ระดมพัฒนาเกษตรกร ทำลำไยคุณภาพ นำร่องภาคเหนือ ยกระดับ จัดการผลผลิต

ลำไย เป็นผลไม้ที่มีความสำคัญของเกษตรกรภาคเหนือ ซึ่งมีแหล่งผลิตที่สำคัญ ใน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง ตาก และแพร่ ซึ่งในปี 2561 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณผลผลิตลำไยภาคเหนือออกสู่ตลาดรวม 654,329 ตัน เป็นลำไยในฤดู 381,498 ตัน คิดเป็น 60% และนอกฤดู 272,831 ตัน หรือ 40%

จังหวัดที่มีผลผลิตมากที่สุด 2 อันดับแรก คือ เชียงใหม่ และลำพูน

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ มีผลผลิตจำนวน 137,219 ตัน แหล่งผลิตที่สำคัญและมีปริมาณผลผลิตมาก ได้แก่ อำเภอพร้าว อำเภอสารภี อำเภอจอทอง และอำเภอสันป่าตอง ตามลำดับ

ส่วนจังหวัดลำพูน มีผลผลิตจำนวน 125,120 ตัน แหล่งผลิตที่สำคัญและมีปริมาณผลผลิตมาก ได้แก่ อำเภอลี้ อำเภอเมือง และอำเภอป่าซาง ตามลำดับ

ในเดือนสิงหาคม เป็นช่วงเวลาที่ลำไยออกผลผลิตมากที่สุด คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณ 237,559 ตัน คิดเป็นร้อยละ 62.27 โดยมีช่องทางการระบายลำไยสดที่สำคัญคือ การทำลำไยอบแห้งเป็นสินค้าแปรรูป มีตลาดใหญ่อยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยลำไยสดช่อ เกรด AA จะมีราคาอยู่ที่ 31 บาท ต่อกิโลกรัม เกรด A ราคา 27 บาท ต่อกิโลกรัม เกรด B ราคา 16 บาท ต่อกิโลกรัม และเกรด AA+A ราคา 25 บาท ต่อกิโลกรัม ส่วนลำไยรูดร่วง เกรด AA ราคา 24 บาท ต่อกิโลกรัม เกรด A ราคา 15 บาท ต่อกิโลกรัม เกรด B ราคา 6 บาท ต่อกิโลกรัม และเกรด C ราคา 1 บาท ต่อกิโลกรัม

คุณลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแนวทางบริหารจัดการลำไยภาคเหนือ ให้มีคุณภาพผลผลิตที่ดี โดยยกจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน เป็นจังหวัดนำร่องในภาคเหนือ ทั้งนี้ มีแนวทางการบริหารจัดการเพื่อยกระดับคุณภาพลำไย โดยผ่านกลไกของคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) โดยแบ่งออกเป็น 2 แผน คือ

  1. การบริหารจัดการเชิงคุณภาพ

เน้นกระจายผลผลิตออกนอกฤดูกาล พัฒนาคุณภาพผลผลิต ภายใต้โครงการรณรงค์การผลิตลำไยคุณภาพ โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)

การกระจายปริมาณผลผลิตออกนอกฤดู (ในฤดู 60 : นอกฤดู 40) ใน 8 จังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง ตาก และแพร่

  1. ส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน GAP ในเกษตรกร 1,950 ราย

จัดทำโครงการรณรงค์การผลิตลำไยคุณภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตโดยการตัดแต่งช่อผล เป็นการจัดสวนไม้ผลแบบใหม่ ต้องควบคุมทรงพุ่มให้มีขนาดไม่ใหญ่ หรือเรียกว่า “การทำลำไยต้นเตี้ย” ตัดแต่งกิ่งและช่อผลที่ไม่จำเป็นออก เพื่อความสะดวกในการทำงานของเกษตรกรทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว และจะได้ลำไยช่อใหญ่ ลูกโต คุณภาพดี

ด้าน คุณสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า 8 จังหวัดภาคเหนือมีพื้นที่ปลูกประมาณ 8 แสนกว่าไร่ ผลผลิตสูงขึ้น จากการส่งเสริม พัฒนาคุณภาพ และการกระจายการผลิตไปนอกฤดูมากขึ้น จากปี 2554 มีสัดส่วนลำไยในฤดู 70% นอกฤดู 30% ในปี 2561 เปลี่ยนเป็น 60% และ 40% ตามลำดับ รวมถึงกระทรวงเกษตรฯ พยายามส่งเสริมการทำลำไยต้นเตี้ยและตัดแต่งช่อผล เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี ตอนนี้มีลำไยเกรด AA 60% จากเดิม 20% และเกรด A 40% จากเดิมมีถึง 60% และเดิมมีเกรด B 5% แต่ปัจจุบันไม่มีลำไยเกรด B แล้ว เป็นผลจากการส่งเสริมแปลงใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 53 กลุ่ม

โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ส่งเสริมด้านการตลาด ให้มีการจัดตั้งจุดจำหน่ายลำไยสดเป็นของฝาก การนำผลผลิตทางการเกษตรเข้าสู่ระบบตลาดออนไลน์ โดยมีการเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตลำไยแปลงใหญ่ใน 7 จังหวัดภาคเหนือ (ยกเว้นจังหวัดแพร่) รวม 53 แปลง เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตลำไยคุณภาพ เป็นเกรด AA และ A คาดว่าจะมีผลผลิตลำไยคุณภาพ ประมาณ 27,000 ตัน ออกสู่ตลาด โดยมีสินค้าลำไยแปลงใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่อำเภอแม่วางและอำเภอสารภี ส่วนลำไยแปลงใหญ่ของจังหวัดลำพูน ได้แก่ อำเภอลี้ รวม 3 เป็น 2 จังหวัดนำร่องในการค้าขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ด้วยระบบ e-Market ผ่านบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ www.Thailandpostmart.com ซึ่งจะเป็นการขายส่งตรงถึงมือผู้บริโภค อันเป็นสินค้าคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม และผู้บริโภคสามารถเลือกพันธุ์ที่จะรับประทานได้ตามต้องการ ทั้งพันธุ์อีดอ พันธุ์สีชมพู และพันธุ์เบี้ยวเขียว

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือ กับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในการให้บริการลดค่าขนส่งจากสวนถึงมือผู้บริโภค ที่เป็นผู้สั่งซื้อสินค้า ภายใน 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน คือ บริษัท เนเชอรัล เบฟ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มลำไยสกัดเข้มข้นจากธรรมชาติ โดยบริษัทได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน รับซื้อผลลำไยจากเกษตรกรโดยตรง เพื่อนำมาผลิตเครื่องดื่มลำไยสกัดเข้มข้นจากลำไยสดคุณภาพดี ทั้งยังเป็นการช่วยเหลือและสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไย โดยสร้างโรงงานผลิตที่ทันสมัย ได้มาตรฐาน บนพื้นที่กว่า 140 ไร่ ตำบลนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เขตติดต่อกับอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่

ด้วยเหตุนี้ ทำให้บริษัทสามารถรับซื้อผลลำไยสดคุณภาพดีจากเกษตรกรทั้งจังหวัดลำพูนและจังหวัดเชียงใหม่ ได้ไม่น้อยกว่า 200 ตัน ต่อวัน และคาดว่าจะรับซื้อผลลำไยสดได้มากกว่า 10,000 ตันในช่วงฤดูกาลนี้ นอกจากนี้ ยังสามารถรับซื้อผลลำไยสดคุณภาพดีในช่วงนอกฤดูกาลได้ตลอดทั้งปี โดยมีเป้าหมายในการรับซื้อปริมาณ 7,000-10,000 ตัน ต่อปี คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 100 ล้านบาท

จากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการช่วยกันบริหารจัดการผลผลิตลำไยภาคเหนือให้เป็นไปตามกลไกปกติ ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร มั่นใจได้ว่า ลำไยในฤดูกาลผลิตปี 2561 จะได้รับการบริหารอย่างเบ็ดเสร็จและลงตัว