แกนนำยางใต้ ยื่นข้อ 5 เสนอบิ๊กตู่ ประชุม ครม.สัญจร ชุมพร-ระนอง เร่งแก้ปัญหาวิกฤตยางพาราไทย

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ลงพื้นที่และประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ในวันที่ 20-21 สิงหาคม ที่จังหวัดชุมพรและระนอง ในฐานะเจ้าบ้านที่เป็นเกษตรกรชาวสวนยางต้องขออภัย ที่ไม่สามารถอยู่ต้อนรับได้เพราะติดภารกิจ แต่มีเรื่องการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่จะฝากให้พิจารณา ด้วยการทวงข้อเสนอเดิมและมีคำถามเพื่อให้ท่านตอบ

หลังจากการแก้ไขวิกฤตยางพาราไทย ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2557 ของรัฐบาล คสช. จนถึงปัจจุบัน แม้จะเปลี่ยนรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบมาหลายคน แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ราคายางพาราสูงขึ้นได้ สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ ได้เสนอแนวทางปฏิรูปยางพาราไทย 5 ด้าน ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกฤษฎา บุญราช เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 โดยมี

1.ปฏิรูปเกษตรกรชาวสวนยาง ด้วยการใช้กลไก พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย 2558 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง เช่น การจัดสวัสดิการให้เกษตรกรชาวสวนยาง โดยเฉพาะคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อยที่เดือดร้อนสุด โดยมีข้อเสนอให้รัฐบาลจัดทำแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

2.ปฏิรูปสวนยาง ด้วยยุทธศาสตร์สวนยางยั่งยืน เพื่อเปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยวเป็นป่ายางที่มีสมดุลนิเวศและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการจัดการรูปแบบการปลูกยางใหม่ โดยให้มีต้นยางเพียง 40-44 ต้น ต่อไร่ จากรูปแบบการปลูกยางเดิม 76-80 ต้น ต่อไร่ ทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง มีการปลูกพืชร่วมยาง เช่น ผักพื้นบ้าน ผลไม้ ไผ่ กาแฟ มีการทำเกษตรผสมผสาน เช่น เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงผึ้ง ทำฟาร์มเห็ด มีการปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจตามแนวทางธนาคารต้นไม้ เพื่อสร้างเสริมรายได้และลดต้นทุนการผลิต

นายสุนทร รักษ์รงค์

มีการเสนอให้ใช้ชุดความคิดสวนยางยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาสิทธิในที่ทำกินให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 4.6 ล้านไร่ 3 แสนครัวเรือน โดยให้เกษตรกรชาวสวนยางร่วมกลุ่มทำสวนยางยั่งยืน และขอใช้ประโยชน์ทีดินตามกฎหมาย ลักษณะสิทธิชุมชน

3.ปฏิรูปการผลิตและแปรรูปยางพารา ด้วยการใช้นโยบายของรัฐบาลเพื่อเพิ่มการใช้ยางในประเทศให้ได้ 20% หรือ 1 ล้านตัน ภายใน 2 ปี รวมทั้งการใช้กลไกของการยางแห่งประเทศไทย ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางรวมกลุ่มเป็นสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และวิสาหกิจชุมชน เพื่อแปรรูปยางพารา จนยกระดับความเข้มแข็ง นำไปสู่การทำการตลาดส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางด้วยตนเองของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง

4.ปฏิรูปการตลาด ด้วยการลดการพึ่งพาตลาดจีน ให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ตั้งบริษัทหรือบริษัทมหาชนค้าขายยางและแปรรูปยาง เพื่อถ่วงดุลและรักษาเสถียรภาพราคายางพารา และให้เพิ่มการทำ spot marget เพื่อต่อสู้กับตลาดกระดาษหรือตลาดซื้อขายยางล่วงหน้า

5.ปฏิรูป กยท. เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรชาวสวนยาง ตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย 2558 และพัฒนาคุณภาพพนักงาน กยท. ให้มีศักยภาพเพื่อรองรับสถานการณ์ของยางโลกที่เปลี่ยนไป

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร ต้องบังคับใช้ พ.ร.บ. ควบคุมยาง 2542 อย่างเคร่งครัด เพื่อให้พ่อค้าส่งออกยางลดการเอาเปรียบเกษตรกรชาวสวนยาง รวมทั้งให้กระทรวงพาณิชย์ กำหนดราคายางให้เลยจุดคุ้มทุน เพราะเป็นสินค้าควบคุม