ผู้เขียน | วราวุธ สัณหสกุล |
---|---|
เผยแพร่ |
ที่กองพลทหารราบที่ 11 ค่ายสมเด็จพระนั่งเกล้า อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา อนุกูล ตังคณานุกูลชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วย พล.ต. ณรงค์ พฤกษารุ่งเรือง ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 พล.ต.ต. ธีรพล จินดาหลวง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดฉะเชิงเทรา และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมกันเปิดแถลงโครงการ “ฉะเชิงเทราโมเดล ช่วยชาวนาเพิ่มรายได้” โดยมีผู้ประกอบการโรงสีและชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าว
“อนุกูล” แถลงว่า จากปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ทำให้ชาวนาได้รับความเดือดร้อน ขายข้าวเปลือกได้ราคาไม่สอดคล้องกับต้นทุน ซึ่งจังหวัดฉะเชิงเทรามีพื้นที่การเพาะปลูก 615,771 ไร่ ผลผลิตประมาณ 354,675 ตัน ขณะนี้มีการเก็บเกี่ยวไปแล้ว ร้อยละ 85 ของพื้นที่เพาะปลูก แต่ยังคงมีผลผลิตที่ออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ประมาณ 31,241 ตัน ส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมจังหวัดและหอมปทุมธานี ทางจังหวัดจึงได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงสี ช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการรับซื้อข้าวเปลือกหอมในราคาที่เป็นธรรม เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นการแก้ไขปัญหาอีก 1 ช่องทาง
พ่อเมืองแปดริ้วระบุว่า ขณะนี้จังหวัดได้ดำเนินการช่วยเหลือ โดยการจัดหาจุดจำหน่ายข้าวสารให้กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโดยมีโรงสีในจังหวัดฉะเชิงเทราให้ความร่วมมือช่วยเหลือเกษตรกร จำนวน 10 โรงสี โดยโรงสีจะกำหนดราคารับซื้อข้าวเปลือกหอมจังหวัด ความชื้นที่ 25% ราคาตันละ 6,500-7,000 บาท และข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ความชื้นที่ 25% ราคาตันละ 5,500-7,000 บาท
ด้าน “พล.ต. ณรงค์” เสริมว่า โครงการฉะเชิงเทราโมเดลฯ เป็นการให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัด (กกล.รส.จว.) ฉะเชิงเทรา ที่อยู่ในทุกอำเภอในจังหวัดฉะเชิงเทรา หาข้อมูลราคารับซื้อข้าวเปลือกของโรงสีในแต่ละอำเภอ และหาข้อมูลราคาขายข้าวเปลือกของชาวนาทุกอำเภอในจังหวัด ก่อนศึกษาและเปรียบเทียบราคาบนมาตรฐานเดียวกันทั้งชนิดและความชื้น หากราคารับซื้อของโรงสีมีความแตกต่างกัน กกล.รส.จังหวัดฉะเชิงเทรา จะช่วยประสานกับโรงสีในพื้นที่นั้น ให้สามารถปรับราคารับซื้อให้เพิ่มขึ้นเท่ากับโรงสีอื่นในจังหวัดได้หรือไม่ หากได้ก็จะให้ชาวนขายข้าวให้กับโรงสีนั้น แต่หากไม่ได้ กกล.รส.จังหวัดฉะเชิงเทรา ก็จะประสานโรงสีอื่นที่ให้ราคาสูงกว่ามารับซื้อข้าวจากชาวนา ก็จะทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น
ผบ.ค่ายสมเด็จพระนั่งเกล้าทิ้งท้ายว่า การเชิญตัวแทนผู้ประกอบการโรงสีทั้ง 10 โรงสีเข้าร่วมในวันนี้ เพื่อเป็นการกำหนดราคาข้าวที่เหมาะสม โดยทางโรงสียอมสละค่าดำเนินการบางส่วนลง เพื่อเพิ่มราคารับซื้อข้าวจากชาวนา ทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นแล้วโรงสีก็อยู่ได้ ทำโดยมีความเอื้ออาทรต่อกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก มติชนรายวัน