ไผ่สารพัด ที่มีอยู่คู่ประเทศไทย

ไผ่ หรือ ไม้ไผ่ เชื่อเหลือเกินว่า ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี ตั้งแต่เมื่อก่อนเก่าเนานาน คนไทยนำมาใช้ประโยชน์กับชีวิตประจำวันกันอย่างแพร่หลาย ตราบจนทุกวันนี้ เป็นองค์ประกอบของปัจจัยสี่ที่คุ้มค่าที่สุด

เพราะในผืนถิ่นแดนไทยเรามีไผ่สารพัดที่อยู่ในป่า หรือเสาะหานำมาปลูกไว้ในที่ไร่ท้ายสวน รอบรั้วข้างบ้าน เอาหน่อไม้มาทำอาหาร ใบใช้ห่อขนม กระบอกไม้ไผ่ใช้เป็นอุปกรณ์ทำอาหาร บรรจุน้ำ ไม้ไผ่นำมาทำที่พักอยู่อาศัย กระท่อมน้อยคอยรัก สับฟากปูพื้น ทำแคร่ ทำก้านตับหญ้าคา ตับจาก ตับแฝกมุงหลังคา ทำรั้ว ทำตอกมัดของมัดรวงข้าว ใช้จักสานทำเครื่องมือเครื่องใช้ อาวุธ ด้ามดาบ ด้ามหอก ด้ามมีดพร้าขวาน จอบเสียม สานกระติบข้าว กระบุง ตะกร้า เข่ง กระด้ง ตะแกรง สุ่มไก่ ลอบ ไซ ข้องหาปลากบเขียด

จนถึงยุคปัจจุบันก็ยังนิยมนำหน่อไผ่ ที่เรียกหน่อไม้ มาทำอาหาร ต้มผัดแกงทอด หน่อไม้ดอง หน่อไม้ปี๊บ นำไม้ไผ่มาใช้ทำรั้ว ทำไม้สอย ทำโครงโรงเรือน นั่งร้าน ค้ำยันกิ่งต้นไม้ ทำโต๊ะเก้าอี้นั่งเล่น ทำกระท่อมนั่งเล่น ทำไม้จิ้มฟัน ไม้เสียบลูกชิ้น ไม้เสียบหมู-ปลา ตะเกียบ ไม้ก้านธูป เยื่อกระดาษ ใบรากทำปุ๋ย ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ แม้แต่งานก่อสร้าง แผงพื้นเทปูนคอนกรีต ทำฝายแม้วชะลอการไหลของน้ำลำห้วย ลำธาร แม้กระทั่งเชื้อไฟ

ไผ่มีสารพัดชนิด จะไล่เรียงให้ดูตามขนาดต้นหน่อกอลำ และแหล่งที่มา

ไผ่ไร่…หรือ ไผ่ไห้ ไม้คาย ไม้ผาก ไม้ไล่ เป็นไผ่ดั้งเดิมพื้นเมืองของเรา มีขึ้นในป่าดงดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณหรือป่าโปร่ง เป็นไผ่ลำขนาดเล็ก ขึ้นเป็นกอแน่น ปล้องมีขนคายคันขึ้นทั่ว เนื้อไม้หนา ลำปล้องตัน มีรูกลางปล้องเล็กๆ หน่อนิยมนำมาทำอาหาร ต้มเปรอะ แกงหน่อไม้อร่อยมาก ไม้นำมาทำค้างถั่วฝักยาว บวบ ได้ดีและคงทนมากกว่า 2 ปี

ไผ่รวก…หรือ ไผ่ฮวก เป็นไผ่พื้นเมืองไทย ลำต้นตรงเปรา ยาว 7-15 เมตร มีจุดสังเกต คือจะมีกาบหุ้มลำอยู่นาน นิยมนำหน่อมาทำหน่อไม้อัดปี๊บ ต้นทำไม้ค้ำยัน ทำหลักเลี้ยงหอยแมลงภู่ แหล่งปลูกมากที่จังหวัดน่าน ส่งไปเมืองชายทะเลเลี้ยงหอยกันปีละหลายล้านลำมูลค่าหลายร้อยล้านบาท

ไผ่เฮียะ…เป็นไผ่พื้นเมืองของไทย พบในป่าดงดิบหรือป่าเบญจพรรณขึ้นผสมป่าไม้สัก ขึ้นริมร่องห้วย พบมากที่ป่าภาคเหนือ เป็นไม้ไผ่เปลือกบาง ผิวไผ่คมมาก ใบใหญ่ ไม้นำมาทำฝาบ้าน หน่อมีรสขื่นไม่นิยมกิน คมผิวไม้ไผ่เฮียะ สมัยก่อนใช้แทนใบมีดโกนตัดสายสะดือเด็ก

ไผ่ป่า…เป็นไผ่ธรรมชาติในป่าทั่วทุกภาคของไทย ถ้าขึ้นในที่ชุ่มชื้น ลำโตเป็นกอแน่น มีหนามเล็กงุ้มงอทุกข้อ นิยมใช้ทำนั่งร้านก่อสร้าง ทำเครื่องมือการเกษตร หน่อนำมาดอง ไม่นิยมกินสด ปล้องทำกระบอกข้าวหลาม เช่น ข้าวหลามหนองมน ชลบุรี นั่นใช่เลย

ไผ่ข้าวหลาม…เป็นไผ่ไทยอีกชนิดหนึ่งมีมากทางภาคเหนือและอีสาน เป็นไผ่ขนาดกลาง สูง 8-12 เมตร เป็นไผ่เนื้อบาง ปล้องยาว กาบหุ้มต้นร่วงง่าย ใช้ทำข้าวหลาม ปอกง่าย มีเยื่อบางๆ หลุดติดหุ้มข้าวเหนียว หน่อมีรสขม

ไผ่ซาง…หรือ ไผ่นวล ไผ่ตาดำ ไผ่แพด เป็นไผ่ท้องถิ่นไทยที่กำลังมาแรง นิยมปลูกกันมากคือ ไผ่ซางหม่น ไผ่ซางนวล เป็นไผ่ไม่ผลัดใบ สูง 6-18 เมตร ปล้องยาว 15-50 เซนติเมตร ใบและต้นอ่อนเป็นอาหารของช้าง ม้า วัว ควาย นิยมปลูกเป็นพื้นที่เชิงอนุรักษ์ เพิ่มแหล่งอาหารช้าง และขณะนี้นำมาแพร่ขยายเป็นไผ่เศรษฐกิจ ที่ทำรายได้อย่างมาก หน่อไผ่กินอร่อย ไม้เนื้อดี ใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมทำไม้จิ้มฟัน ไม้เสียบลูกชิ้น ไม้ก้านธูป ไม้ตะเกียบ แม้แต่เยื่อกระดาษ เนื้อไม้แน่น น้ำหนักไม้ดีมาก

ไผ่หก…หรือ ไผ่นวลใหญ่ ไม้หก ไม้โปเผียว เป็นไผ่พันธุ์พื้นเมืองไทยที่ใหญ่ที่สุด ชอบขึ้นบนพื้นที่สูงแต่ชื้น พบมากในป่าดงดิบภาคเหนือ เส้นผ่าศูนย์กลางปล้อง 10-20 เซนติเมตร หน่อใช้ทำอาหาร ลำใช้ทำเสา ทำเครื่องมือเครื่องจักสานต่างๆ

ไผ่ที่นำมาจากต่างประเทศเข้ามาปลูกในบ้านเรา ได้แก่

ไผ่เลี้ยง…หรือ ไผ่น้อย ไผ่สร้างไพร ไผ่เปร็ง ไผ่คันร่ม นำมาจากจีนและญี่ปุ่น นิยมปลูกเป็นแนวรั้วแนวเขตที่ดิน ปลูกตามหัวไร่ปลายนา เป็นไผ่ขนาดกลาง ลำเปลาสีเขียว มีข้อสีเขียวชัดเจน ไม่มีหนาม หน่ออ่อนมีเปลือกสีเหลือง หรือเขียวอมเหลือง ใช้ทำอาหารได้ ลำใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำบันได บางแห่งเรียกไผ่บงหวาน ไผ่เลี้ยงตาโตก็เรียก

ไผ่ตง…นำมาจากจีน ปลูกครั้งแรกที่จังหวัดปราจีนบุรี นับร้อยกว่าปีแล้ว เป็นไผ่ขนาดใหญ่ ลำต้นมีขนสีน้ำตาลละเอียดคลุมโคนลำ รอบข้อมีรากฝอยขึ้นอยู่เห็นได้ชัด มี 5 ชนิด ได้แก่ ตงหม้อ หรือตงใหญ่ ตงเขียว ตงดำ ตงหนู และตงลาย เป็นไม้ไผ่เศรษฐกิจที่ทำรายได้มหาศาล เนื้อไม้เป็นวัสดุโรงงานกระดาษ ก่อสร้าง จักสาน มีไผ่ตงที่หน่อดก ลำเล็ก รสชาติอร่อยมากชื่อ “ไผ่ตงศรีปราจีน” นิยมปลูกกันแพร่หลายขณะนี้

ไผ่สีสุก…ใครๆ ก็คิดว่าเป็นไผ่พันธุ์ดั้งเดิมของไทย แต่เปล่าเป็นไผ่มาจากหมู่เกาะอินเดียตะวันออก และแปซิฟิกตอนใต้ แถวเกาะชวา สุมาตรา บอร์เนียว และโมลุกกะ นำเข้ามาปลูกในไทยนานแล้ว จุดเด่นคือ ขึ้นกอแน่นมาก บริเวณโคนจะแตกกิ่งตั้งฉากลำต้นจำนวนมาก ข้อมีหนามโค้งแตกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3 อัน โคนปล้องหนามีรูเล็ก เป็นไผ่ขนาดกลางถึงใหญ่ ลำอ่อนสีเขียวเมื่อแก่จะสีเหลืองปนเขียว จึงเรียก “ไผ่สีสุก” หน่อใต้ดินมีรสชาติดี เมื่อโผล่ดินขึ้นมานิยมนำมาทำหน่อไม้ดอง อดีตนิยมปลูกรอบหมู่บ้านกันลมและรั้วกันขโมย

ยังมีไผ่อีกหลายชนิดที่ปลูกในไทย ทั้งไผ่ไทยไผ่จีน เช่น ไผ่ยักษ์ ไจแอนท์แบมบู ไผ่หม่าจู ไผ่ลี่จู ไผ่กิมซุ่ง ไผ่หวานจีน ไผ่เปาะเมืองน่านแพร่ ไผ่มันชลธารชลบุรี ไผ่หวานอ่างขาง (หม่าจู) ไผ่จืด หรือไผ่ร้อยกอ ไผ่ต้น มีแม้แต่ไผ่เหลืองหรือไผ่หลวง ไผ่สีทอง ไผ่ลาย ไผ่งาช้าง ไผ่บงดำ ไผ่จันดำ ที่ปลูกไว้สวยงามตามสวนสาธารณะ ใช้ลำทำเฟอร์นิเจอร์ ทำแจกัน ทำเครื่องประดับต่างๆ และไผ่ประดับสวยงาม ที่นิยมคือ ไผ่น้ำเต้า ซึ่งเอามาจากจีน ใช้จัดแต่งสวนหย่อม รูปร่างข้อปล้องสั้นป้อมอ้วนสวยงาม เหมือนไม้โบราณ ไผ่แต่ละชนิดที่กล่าวมา ซึ่งคงยังไม่หมดครบถ้วน แต่จะชี้ให้เห็นว่า ไผ่เป็นพืชที่มีอยู่คู่กับป่าเมืองไทย โดยเฉพาะป่าต้นน้ำได้อย่างแท้จริง ทำประโยชน์ต่อมนุษย์ สัตว์ ธรรมชาติมาอย่างช้านาน เป็นไม้เศรษฐกิจที่ปลูกง่าย โตเร็ว เห็นผลรวดเร็วทันใจผู้ปลูก วันนี้คุณที่มีพื้นที่บ้างสักเล็กน้อย ปลูกไผ่ไว้ใช้ประโยชน์บ้าง จะดีไม่น้อย