เทคนิคการเลี้ยง “กบนา” เชิงพาณิชย์

คุณสุจินต์ แสงแก้ว เป็นชาวตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เดิมมีอาชีพทำนาและทำสวน ด้วยมีความสนใจในการเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (กบ) จึงได้เข้ารับการอบรมการเลี้ยงกบนาจากศูนย์การศึกษาห้วยฮ่องไคร้ฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 และได้รับปัจจัยการผลิตเป็นวัสดุในการก่อสร้างบ่อกบเป็นบ่อซีเมนต์ จำนวน 2 บ่อ และปัจจัยการผลิตชนิดอื่นๆ

ซึ่งบ่อกบได้สร้างไว้ในบริเวณบ้านพักอาศัยพื้นที่ประมาณ 2 งาน โดยเริ่มแรกเลี้ยงกบนา เนื่องจากได้ไปอบรมในการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงกบนากับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ และได้ปัจจัยในการผลิตมา จึงได้พยายามเพาะเลี้ยง ขยายพันธุ์มาเรื่อยๆ และเมื่อมีจำนวนมากขึ้น คุณสุจินต์ จึงได้แจกพันธุ์ฟรีให้แก่ชาวบ้าน แล้วต่อมาได้มีการบอกต่อๆ กัน จึงได้มีการขยายพันธุ์กบต่อมา

คุณสุจินต์ กำลังปล่อยลูกกบ เลี้ยงในนาข้าว

คุณสุจินต์หันมาขายลูกกบหรือพันธุ์กบระยะ 2-3 เดือน ราคาตามขนาด ซึ่งระยะแรกได้ขายปลีกให้แก่เกษตรกรในหมู่บ้านและในตำบล ต่อมาขยายเป็นเครือข่ายและได้ตั้งกลุ่มเลี้ยงกบนาในตำบลป่าเมี่ยง หากกบไม่เพียงพอจะให้ลูกสมาชิกภายในกลุ่มรวบรวมและจัดส่งให้แก่ลูกค้า ซึ่งในการจำหน่ายพันธุ์กบจะมีทั้งลูกค้าประจำและลูกค้าขาจร และราคาจำหน่ายขึ้นอยู่กับปริมาณที่สั่งซื้อ โดยส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นอำเภอใกล้เคียง ต่างอำเภอและจังหวัดอื่นๆ เช่น จังหวัดลำพูน เชียงราย ลำปาง พะเยา เป็นต้น

กบนา หรือกบพื้นเมือง พบอาศัยอยู่ทั่วไปในธรรมชาติของทุกภาคในประเทศไทย ลักษณะผิวด้านหลังมีสีน้ำตาลจุดดำ ผิวหนังขรุขระมีรอยย่น ที่ริมฝีปากมีแถบดำ ใต้คางมีจุดดำ หรือแถบลายดำ เมื่อโตเต็มที่มีน้ำหนัก 200-400 กรัม “กบนาตัวเมีย” มีขนาดโตกว่าตัวผู้ ตัวเมียพร้อมที่จะผสมพันธุ์ท้องจะมีลักษณะอูมเคลื่อนไหวช้าและข้างลำตัวจะมีตุ่มเมื่อคลำดูมีลักษณะ สากมือ ตุ่มที่ด้านข้างลำตัวแสดงถึงความพร้อมของตัวเมีย “กบนาตัวผู้” มีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย มีน้ำหนัก 150–250 กรัม เมื่อโตเต็มที่และพร้อมที่จะผสมพันธุ์จะมองเห็นถุงเสียง เป็นรอยย่นสีดำที่ใต้คาง

บ่อพ่อแม่พันธุ์กบที่ใช้ผสมพันธุ์

ถุงเสียงเกิดจากการที่กบนาตัวผู้ส่งเสียงร้องเรียกตัวเมียในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้พร้อมที่จะผสมพันธุ์ในช่วงนี้ลำตัวจะมีสีเหลือง นิ้วเท้าด้านหน้าจะมีตุ่มที่ขยายใหญ่ขึ้น มองเห็นได้ชัดเจน ตุ่มมีประโยชน์ในการใช้เกาะตัวเมียและตุ่มนี้จะหายไปในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์

วงจรชีวิตของกบนา

โดยธรรมชาติ กบจะอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำ เช่น ลำห้วย หนอง คลอง บึง และท้องนา กบจะกินปลา กุ้ง แมลง และสัตว์ที่มีขนาดเล็กเป็นอาหาร กบจะผสมพันธุ์กันในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะในวันที่มีฝนตกหนักมากๆ ส่วนมากจะผสมพันธุ์กันในช่วงกลางคืน และจะเริ่มวางไข่ตอนเช้ามืด ตามแหล่งน้ำไม่ลึกมากนัก ประมาณ 10-20 ซ.ม. หรือตามป่าหญ้าที่มีน้ำขังไม่สูงมากนัก แม่กบจะทิ้งไข่ไว้ ให้ฟักเองโดยธรรมชาติ หลังจากนั้นประมาณ 24 ชั่วโมง ไข่จะเริ่มฟักออกเป็นตัว แต่ยังไม่เป็นกบเลย จะเป็นลูกอ๊อดก่อน

พ่อแม่พันธุ์กบนาที่พร้อมผสมพันธุ์

ลักษณะลูกอ๊อดจะมีหางและยังไม่มีขา คล้ายๆ กับลูกปลา เมื่อลูกอ๊อดอายุได้ประมาณ 15 วัน ก็จะเริ่มมีขาหลังงอกออกมาทั้ง 2 ข้าง ต่อจากนั้นอีกประมาณ 7 วัน จึงจะเริ่มมีขาหน้างอกออกมา และหางก็จะเริ่มหดหายไปเองภายใน 30 วัน กบก็จะเริ่มขึ้นมาอยู่บนบก กบจึงได้ขื่อว่าเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ แต่ส่วนใหญ่แล้วกบจะใช้ชีวิตอยู่บนบกเสียมากกว่าอยู่ในน้ำ กบจะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน กว่าจะโตเต็มไว ที่น้ำหนักตัวประมาณ 4-5 ตัว ต่อกิโลกรัม (กบนา) และจะพร้อมผสมพันธุ์ เมื่ออายุได้ประมาณ 8-12 เดือน

บ่อเลี้ยง “กบนา” ทำอย่างไร?

สำหรับบ่อเลี้ยงกบนา สามารถทำได้หลายแบบ ได้แก่ บ่อซีเมนต์ลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2.0×2.5×1.2 เมตร ถึง 3.0×4.0x1.0 เมตร ขอบบ่อสูง 1 เมตร พื้นที่บ่อมีลักษณะขัดเรียบมีทางระบายน้ำออกและควรมีหลังคาคลุมด้วยซาแรน เพื่อป้องกันแดดที่ร้อนจัดเกินไป และมีพลาสติกใสใช้ป้องกันฝนที่ตกลงในบริเวณบ่อในช่วงฤดูฝน และพลาสติกใสนี้ยังสามารถใช้คลุมบ่อเลี้ยงในช่วงฤดูหนาว ในขณะที่พ่อแม่พันธุ์พักตัวได้เช่นเดียวกัน นอกจากนิยมเลี้ยงกบนาในบ่อซีเมนต์แล้วยังสามารถเลี้ยงกบนาได้ในบ่อดินแบบชั่วคราวหรือเลี้ยงในกระชัง หรือถังซีเมนต์กลมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 เมตร สูง 1 เมตร

การเลี้ยงกบ ในนาข้าว

ฤดูขยายพันธุ์ของกบนา

กบนาสามารถขยายพันธุ์ได้ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนกันยายน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการและความพร้อมของพ่อแม่พันธุ์ การขยายพันธุ์สามารถทำได้ทั้งโดยวิธีธรรมชาติและการใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ฉีดกระตุ้น “การผสมโดยวิธีธรรมชาติ” พ่อแม่พันธุ์ควรมีอายุครบ 1 ปี ให้สังเกตความพร้อมจากลักษณะที่กล่าวไว้ในข้างต้น

บ่อขยายพันธุ์สามารถใช้บ่อเลี้ยงทำการขยายพันธุ์โดยการปล่อยพ่อแม่พันธุ์ ในอัตรา 1 คู่ ต่อ 1 ตารางเมตร  พ่อแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์จะจับคู่และวางไข่ในอัตราวางไข่ 1,500-3,000 ฟอง ต่อครั้ง ระยะการฟักไข่กลายเป็นลูกอ๊อดใช้เวลา 24-36 ชั่วโมง ลูกอ๊อดพัฒนาไปเป็นลูกกบใช้เวลา 28-45 วัน และ “การผสมโดยการฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์” ทำได้โดยการเตรียมบ่อและพ่อแม่พันธุ์โดยวิธีเดียวกัน จากนั้นนำพ่อแม่พันธุ์มาฉีดกระตุ้น อัตราการเลี้ยงและการอนุบาล ลูกอ๊อดเลี้ยงในอัตรา 1,000-1,500 ตัว ต่อตารางเมตร ลูกกบเล็ก 200-300 ตัว ต่อตารางเมตร กบรุ่น 100-120 ตัว ต่อตารางเมตร กบพ่อแม่พันธุ์ 50-80 ตัว ต่อตารางเมตร

ลูกกบนาที่เลี้ยงในบ่อซีเมนต์

อาหารที่ใช้เลี้ยงกบนาเชิงพาณิชย์

แบ่งออกเป็นอาหารสำเร็จรูปและอาหารจากธรรมชาติ อาหารสำเร็จรูป  ได้แก่ อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาดุก เริ่มต้นจากอาหารที่ใช้เลี้ยงปลาดุกวัยอ่อนชนิดเม็ดเล็กพิเศษ อาหารเลี้ยงปลาดุกรุ่นสำหรับกบเล็กไปจนถึงอาหารเลี้ยงปลาดุกใหญ่ สำหรับกบเนื้อและพ่อแม่พันธุ์ ส่วนอาหารจากธรรมชาติสามารถใช้เป็นอาหารเสริมโปรตีนจะลดต้นทุนในการผลิตแต่การเลี้ยงด้วยอาหารธรรมชาติจำเป็นจะต้องฝึกให้ลูกกบกินอาหารสำเร็จรูปก่อน มิฉะนั้นกบจะไม่กินอาหารสำเร็จรูป

ถ้าในกรณีที่ไม่มีอาหารจากธรรมชาติ อาหารธรรมชาติเหล่านี้ประกอบด้วย ปลวก ไส้เดือน ไรแดง และแมลง เป็นต้น สำหรับโรคและศัตรู โรคทั่วไปและระบาดที่พบในกบทั้งสองชนิดเกิดจากแบคทีเรียที่มากับน้ำ ได้แก่ โรคขาแดงหรือบวมน้ำ แผลที่เกิดจากเชื้อรา และโรคหางขาวในลูกอ๊อด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในการเลี้ยง เช่น ในช่วงมีฝนตกหนักมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างฉับพลัน น้ำที่ใช้เลี้ยงสกปรก และในกรณีที่มีน้ำหลาก เลี้ยงในปริมาณที่หนาแน่นเกินไป หรืออาหารที่ใช้เลี้ยงไม่เหมาะสมทำให้กบเกิดอาการเครียด

การเลี้ยงกบ น้ำจะต้องสะอาด มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอ

การดูแลบ่อกบนา

ในการป้องกันรักษา ทำความสะอาดบ่อฆ่าเชื้อโรคและพักบ่อโดยการตากแดดเป็นครั้งคราว ใช้ปูนขาว ฟอร์มาลีน 10% หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทำความสะอาดพื้นบ่อ และใช้ด่างทับทิมผสมในน้ำที่ใช้เลี้ยงกบเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่มากับน้ำในบ่อเลี้ยงลูกอ๊อดและกบระยะต่างๆ ปรับสภาพน้ำโดยการใช้คลอรีนผงชนิดเจือจางในน้ำที่ใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ หรือใช้ยาปฏิชีวนะ ยาซัลฟารักษาโรคติดเชื้อเป็นครั้งคราว และวิตามินเสริมฟร็อก 100 หรือ ฟร็อก 200 เป็นต้น

เทคนิคเลี้ยงกบนาให้รอด! 

เทคนิคการเลี้ยงกบนาของคุณสุจินต์ มีวิธีการเลี้ยงกบนาให้ได้ลูกกบรอดตายจำนวนมาก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ น้ำต้องสะอาด มีการเปลี่ยนน้ำอยู่เสมอ และหมั่นสังเกตว่ากบมีโรคหรือบาดแผลหรือไม่ หากมี ให้แยกกบที่ป่วยออกจากบ่อ เพื่อรักษาก่อน เนื่องจากกบอยู่รวมกันจำนวนมาก ทำให้มีการติดเชื้อได้ง่าย

ส่วนในการขยายพันธุ์กบ คุณสุจินต์ แนะนำว่าควรใช้กบนาที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป มาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ (สิ่งที่สำคัญควรเปลี่ยนพ่อแม่พันธุ์ทุกปีจะดีที่สุด) โดยคัดเลือกแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ และมีความพร้อมในการผสมพันธุ์ จะช่วยให้กบมีไข่และน้ำเชื้อที่แข็งแรง ส่วนบ่อเพาะพันธุ์จะใช้บ่อซีเมนต์หรือบ่อดินก็ได้

กบที่พร้อมจับจำหน่าย หรือเก็บไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์

เมื่อถึงฤดูผสมพันธ์ุและควรคัดเลือกกบมีความพร้อม โดยในช่วงเย็นปล่อยให้พ่อแม่พันธุ์ลงเลี้ยง จำนวนพ่อแม่พันธุ์แล้วแต่ความเหมาะสม (ขึ้นอยู่กับขนาดบ่อ) พร้อมทั้งสร้างบรรยากาศในการผสมพันธุ์ คือนำผักตบชวาหรือผักบุ้ง ใส่ลงในบ่อ ใช้สปริงเกลอร์หรือสายยางทำเหมือนฝนตก ตกเย็นกบจะเริ่มจับคู่กันเองและวางไข่ในตอนเช้ามืด แล้วจึงนำพ่อแม่พันธุ์ออกจากบ่อในตอนเช้ามืด ไข่จะฟักเป็นลูกอ๊อดภายใน 24 ชั่วโมง 2-3 วันแรกไม่ต้องให้อาหาร ให้ไข่แดงเป็นอาหาร

หลังจากนั้นจึงเริ่มให้อาหารสำเร็จรูป (อาหารลูกอ๊อด) ประมาณ 30-40 วัน จึงเริ่มจำหน่ายเป็นพันธุ์กบ (ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกกบกินอาหารเก่งขึ้น) ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการเพาะพันธุ์กบนาเพื่อจำหน่ายลูกกบ ซึ่งมีต้นทุนน้อย แต่ได้ราคาดี

เทคนิคการเลี้ยงกบนาให้แข็งแรง ที่แตกต่างจากการเลี้ยงกบเกษตรกรรายอื่นคือ คุณสุจินต์จะเลี้ยงใต้ถุนบ้าน และเลี้ยงในนาข้าว ก่อนการทำนา หากเพาะพันธุ์กบในนาข้าว จะสามารถลดต้นทุนในการใช้ปุ๋ยในนาข้าว เนื่องจากมูลกบที่เหลือจากการเพาะพันธุ์กบจะเป็นปุ๋ยให้กับต้นข้าว

คุณสุจินต์ ทำการเกษตร ภายใต้แนวคิดที่ว่า ใช้แรงงานน้อย แต่ได้ผลตอบแทนสูง นับว่าคุณสุจินต์ เป็นเกษตรตัวอย่างอย่างแท้จริง มีประสบการณ์สิบกว่าปีในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตร และเยาวชนมาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง

การเลี้ยงกบนา บริเวณใต้ถุนบ้าน

สรุปเคล็ดลับการเลี้ยงกบนา

ทำเลบ่อกบต้องอยู่ที่โล่งแจ้ง และ ตองหมั่นคัดสายพันธุ์กบอยู่เสมอ ที่สำคัญในการเลี้ยงกบ ต้องมีใจรักและเข้าใจในพฤติกรรมของกบ รวมทั้งหมั่นดูแลเอาใจใส่เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงอื่นๆ และในการประกอบอาหาร เมนูที่ได้รับความนิยมโดยเฉพาะภาคเหนือ ได้แก่ แกงแคกบ กบทอด ยำกบ กบทอดกระเทียม ผัดเผ็ดกบ กบยัดไส้ทรงเครื่อง เป็นต้น ล้วนเป็นอาหารเลิศรสของคนภาคเหนือที่นิยมรับประทานในครอบครัวหรือเวลามีเทศกาลหรืองานเลี้ยง ประเพณีต่างๆ ของชาวล้านนา

จึงนับว่า กบนา เป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับชาวล้านนามาตั้งแต่สมัยโบราณกาล มีคุณประโยชน์ในเชิงนิเวศวิทยา, ประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิตในการทำนา และคุณสุจินต์ยินดีจะสืบสานอนุรักษ์สัตว์ที่อยู่คู่กับชาวล้านนาต่อไป สามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุจินต์ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง 101/2 หมู่ที่ 6 ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ 50220 เบอร์โทรศัพท์ 081-724-7876 เบอร์ line 088-260-6325