ก.เกษตรฯ ลุยยุทธศาสตร์พระพิรุณเปิดตลาดเกษตรบนเว็บไซต์ดีจีทีฟาร์ม

ก.เกษตรฯ ลุยยุทธศาสตร์พระพิรุณเปิดตลาดเกษตรบนเว็บไซต์ดีจีทีฟาร์ม-หวังกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคยกระดับรายได้ -พัฒนาคุณภาพเกษตรกรมุ่งสู่เกษตร 4.0 พร้อมผนึกเอกชนผลิตสินค้าคุณภาพ หนุนแบรนด์ไทยไปต่างประเทศ  ตามนโยบายตลาดนำการผลิต

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเปิดตัวยุทธศาสตร์ยกระดับการเกษตร 4.0 ภายใต้ยุทธศาสตร์พระพิรุณ ภายใต้การทำงานของคณะกรรมการส่งเสริมตลาดเกษตรดิจิทัล เพื่อเปิดมิติใหม่ของการปฏิรูปการผลิตภาคเกษตร โดยจะร่วมบูรณาการร่วมกับภาครัฐ และเอกชน ขับเคลื่อนนโยบายตลาดนำการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรบนแพลตฟอร์ม e-Matching Market (อีเอ็มเอ็ม) ด้วยเครื่องมือจับคู่ซื้อขายเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่จะพัฒนาต่อยอดจากเว็บไซต์ ดีจีทีฟาร์ม หรือ www.dgtfarm.com ของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อปี 2560

กระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายส่งเสริมและพัฒนาผลผลิตด้านการเกษตรที่ยังมีปัญหาด้านการตลาด และราคา เพื่อให้ผลผลิต และความต้องการเกิดความสมดุล สามารถพัฒนาไปสู่สินค้าคุณภาพที่มีมาตรฐานได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั่วโลก ตามนโยบายของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ

นอกจากการสร้างตลาดสินค้าเกษตรบนเว็บไซต์ดีจีทีฟาร์มแล้ว  จะใช้ระบบตรวจสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (QR Trace on Cloud) ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ให้เป็นแอพพลิเคชั่น Hello Trade

สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พระพิรุณให้บรรลุผล จะมีการเปิดร้านค้าปลีกสินค้าเกษตรทันสมัย ฟรีแฟรนไชส์ คิวฟอร์ยู และแหล่งรวบรวมสินค้าเกษตรที่มีบริการจับคู่ซื้อขาย ( ตลาดสุขใจ) โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวสามารถใช้งานได้แล้วบน www.dgtfarm.com และจะสามารถพัฒนาใช้บนสมาร์ทโฟน ในรูปแบบแอพพลิเคชั่น Hello Trade ภายใน 3-6 เดือน นับจากนี้

“การยกระดับเกษตรไทยสู่เกษตร 4.0 จะมีการพัฒนาต่อเนื่อง  ตั้งแต่การจับคู่ผู้ซื้อและผู้ขาย การบริการข้อมูลการผลิต เช่น ด้านราคา พื้นที่ ปริมาณสินค้า ไปจนถึงตลาดเกษตรดิจิทัลแบบเรียลไทม์ โดยตลาดเกษตรดิจิทัลแห่งนี้ ถือเป็นตลาดนำการผลิต เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายผลผลิตให้กับเกษตรกร ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้ให้เกษตรกร รวมถึงยกระดับสินค้าเกษตรของไทยโดยรวม และจะสามารถสร้างฐานข้อมูลการเกษตรทุกมิติ ไว้ในรูปบิ๊กดาต้า ไปจนถึงสนับสนุนกระทรวงเกษตรฯ พัฒนาไปสู่องค์กรอัจฉริยะต่อไป”

นายลักษณ์ กล่าวว่า แผนยกระดับการเกษตร 4.0 ภายใต้นโยบายตลาดนำการผลิต จะมีความร่วมมือกันระหว่างเอกชนกับสหกรณ์ โดยสหกรณ์จะผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่เอกชนต้องการ และติดตราสัญลักษณ์ หรือแบรนด์สินค้าร่วมกัน หรืออาจจะผลิตสินค้าป้อน โดยใช้แบรนด์ของเอกชน เพื่อส่งขายทั่วโลก อาทิ  บริษัท ไทยไฟท์ จำกัด เจ้าของการจัดการแข่งขันชกมวยไทยโลก (ไทยไฟท์) จะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกสินค้าคุณภาพ มีความปลอดภัย นำไปติดแบรนด์ไทยไฟท์ เพื่อจำหน่ายและกระจายสินค้าตามช่องทางตลาดของบริษัทไปทั่วโลก เป็นต้น

จากการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เห็นว่ายุทธศาสตร์พระพิรุณมีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ 20 ปี และแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นคณะกรรมการส่งเสริมตลาดเกษตรดิจิทัลจึงอยู่ระหว่างดำเนินการขอสนับสนุนงบประมาณ จากกองทุนพัฒนาดิจิทัล เพื่อนำเงินมาพัฒนาระบบยุทธศาสตร์การยกระดับภาคเกษตรไทยภายใต้นโยบายตลาดนำการผลิตให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ต่อไป