หน่อไม้ฝรั่งไทย กระจายไกลไปทั่วโลก ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช

หน่อไม้ฝรั่ง (Asparagus) เป็นพืชผักที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรอย่างมากในปัจจุบัน เพราะเป็นผักที่มีราคาดี มีความต้องการในตลาดสูง เป็นผักอายุยืน เก็บผลผลิตได้ตลอดปี  สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยได้เป็นอย่างดีประกอบกับผลผลิตส่วนใหญ่ถูกส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ประเทศคู่ค้าสำคัญที่รับซื้อผลผลิตจากประเทศไทย คือ ประเทศญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และไต้หวัน  ทำให้พื้นที่ปลูกหน่อไม้ฝรั่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน พื้นที่ปลูกที่สำคัญอยู่บริเวณจังหวัดนครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี กาญจนบุรี และจังหวัดเพชรบูรณ์

แปลงปลูกหน่อไม้ฝรั่งจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออายุ 14 ปี

ประเทศไทยเริ่มทดลองปลูกหน่อไม้ฝรั่งครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2489 ที่สถานีกสิกรรมอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยนำเมล็ดพันธุ์มาจากประเทศออสเตรเลีย ในระยะต่อมาได้มีการปรับปรุงวิธีการปลูก การดูแลรักษา รวมทั้งพัฒนาระบบการตลาดให้เข้มแข็งขึ้น จนกระทั่งปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกหน่อไม้ฝรั่งมากกว่า 10,000  ไร่

การปลูกหน่อไม้ฝรั่งในประเทศไทยรูปแบบหนึ่ง จะใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสมการค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งพอยกตัวอย่างได้หลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์แมรีวอชิงตัน เป็นสายพันธุ์แรกที่นำเข้ามาปลูกในประเทศไทย พันธุ์แคลิฟอร์เนีย 309 และ พันธุ์ยูซี 157 พันธุ์บร็อคอิมพรู๊ฟ และพันธุ์บร็อคอิมพีเรียล เป็นต้น

แปลงปลูกของศูนย์ขยายพันธุ์พืชสยาม อ.แม่ริม จงเชียงใหม่

เมล็ดพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งมีราคาค่อนข้างแพง น้ำหนักประมาณ1 ปอนด์หรือประมาณ 0.45 กิโลกรัม ราคาประมาณ 10,000 บาท เพาะปลูกได้ประมาณ 2-3 ไร่ เกษตรกรส่วนใหญ่จึงเลือกใช้วิธีเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติไปปลูก แต่ผลผลิตที่ได้จะมีมาตรฐานต่ำ คุณภาพไม่สม่ำเสมอ หรือแม้การใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสมนำเข้าจากต่างประเทศก็ตาม ก็ให้ผลผลิตมาตรฐานต่ำกว่าการปลูกหน่อไม้ฝรั่งด้วยต้นพันธุ์ที่ผลิตด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ซึ่งเป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับว่า ต้นพืชที่ผลิตด้วยวิธีการดังกล่าวทุกๆ ต้นจะมีพันธุกรรมเหมือนกับต้นแม่พันธุ์ดีที่คัดเลือกมาผลิต และเมื่อนำไปปลูกในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นหน่อไม้ฝรั่ง จะทำให้ผลผลิตที่เก็บได้ในแต่ละวันหรือแต่ละช่วงเวลา มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน ซึ่งทำให้เกษตรกรบรรลุเป้าหมายที่สำคัญ คือ ได้หน่อไม้ฝรั่งคุณภาพดีจำนวนมากอยู่เสมอ เกษตรกรจึงมีรายได้ต่อหน่วยพื้นที่ที่ปลูกสูงกว่า และมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการปลูกโดยใช้ต้นพันธุ์จากเมล็ดมาปลูก

ขยายพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช

งานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหน่อไม้ฝรั่ง

ในระยะแรกความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหน่อไม้ฝรั่งได้รับมาจากหน่วยงานวิชาการต่างๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งมีบุคลากรที่มีความรู้และผลงานวิชาการให้ศึกษาจำนวนมาก ต่อมาประมาณปีพ.ศ. 2540 ได้มีหน่วยงานนำเอาความรู้ดังกล่าวมาประยุกต์และพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรคือ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสามารถผลิตต้นพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งด้วยวิธีการเพาะเลียงเนื้อเยื่อพืชและนำไปทดลองปลูกในแปลงของเกษตรกร ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้เกิดการยอมรับในการใช้ต้นพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งที่ผลิตด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

พบเกษตรกรหัวไว ใจสู้

เกษตรกรรายหนึ่งที่ขอกล่าวถึงเนื่องจากเป็นผู้ที่ทำให้การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหน่อไม้ฝรั่งเป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างกว้างขวาง คือ คุณโสภณ อารยธรรม ชาวดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี คุณโสภณได้รับต้นพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของกรมส่งเสริมการเกษตรไปทดลองปลูกเมื่อประมาณปีพ.ศ.2542 จำนวนประมาณ 5,000 ต้น (2 เบอร์) ช่วงเวลานั้นทั้งตัวนักวิชาการผู้ผลิตและเกษตรกรร่วมกันเฝ้ารอถึงผลที่จะเกิดในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร เนื่องจากเป็นการปลูกหน่อไม้ฝรั่งจากต้นพันธุ์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแปลงแรกในพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ เรียกว่ารอลุ้นกันประมาณ 1 ปี ดูตั้งแต่ลักษณะการเจริญเติบโตจนถึงการให้ผลผลิตว่ามีผลเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ เมื่อได้รับคำตอบว่าพอใจอย่างมาก การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหน่อไม้ฝรั่งก็ขยายตัวและได้รับการยอมรับมาจนถึงทุกวันนี้

ยังมีเกษตรกรหัวก้าวหน้า

ประมาณปลายปี พ.ศ.2554 เกษตรกรผู้ปลูกหน่อไม้ฝรั่งอีกรายหนึ่ง คือ คุณอนันทพงษ์ สารีคำ ชาวหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ชมรายการโทรทํศน์เกี่ยวกับการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง จึงเกิดแรงบันดาลใจให้โทรไปหาคุณโสภณ และทำให้ตัดสินใจหันมาปลูกหน่อไม้ฝรั่งจากต้นพันธุ์เนื้อเยื่อโดยไม่ลังเล คุณอนันทพงษ์ จึงเป็นผู้บุกเบิกนำต้นพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของศูนย์ขยายพันธุ์พืชสยามมาปลูกในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และเป็นต้นแบบกระตุ้นให้เกษตรกรรายอื่นๆหันมาใช้ต้นพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกันอย่างมาก

ต้นพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งในขวดเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

การผลิตต้นพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช มีกระบวนการทำงานพอสรุปเป็นขั้นตอนสำคัญได้ 3 ขั้นตอน ดังนี้

1.การคัดเลือกต้นแม่พันธุ์ดี ขั้นตอนนี้มีความสำคัญมากที่สุดขั้นตอนหนึ่ง ทั้งนี้เพราะการผลิตต้นพันธุ์วิธีนี้จำเป็นที่จะต้องคัดเลือกหาต้นแม่พันธุ์ดีที่เป็นนางงามหรือเป็นแชมป์โลกที่สามารถให้ผลผลิตตรงตามมาตรฐานการผลิต ซึ่งวิธีการเสาะหาจำเป็นต้องได้รับการร่วมมือจากเกษตรกรผู้ปลูก ต้องใช้เวลาหลายปี และต้องหมั่นสังเกตหาแม่พันธุ์ที่แข็งแรง โตเร็ว ให้ผลผลิตดีมีมาตรฐานสูง

2.การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เมื่อคัดเลือกได้แม่พันธุ์หน่อไม้ฝรั่งที่ดีแล้ว ก็ต้องนำมาเพิ่มปริมาณต้นพันธุ์ให้ได้จำนวนมากโดยใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ซึ่งเป็นงานทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสูตรอาหารและการเลือกใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช รวมไปถึงการจัดการสภาพแวดล้อม เช่น แสง อุณหภูมิ และความชื้นอย่างเหมาะสม ขั้นตอนที่ยุ่งยากบ้างก็คือ การชักนำรากให้หน่อไม้ฝรั่งเกิดรากก่อนนำไปทำการอนุบาลให้เป็นต้นพันธุ์ที่แข็งแรง ซึ่งก็พบว่า พันธุกรรมของแม่พันธุ์หน่อไม้ฝรั่งก็เป็นปัจจัยต่อความยากง่ายในการเกิดรากของหน่อไม้ฝรั่ง ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมของต้นแม่พันธุ์หน่อไม้ฝรั่ง และการบริหารจัดการที่ดีมีมาตรฐานของระบบการผลิตงานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช

เกษตรกรมารับพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งไปปลูก

3.การปลูกต้นพันธุ์ ต้นพันธุ์ดีที่ผลิตได้เมื่อนำไปปลูกในแปลงปลูกที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหน่อไม้ฝรั่ง ก็จะมีการเจริญเติบโตที่ดี ให้ผลผลิตที่มีมาตรฐานสูงเหมือนต้นแม่พันธุ์ดีที่คัดเลือกมาทุกประการ

ท่านผู้อ่านหลายท่าน อาจเคยรู้จักศูนย์ขยายพันธุ์พืชสยามว่าเป็นผู้ผลิตกุหลาบจิ๋วหรือเบบี้โรสด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชมาแล้ว ในเวลาเดียวกันทางศูนย์ฯ ก็มิได้หยุดนิ่งแต่เพียงไม้ดอก เช่น กุหลาบจิ๋ว หรือกล้วยไม้เท่านั้น ศูนย์ฯได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนางานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยไปควบคู่กันด้วย  และโดยเฉพาะหน่อไม้ฝรั่งซึ่งเกษตรกรมีความต้องการใช้ต้นพันธุ์ที่มีมาตรฐานสูงมาก จากการที่ศูนย์ฯมีประสบการณ์ทดลองปลูกหน่อไม้ฝรั่งในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่มาก่อนประมาณปีพ.ศ.2549 และ พ.ศ. 2551 ตามลำดับ

ข้อมูลการสังเกตเบื้องต้นพบว่า หน่อไม้ฝรั่งสามารถเจริญเติบโตและเก็บผลผลิตได้ตามปกติ ประมาณปลายปี พ.ศ. 2554 ศูนย์ฯจึงได้ผลิตต้นพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งพันธุ์ดีจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และทำการปลูกทดสอบสายพันธุ์ในพื้นที่เล็กๆของศูนย์ฯที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดทำแปลงปลูกหน่อไม้ฝรั่งแปลงดังกล่าว 2 ประการ คือ

เกษตรกรปลูกลงแปลง

1.เป็นแปลงแม่พันธุ์สำหรับผลิตและคัดเลือกหน่อพันธุ์ดีส่งให้แก่ห้องแลปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อใช้ผลิตต้นพันธุ์การค้าที่ได้มาตรฐานเพื่อจำหน่ายแก่ผู้สนใจปลูกเลี้ยงต่อไป

2.เป็นแปลงศึกษาและเรียนรู้เพื่อเพิ่มประสบการณ์การปลูกหน่อไม้ฝรั่งเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสายพันธุ์ต่างๆ ที่ศูนย์ได้ผลิตขึ้นมาทั้งในปัจจุบันและที่จะมีต่อไป

ในอนาคตต้นพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งที่ผลิตด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชของศูนย์ฯมีมาตรฐานการผลิตเป็นที่ยอมรับ เนื่องจาก

1.การคัดเลือกแม่พันธุ์  แม่พันธุ์หน่อไม้ฝรั่งของศูนย์ฯ เป็นแม่พันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกลักษณะดีเด่นทางการเกษตรมาเป็นเวลานานก่อนนำมาเข้าสู่กระบวนการผลิตต้นพันธุ์พืช ผ่านการเก็บผลผลิตส่งไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นและไต้หวันเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ได้รับการยอมรับจากเกษตรกรผู้ปลูกและผู้เยี่ยมชมดูงาน ศูนย์ฯจึงนำหน่อไม้ฝรั่งดังกล่าวมาผลิตเป็นต้นพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพร้อมปลูก เพื่อจำหน่ายแก่เกษตรกรและผู้สนใจปลูกในปัจจุบัน

เริ่มเจริญเติบโต

2.การผลิตต้นพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เนื่องจากศูนย์ฯมีแปลงทดลองปลูกหน่อไม้ฝรั่งเป็นของศูนย์ฯ เอง ทำให้สามารถคัดเลือกและนำหน่อพันธุ์ดีรุ่นใหม่ๆของแต่ละเบอร์ส่งเข้าผลิตเป็นต้นหน่อไม้ฝรั่งรุ่นลูกรุนหลานทยอยออกปลูกในสภาพธรรมชาติได้อย่างต่อเนื่อง มิได้ใช้หน่อต้นแม่พันธุ์จำนวนน้อยแล้วผลิตต้นพันธุ์เป็นจำนวนมากๆโดยมิได้มีการเปลี่ยนหน่อแม่พันธุ์ใหม่

3.ต้นพันธุ์ที่ผลิตได้  ต้นพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งที่ผลิตด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของศูนย์ฯได้บุกเบิกไปในกลุ่มผู้ปลูกภาคเหนือเป็นกลุ่มแรก โดยเฉพาะได้ยอมรับจากเกษตรกรในพื้นที่ปลูกหน่อไม้ฝรั่งอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นอย่างมาก ซึ่งผู้ปลูกได้พบถึงความแตกต่างของปริมาณและคุณภาพของหน่อไม้ฝรั่งที่ผลิตได้อย่างชัดเจน จึงหันมาใช้ต้นพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกันมากขึ้น

เก็บผลผลิต

เกษตรกรหรือผู้สนใจปลูกหน่อไม้ฝรั่งท่านใดสามารถศึกษาดูตัวอย่างแปลงที่ปลูกด้วยต้นพันธุ์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ หรือหากสนใจต้นพันธุ์ (Asparagus tissue culture) สามารถติดต่อมาที่ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชสยาม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

 

ผลผลิตคุณภาพดี

 

ผลผลิตส่งไปขายทั่วโลก