สำรวย-ชุมพล อันธพันธ์ เกษตรกรคอนแทร็กต์ฟาร์มเลี้ยงหมูขุน มั่นใจอาชีพไร้ความเสี่ยง

“หนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ” คำพูดนี้สะท้อนความจริงในชีวิตของ คุณสำรวย อันธพันธ์ ที่เกิดมาในครอบครัวชาวไร่ชาวสวน แม้ไม่ถึงกับยากจนแต่ก็ไม่ได้ร่ำรวย นั่นทำให้อนาคตทางการศึกษาของเธอเดินมาสุดทางเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จนเมื่อได้ลงหลักปักฐาน สร้างครอบครัวเล็กๆ กับ คุณชุมพล อันธพันธ์ ผู้เป็นสามี คุณสำรวยก็ยังคงยึดอาชีพทำไร่อ้อย ปลูกข้าวโพด ปลูกทานตะวัน เป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวมาตลอด แต่เพียงตัดอ้อยเก็บข้าวโพดและทานตะวันขายไม่อาจตอบโจทย์ ความมั่นคงทางรายได้ให้กับครอบครัวได้

ในปี 2535 คุณสำรวยและคุณชุมพลจึงตัดสินใจว่าจะทำฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อเป็นอีกอาชีพเสริม ซึ่งความหวังที่ว่านี้ก็เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างที่คิดไว้จริงๆ เพราะอาชีพเสริมนี้กลับสร้างรายได้ที่ดี จนทำให้ครอบครัวมีฐานะดีขึ้นพอสมควร เวลานั้นคุณสำรวยคิดว่าการเลี้ยงไก่คงจะเป็นอาชีพเลี้ยงตัวได้แน่ๆ แต่ก็เหมือนฟ้าแกล้งจากปัญหาไข้หวัดนกระบาดอย่างหนักในปี 2547 ถึงแม้ว่าฟาร์มไก่ของเธอจะไม่เป็นโรคอย่างเพื่อนร่วมอาชีพ แต่ตอนนั้นเธอยอมรับว่าทุกคนต่างกลัวกันไปหมด เลยจำเป็นต้องเลิกเลี้ยงไก่ไปทั้งที่ไม่ได้อยากเลิก

ก๊าซจากมูลหมู

จากจุดเปลี่ยนในครั้งนั้นทำให้คุณสำรวยยึดอาชีพทำไร่เพียงอย่างเดียวมาตลอด กระทั่งเมื่อปี 2549 มีเพื่อนๆ ที่เลี้ยงหมูในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ อยู่ก่อนแล้ว และเห็นว่าคุณสำรวยเคยทำอาชีพเลี้ยงไก่แล้วประสบความสำเร็จ ที่สำคัญคือความที่เธอมีใจรักการเลี้ยงสัตว์เป็นทุนเดิม จึงได้รับคำแนะนำว่าซีพีเอฟกำลังเปิดรับเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเลี้ยงหมูแบบฝากเลี้ยง ในพื้นที่ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เมื่อทราบข้อมูลจากเพื่อนก็รู้สึกสนใจในทันที และได้ศึกษารายละเอียดของโครงการจนเข้าใจระบบทั้งหมด พร้อมทั้งปรึกษากับเพื่อนๆ ที่ทำอยู่ก่อน รวมถึงไปเยี่ยมชมโครงการของเกษตรกรคนอื่นๆ ด้วย เรียกได้ว่าไปดูมาจนทั่ว จนมั่นใจว่าทำได้ไม่ต่างกับคนอื่นๆ จึงตัดสินใจเลี้ยงหมูขุนคอนแทร็กต์ฟาร์มกับซีพีเอฟทันที

“เรามองว่าอาชีพนี้ไม่มีอะไรต้องเสี่ยง ถ้าเราขยันและตั้งใจ เพราะบริษัทรับความเสี่ยงไปทั้งหมด ทั้งเรื่องพันธุ์หมู อาหารสัตว์ รวมถึงเป็นตลาดรับซื้อผลผลิต และตัวเองก็มีโครงสร้างเล้าไก่ 4 หลังที่ยังแข็งแรงอยู่ จึงตกลงร่วมโครงการ เริ่มก่อสร้าง “อันธพันธ์ฟาร์ม” ด้วยการปรับปรุงเล้าไก่ให้เป็นโรงเรือนเลี้ยงหมูขุนแบบปิดด้วยระบบอีแว้ปตามแบบที่บริษัทแนะนำ เลี้ยงหมูหลังละ 600 ตัว รวม 2,400 ตัว” คุณสำรวย เล่าถึงจุดเริ่มต้นอาชีพ

ที่หน้าฟาร์ม

ช่วงเริ่มแรกคุณสำรวยและคุณชุมพลเลี้ยงดูหมูและทำทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยมีทีมงานซีพีเอฟมาช่วยให้ความรู้ คำแนะนำ และสอนเทคนิคการเลี้ยง จนเมื่อปิดการเลี้ยงรุ่นแรกผลตอบแทนการเลี้ยงที่ได้ทำให้หายเหนื่อยและยิ้มออกอีกครั้ง เธอและสามีเห็นตรงกันว่าการเลี้ยงหมูนี้จะสร้างความมั่นคงได้อย่างแน่นอน ที่สำคัญบริษัทยังช่วยแนะนำหนทางแก้ปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าที่เป็นปัญหาหนักอกในช่วงปีแรก ด้วยการทำระบบไบโอแก๊ส ที่จะได้แก๊สมาปั่นเป็นไฟฟ้าทดแทนการใช้ไฟหลวง และยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมเรื่องกลิ่นเหม็นที่อาจรบกวนชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาช่วยทำระบบให้ ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากกว่า 50% รายได้ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

จากเป้าหมายเดิมที่จะเลี้ยงหมูเป็นอาชีพเสริม ก็กลายมาเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลักให้กับครอบครัวอันธพันธ์ ส่วนการทำไร่กลับกลายเป็นอาชีพเสริมที่มีผลพลอยได้คือปุ๋ยขี้หมูหลังจากการหมักในระบบไบโอแก๊ส ที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางอาหารที่พืชต้องการ ถือเป็นการลดต้นทุนค่าปุ๋ยในการทำไร่ลงได้ถึงเท่าตัว ประมาณ 1,000 บาท ต่อไร่

“เราโชคดีที่เลือกทางเดินอาชีพนี้ โดยเฉพาะในภาวะที่ราคาหมูค่อนข้างตกต่ำอย่างทุกวันนี้ ซึ่งน่าเป็นห่วงเพื่อนเกษตรกรที่ลงทุนเลี้ยงและขายหมูเอง เพราะต้องเจอกับภาวะขาดทุนสะสมมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว เราสองคนพูดกันว่าถ้าไม่ร่วมโครงการกับซีพีเอฟ ก็คงจะเจอปัญหาขาดทุนไม่ต่างกัน เพราะทุกวันนี้ต้นทุนการเลี้ยงค่อนข้างสูง ไม่สอดคล้องกับราคาหมู เกษตรกรต้องเสี่ยงกับตลาดที่ผันผวน เราดีใจที่ตัดสินใจเลือกอาชีพนี้” คุณชุมพล บอกอย่างมั่นใจ

หมูที่เลี้ยง

วันนี้คุณสำรวยและคุณชุมพลมุ่งมั่นพัฒนาการเลี้ยงหมูขุนให้ได้มาตรฐานและสร้างอันธพันธ์ฟาร์มให้เติบโตขึ้น โดยในปี 2553 ได้เพิ่มโรงเรือนอีก 2 หลัง เลี้ยงหมูหลังละ 700 ตัว พร้อมขยายขนาดโรงเรือนเดิมให้สามารถเลี้ยงหมูเพิ่มเป็นหลังละ 660 ตัว รวมโรงเรือน 6 หลัง มีความจุหมูรวม 4,040 ตัว นอกจากนี้ ยังต่อยอดความสำเร็จสู่ธุรกิจใหม่ด้วยการทำระบบขนส่งหมูและอาหารสัตว์ ทั้งการเลี้ยงหมูและทำระบบขนส่ง ทำให้ครอบครัวนี้มีรายได้ที่มั่นคง เฉลี่ยเดือนละ 440,000 บาท แต่ก็ไม่ลืมที่จะปรับปรุงและพัฒนาให้ประสิทธิภาพการเลี้ยงหมูดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นพื้นฐานอาชีพที่ยั่งยืนให้กับลูกๆ ต่อไป