ชวนกิน “จิงจ้อขาว” คราวหน้าฝน

ผมเพิ่ง “ค้นพบ” พืชกินได้ริมทางอีกชนิดหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้

จะว่าค้นพบ ก็อาจไม่ถูกนักนะครับ จริงๆ แล้วก็คือมันเป็นไม้เถาเลื้อยล้มลุกที่ขึ้นเป็นวัชพืชปกคลุมผิวดินและยอดไม้ขนาดกลางทั่วไปอยู่แล้ว พบได้แทบจะทุกภาค โดยเฉพาะในพื้นที่ชุ่มชื้นอย่างภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่อนไปทางชายฝั่งทะเล แต่แทบไม่เคยมีบันทึกว่าเป็นพืชอาหารเอาเลย แม้ในตำราพืชสมุนไพร ผักพื้นบ้าน ก็หารายละเอียดได้น้อยมากๆ

เว็บไซต์บางแห่งกล่าวถึงแต่เพียงว่า “จิงจ้อขาว” หรือ “จิงจ้อเหลี่ยม” Operculina turpethum (L.) Silva Manso นี้ มีสรรพคุณที่ราก คือมีฤทธิ์แก้ไข้ ขับปัสสาวะ เป็นยาระบาย และแก้อาการปวดตามข้อ แล้วผมก็จำไม่ได้หรอกครับ ว่าใครกันที่เคยบอกผมว่า ยอดและใบอ่อนของจิงจ้อขาวนี้กินได้ และถึงแม้จะรู้เช่นนั้น กระทั่งทำให้ผมมอง “เห็น” เถา ใบ ยอดอ่อน และดอกจิงจ้อขาวแลสลอนเต็มไปหมดตามริมทางมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่เคยลองเก็บมาทำอาหารกิน

จนกระทั่งเมื่อฝนลงหนักๆ ช่วงเดือนที่แล้วนี้แหละครับ ที่สบโอกาสตอนปั่นจักรยานออกกำลังแถวสวนเก่าย่านบางแค – บางบอน ธนบุรี แล้วอดไม่ได้ เมื่อเห็นใบอ่อนของจิงจ้อขาวที่ผลิแตกมากมายจนสุดลูกหูลูกตา

ครั้นเล็งดูอย่างละเอียดตลอดแนวระยะหลายสิบเมตร แล้วพบว่าไม่มีร่องรอยคนฉีดพ่นยาฆ่าหญ้า ซึ่งหมายถึงว่าผมไม่ต้องพลอยรับเอาสารพิษพาราคว็อต (Paraquat) เข้าไปสะสมในร่างกายพร้อมๆ กับผักหญ้าที่เก็บ ผมก็จอดจักรยาน ลงไปลุยเด็ดจิงจ้อขาวมาได้ถุงย่อมๆ ก้านใบของมันไม่แข็งครับ เด็ดไม่ยากหรอก ส่วนยอดนั้นปรากฏว่าเป็นก้านอ่อนเกือบทั้งหมด แทบไม่มีใบเลย จึงคิดว่าเราเลือกกินใบอ่อนจะดีกว่าครับ

เมื่อกลับถึงบ้าน เพียงแค่ล้างให้หมดฝุ่นเท่านั้น ก็พร้อมปรุงอาหารได้

ผมควรต้องเล่าว่า ใบอ่อนจิงจ้อขาวจากริมทางนี้ “แข็งแรง” มากครับ ตอนที่ล้าง ผมคงเผลอขยำแรงไปหน่อย จนหลายใบมีรอยช้ำ แต่ครั้นสรงขึ้นไว้ให้สะเด็ดน้ำในตะกร้า ครู่เดียว รอยช้ำเหล่านั้นก็หายไป กลับเป็นใบสดเขียวไร้ริ้วรอยเหมือนเดิม

นี่เป็นคุณสมบัติของผักข้างทางที่ขึ้นเองนะครับ พวกมันมักเป็นพืชที่แข็งแรง ไม่อย่างนั้นก็คงไม่อาจดำรงชีพอยู่ได้ในสภาวะที่ต้องแข่งขันกันหาอาหารจากดินและน้ำตามธรรมชาติ การกินผักที่แข็งแรง ไม่ใช่ผักขี้โรคอย่างผักปลูกในฟาร์มปิด หรือผักฉีดยาใส่ปุ๋ยมากๆ ย่อมส่งผลต่อสุขภาพคนเราต่างกันแน่ๆ อยู่แล้ว

ทีนี้ จะทำอะไรกินดีล่ะ? ความที่ผมลองขยี้ใบดมกลิ่นดูก่อน พบว่ากลิ่นไม่แรงมาก แถมลักษณะเนื้อใบ เยื่อใบสดๆ คล้ายใบหม่อนผสมผักโขมจีน เลยคิดว่าน่าจะต้มจืดหมูบะช่อได้รสชาติละมุนมะไมดีแน่ๆ เลย ดังนั้นจึงตั้งหม้อน้ำ ใส่กระเทียมทุบลงไปต้มพร้อมเม็ดพริกไทยดำบุบ และเกลือป่นเล็กน้อย ระหว่างรอน้ำเดือด ผมตำรากผักชี กระเทียม พริกไทยให้ละเอียดในครก แล้วใส่หมูสับลงไป ตำขยอกเคล้าให้เข้ากัน เติมน้ำปลาพอให้ออกรสเค็มอ่อนๆ แล้วหยิบปั้นเป็นก้อนกลมๆ รีๆ เตรียมไว้ในชาม

พอน้ำเดือด ใส่ใบจิงจ้อขาวลงไปทั้งใบ ไม่ต้องหั่นเลยก็ได้ครับ ต้มไฟกลางไปจนใบจิงจ้อขาวนั้นสุก เริ่มจะนุ่ม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า เราเก็บใบอ่อนขนาดไหนมา ถ้าอ่อนมากๆ ก็ไม่ต้องต้มนานเท่ากับใบกึ่งเพสลาดนะครับ

จากนั้นหรี่ไฟให้อ่อนที่สุด ค่อยๆ หย่อนหมูปั้นก้อนของเราลงไปในหม้อจนหมด

ไฟที่อ่อนมากๆ นี้ จะทำให้น้ำต้มผักยังร้อน แต่ไม่ถึงกับเดือดพลุ่ง ด้วยวิธีนี้ แม้ใช้เวลานานหน่อยกว่าหมูจะสุก แต่จะได้น้ำซุปต้มจืดที่ใสมากๆ โดยไม่ต้องกรองเลยล่ะครับ ทีนี้ปรุงรสเค็มหอมด้วยน้ำปลาดีๆ เท่านั้นก็พอ สิ่งที่ได้ คือต้มจืดหมูบะช่อใส่ใบจิงจ้อขาว เราก็บรรจงโรยพริกไทยป่นสักหน่อยหนึ่ง หลังจากตักใส่ชามแล้ว

รสชาติใบจิงจ้อนั้นนัวโดยธรรมชาติ คล้ายใบหม่อน แถมมันมีเนื้อใบที่นิ่มนวล แต่ไม่ถึงกับเละ คือยังมีเยื่อใบให้เคี้ยวอยู่บ้างครับ เรียกว่ามีเนื้อสัมผัสที่ดีทีเดียว

แล้วต้องอย่าลืมว่า นี่เป็นของได้มาฟรีๆ จากธรรมชาติกลางฤดูฝนด้วยนะครับ

ที่ผมรีบมาเล่าเรื่องนี้ ก็เพราะว่าอยากให้ลองชิมรสชาติใบจิงจ้อขาวกันดู ใบของมันค่อนข้างใหญ่ ดังนั้นจึงไม่เสียเวลาเก็บมากหรอกครับ อีกประการหนึ่งก็คือ ช่วงระยะนี้เป็นช่วงที่จิงจ้อขาวจะผลิแตกใบอ่อนมากที่สุดของปีแล้วครับ พ้นจากนี้อีกไม่นาน ต้นจะเริ่มแก่ ใบก็จะแข็งขึ้น รสเริ่มฝาด เฝื่อน กินไม่ค่อยอร่อยเหมือนตอนนี้แล้วแหละ

สำหรับบ้านผม จิงจ้อขาวจึงไม่ใช่วัชพืชอีกต่อไป หากแต่เลื่อนสถานะเป็นพืชอาหารที่หาเก็บหากินได้อร่อยในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เรียกว่าลงตารางไว้ได้เลยทีเดียว

ใครที่เก็บผักข้างทางส่งร้านในตลาด หรือวางขายเองเป็นประจำอยู่แล้ว จะลองเก็บไปขายดูบ้างก็ไม่เลวหรอกนะครับ อาจมีคนรู้จักกินเขารอซื้ออยู่แล้วก็ได้

มาช่วยกันกำจัดวัชพืช ด้วยการเปลี่ยนพวกมันเป็นพืชอาหารกันให้มากๆ ดีกว่าครับ…

……………………..

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อวันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2561