตามินจะช่วยเรื่องการคลายเครียดของนก

พี่อ้อ ให้ข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับน้ำเปล่าที่ให้กับนกในฟาร์มว่า น้ำเปล่าที่เรานำมาให้นกนั้น เราจะใช้น้ำที่กรองแล้ว เป็นน้ำที่ขังใส่ถังค้างคืนไว้ แล้วนำมาใส่ขวดค้างคืนไว้อีกที สรุปว่าน้ำเราจะเป็นน้ำก๊อกที่ออกมาอย่างน้อยต้อง 2 วันที่มีการพักน้ำ

ส่วนเรื่องอาหารพี่อ้อเล่าให้ฟังว่า เรื่องอาหารเราก็จะให้ปกติอยู่ในกรงอยู่แล้ว นกจะกินธัญพืช ธัญพืชที่ให้สามารถทิ้งไว้ในกรงได้ แต่พวกผลไม้หรืออาหารเสริม จะให้วันต่อวัน จะดูว่ากรงไหนมีลูก ก็จะให้อาหารเสริมเป็นข้าวโพด ขนมปัง หรือข้าวโอ๊ต

พี่อ้อ ยังฝากไปถึงมือใหม่ด้วยว่า นกเลิฟเบิร์ดนั้น แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ 2 กลุ่ม คือมีขอบตา และไม่มีขอบตา แต่แยกย่อยได้อีก 9 สายพันธุ์ ในแต่ละสายพันธุ์ก็ยังมีข้อปลีกย่อยลงไปอีก ราคาของตัวนกก็มีหลากหลายให้เลือกซื้อ โดยส่วนใหญ่เป็นราคาตามความพึงพอใจของผู้ซื้อและผู้ขาย การเลือกซื้อจากฟาร์ม ไม่ได้หมายความว่า ราคาจะสูงกว่าภายนอกเสมอไป และการซื้อจากฟาร์มก็ไม่ได้หมายถึง ต้องมีแต่ของดีเท่านั้น การมองเห็นกระแสตลาดอาจไม่ใช่สภาพความเป็นจริง ดังนั้น ควรมองดูตนเองว่ามีความต้องการเช่นไรต่อสิ่งนั้นๆ

“ก่อนอื่นดูความต้องการของผู้เลี้ยงก่อนว่าต้องการเลี้ยงเพื่ออะไร เช่น ต้องการเพียงเลี้ยงดูเล่น  ต้องการทำเป็นอาชีพเสริม หรือ ต้องการทำเป็นอาชีพหลัก ต่อมาก็ดูความพร้อมของตนเองว่าสามารถสอดรับกับสิ่งที่ตนเองต้องการได้หรือไม่ เพียงใด เช่น  เวลา สถานที่ สภาพแวดล้อม เงินลงทุน หากต้องการทำเป็นอาชีพ ควรวิเคราะห์ตลาดของตนเองไม่ควรทำตามกระแสจนเกินไป  คิดดูให้ดีว่ากว่าเราจะพร้อมนำสิ่งเหล่านั้นออกขายตลาดข้างหน้าจะเป็นเช่นไร และควรเผื่อใจไว้สำหรับอนาคตซึ่งไม่แน่นอน  ดังนั้น ถ้าเริ่มต้นทำสิ่งใดด้วยความรักมิใช่ด้วยความจำเป็นเราจะอยู่กับสิ่งนั้นได้นานมากกว่า”

การติดต่อซื้อขายนกเลิฟเบิร์ดกับฟาร์ม I.S. Beauty Bird นั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ฟาร์ม I.S. Beauty Bird ไม่มีหน้าร้าน ไม่ขนส่งนกทางรถโดยสารประจำทาง มีการซื้อขายทาง internet ตามยุคสมัย ใช้วิธีส่งภาพให้ลูกค้าดู ประกอบการตัดสินใจ เพราะลูกค้าบางรายอยู่ไกล ไม่อยากให้เสียเวลาและโอกาส I.S. Beauty Bird นิยมให้ลูกค้าได้มีโอกาสมาเห็นนกตัวจริงก่อนการตัดสินใจ จึงมีลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ  ถาเป็นชาวต่างชาติต้องมีเอกสาร import permit จึงจัดส่งนกไปให้

“I.S. Beauty Bird ได้รับการอนุญาตให้ครอบครอง เพาะพันธุ์ และทำการค้า ทั้งนกไทยและนกต่างประเทศ  ทำให้สามารถส่งออกนกไปยังต่างประเทศได้อย่างถูกต้องถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตามทาง I.S. Beauty Bird ไม่ได้เน้นการเพาะเลี้ยงเชิงปริมาณ แต่เน้นเรื่องคุณภาพ” พี่อ้อ กล่าวทิ้งท้าย

หากท่านใดมีความสนใจติดต่อมาได้ที่ คุณอิษฎา อยู่นุช เลขที่ 648  ถ.นวมินทร์ ซ.นวมินทร์ 12  แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ และต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เข้าไปเยี่ยมชมที่ www.isbeautybird.com

เผยแพร่ครั้งแรกวันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2561