โฮมสเตย์เมืองปอน วัฒนธรรมไทยใหญ่ กลางโอบเขา

บ้านเมืองปอน ที่อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ของคนเชื้อสายไทยใหญ่ ขุนยวม เป็นเมืองกลางขุนเขา มีแม่น้ำยวมไหลผ่าน ธรรมชาติสวยจนละเมอ ยามหนาวหมอกจะคลุมเมือง เห็นแล้วจะเพ้ออยากไปใช้ชีวิตที่นั่น แต่ฉันว่าเอาแค่ไปเที่ยว ไปเยี่ยมเยือนเขาก็น่าจะพอ

อีกไม่นานชายแดนตรงนี้จะเปิดผ่านไปยังพม่า เดินทางไปอีกไม่กี่สิบกิโลจะถึงเมืองลอยก่อ และต่อไปอีกราว 300 กิโลเมตร จะไปถึงเมืองเนปิดอว์

เมืองลอยก่อนี่ ถ้าใครไม่รู้จัก ให้ถามคนไทยใหญ่ที่ทำงานในประเทศเรา ส่วนใหญ่เขามาจากที่นั่น เดินเท้ากันข้ามพรมแดนเข้ามา ยากเข็ญนักกว่าจะรอดชีวิตมาถึง เพราะฉะนั้นเจือจานอะไรเขาได้ก็ทำเถิด

ชาวบ้านเมืองปอนรวมตัวกันทำโฮมสเตย์มา 2-3 ปีแล้ว เริ่มเป็นที่รู้จัก มีนักท่องเที่ยวแวะไปเรื่อยๆ แต่ไม่หนาตานัก เพราะชุมชนเขาก็รองรับได้ไม่มากมาย เขามีบ้านที่พร้อมรับนักท่องเที่ยวราว 10 หลัง  เป็นบ้านแบบไทยใหญ่ดั้งเดิม ปัดกวาดเอี่ยมอ่อง นอนสบาย กินสบาย เดินเที่ยวในหมู่บ้าน ซึ่งมีทั้งวัด โบราณสถาน ศูนย์วัฒนธรรม มีวิถีชีวิตตามธรรมชาติที่ยังคงดำรงอยู่

อย่างการตัดเสื้อไทยใหญ่ที่เราเห็นใส่กันในเมืองแม่ฮ่องสอน เขาผลิตที่นี่ส่งไปขายทั่วประเทศ มีทั้งเสื้อแบบพื้นๆ และเสื้อลายฉลุที่ทำกันประณีตระดับงานศิลปะ

เดินเล่นในหมู่บ้านทักทายกับชาวบ้านที่ยิ้มแย้มแจ่มใส หรือจะเดินไปดู การทำจองพารา (ปราสาท) ของ ลุงแหลมคำ คงมณี อายุ 76 ปี ช่างทำจองพาราคนเดียวของหมู่บ้าน หรือจะไปดูเขาฉลุสังกะสีเป็นเชิงหลังคา หรือจะไปดูกลุ่มแม่บ้านเขาแปรรูปผลไม้นานาพันธุ์ให้เป็นขนมส่งไปขายตามงานต่างๆ เรียกว่าอยู่ที่นี่ไม่มีเหงา

ทำกันแบบธรรมชาติ ไม่ใส่จริต ไม่พยายามดัดแปลงเอาใจนักท่องเที่ยว เขาอยู่อย่างไร กินอย่างไร เขาก็ต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างนั้น ต้อนรับด้วยน้ำใจงดงามอันเป็นปกติของคนที่นั่น ฉันว่ามันดีมาก ไม่มากไม่น้อย สุภาพแต่ไม่อ้อล้อ มีน้ำใจแต่ไม่เอาอกเอาใจเกินงาม

ฉันได้นอนบ้านป้าคำหลู่ กับลุงประจวบ เป็นบ้านไม้อายุ 84 ปี สวยงามและยังแข็งแรง ฉันว่าสวยกว่าหลังใดในหมู่บ้านนี้แล้ว ป้าคำหลู่ บอกว่า เกิดมาก็เจอบ้านหลังนี้ ด้านล่างเป็นร้านขายของชำ บ้านป้าเป็นครอบครัวค้าขาย แม่ค้าขายอยู่กับบ้าน พ่อเป็นพ่อค้าวัวต่าง นัยว่ามีฐานะอู้ฟู่ไม่น้อย

ป้าคำหลู่ อารมณ์ดี ตื่นแต่เช้าทำกับข้าวให้กินแล้วก็เล่านั่นนี่ให้ฟัง ตอนค่ำป้าคำหลู่จะนั่งรอจนทุกคนเข้านอน ก่อนตัวเองจะเข้านอนด้วย ก่อนนอนป้าจะบอกว่าถ้าจะไปเข้าห้องน้ำ ให้เปิดประตูแบบนี้ๆ นะ ประตูนี่มันรีโมตคอนโทรลแบบนี้ๆ ป้าหยอดมุขแล้วหัวเราะเอง เอิ๊กๆ ป้าบอกว่าเคยคิดอยากรื้อบ้านนี้ แต่ผู้ว่าฯ มาที่หมู่บ้านและขอให้รักษาไว้ ป้าก็เลยไม่รื้อ ทุกวันนี้ลูกสาวป้าที่เรียนจบมีการงานทำ ก็มาช่วยป้าดูแลแขกด้วย และยืนยันจะไม่รื้อ

บ้านที่เมืองปอน มีหลักๆ 2 แบบ แบบแรกเป็นเรือนใต้ถุนสูง มีสองหลังคาต่อกัน มีเรือนชาน และห้องครัวอยู่ในตัวบ้านเหมือนบ้านป้าคำหลู่ เรียกว่าเรือนโหลงสองส่องสำหรับครอบครัวใหญ่ อีกแบบเป็นเรือนเดี่ยวใต้ถุนสูง เรียกว่า เฮินโหลงตอยเหลียว สำหรับครอบครัวเล็ก

แขกจะแยกพักบ้านละไม่เกิน 4 คน แยกหญิงชาย เขาคิดค่าที่พักคนละ 350 บาท รวมอาหาร 2 มื้อ คือมื้อเย็นและมื้อเช้า คุ้มแสนคุ้ม คุ้มจนฉันเสนอไปว่าขึ้นราคาอีกหน่อยเถอะ ฉะนั้น ถ้าใครไปหลังจากนี้แล้วราคาขึ้นมาอีกนิด อย่าไปว่าชาวบ้านเขาเลย มาว่าฉันนี่

ระหว่างรับประทานอาหารเย็นลูกหลานชาวเมืองปอนจะมาฟ้อนรำแบบไทยใหญ่แท้ให้เราได้ดู น่ารักเป็นธรรมชาติมาก

คุณกมล ศิลามณี เป็นหนุ่มหัวเรี่ยวหัวแรงของกลุ่มโฮมสเตย์ เช้ามืดคุณกมลจะขายของในตลาด พอตลาดวายคุณกมลก็เริ่มทำงานให้ชุมชนต่อ วิ่งวุ่นวายกับการดูแลแขก พาแขกไปเรียนรู้วัฒนธรรมไทยใหญ่ที่ยังมีอยู่ในทุกบ้านเรือน ในทุกวัด ในทุ่งข้าวกลางหมู่บ้าน ในภาษาที่ให้พูดคุยกัน และในทุกลมหายใจ

พูดถึงตลาด ตลาดเขาน่ารักมาก สร้างด้วยไม้ทั้งหลังรวมทั้งหลังคา มีพ่อค้าแม่ค้าอยู่ราว 20 คน ขายกันหงุงหงิง น่ารัก แต่ว่าคนบ้านอื่นก็มาจับจ่ายที่บ้านนี้นะ เพราะเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้านแถบนี้ ใครจะเดินตลาดต้องตื่นเช้ามาก เพราะราว 6 โมงกว่า ตลาดก็วายแล้ว

ชุมชนคนไตเมืองปอน อยู่ที่ หมู่ที่ 1 และ 2  ต.เมืองปอน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ถ้าไปทางรถจากเชียงใหม่ให้ไปเส้นทางฮอด ผ่าน อ.แม่สะเรียง และ อ.แม่ลาน้อย จะถึงเมืองปอนก่อนถึงตัวอำเภอขุนยวมราว 12 กิโลเมตร ถ้าไปเครื่องบินก็ลงที่ตัวเมืองแม่ฮ่องสอน นั่งรถไปอีก 79 กิโลเมตร เส้นทางวกวนผ่านป่าเขางดงาม แต่อย่าเพลินดูมาก จะเวียนหัวตาลายเอาง่าย และให้ทำใจรับกับเส้นทางที่คดโค้งนั้น

ติดต่อกลุ่มโฮมสเตย์เมืองปอน ได้ที่ 053-684644, 053-684602, 087-1812286, 089-4333845, 086-9179607 หรือ ที่ อบต. เมืองปอน 053-684648