ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
คุณพิชิต เกียรติสมพร เริ่มดำเนินการศูนย์ข้าวชุมชนบ้านสวนแตง เมื่อ ปี 2544 ปัจจุบัน มีสมาชิก 27 ราย โดยเน้นการพัฒนาการผลิตข้าวของสมาชิกให้มีความสามารถในการผลิตและการจัดการผลผลิตข้าว สมาชิกสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ดีควบคู่กับการจำหน่ายข้าวเปลือกคุณภาพดี ทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
บนพื้นที่นากว่า 15 ไร่ คุณพิชิต เลือกปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 และ กข 61 เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาด และใช้แรงงานในครัวเรือนทั้งหมด โดยมุมมองในการทำนาของคุณพิชิตคือ ถ้าต้นทุนการผลิตต่ำ จะทำให้เหลือกำไรมาก จึงยึดการปลูกข้าวแบบลดต้นทุน ตามแนวทาง “3 ต้องทำ 3 ต้องลด” มาตลอด จะให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการผลิตมากกว่าเรื่องของปริมาณผลผลิต
และจากสถานการณ์ภัยแล้งติดต่อกันหลายฤดูกาลที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ คุณพิชิต ได้นำคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ของกรมการข้าว โดยศูนย์วิจัยข้าวสุพรรณบุรี เกี่ยวกับการทำนาแบบประหยัดน้ำ หรือที่เรียกว่า “เปียกสลับแห้งแกล้งข้าว” มาใช้โดยตลอด จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยเจ้าหน้าที่ได้ส่งเสริมให้ใช้วิธีการติดตั้งท่อดูน้ำ ซึ่งทำจากท่อ พีวีซี (PVC) ขนาด 4 นิ้ว เจาะรูรอบๆ ห่างกันรูละ 5 เซนติเมตร ประมาณ 4 รู นำท่อไปฝังลงในนา (ประมาณ 10 วัน หลังใส่น้ำครั้งแรก) โดยกดท่อให้ลึกระดับ 5 เซนติเมตร (รูแรก) แล้วเอามือควักดินด้านในออกจนเห็นรูสุดท้าย จะเห็นว่ามีน้ำซึมเข้าจนเต็มท่อ หากระดับน้ำลดลงไม่ถึง 15 เซนติเมตร ก็ยังไม่จำเป็นต้องให้น้ำ วิธีนี้จะทำให้ทราบว่าระดับน้ำใต้ดินยังมีเพียงพอสำหรับข้าว เพราะข้าวไม่ใช่พืชน้ำ ไม่จำเป็นต้องเอาน้ำไปแช่ขังไว้ จึงช่วยประหยัดน้ำและลดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำเข้านาลงไปได้กว่าครั้งละ 100 บาท
เทคโนโลยีการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง เป็นสิ่งที่กรมการข้าวได้พัฒนาเพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวได้ แม้น้ำชลประทานมีจำกัด นำมาใช้กับการเพาะปลูกข้าวได้ทั้งนาปีและนาปรัง โดยพบว่าสามารถลดปริมาณการใช้น้ำลงได้ ร้อยละ 20-50 ขึ้นอยู่กับชนิดของดินและสภาพอากาศ และช่วยลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในการสูบน้ำได้อย่างน้อย ร้อยละ 30 นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มรากข้าวให้ดูดซับธาตุอาหารได้ดีขึ้น ทำให้ใส่ปุ๋ยน้อยลง ประหยัดต้นทุนการทำนาได้อีกทางหนึ่ง
- ตอนเตรียมดินปลูกข้าว ปรับพื้นที่ให้เรียบสม่ำเสมอ เพื่อลดปัญหาวัชพืช ทำให้น้ำไปได้ทั่วถึงกันหมด เมื่อหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวแล้วระบายน้ำออกจากนาให้แห้ง
- เมื่อข้าวอายุประมาณ 10 วัน ให้พ่นสารกำจัดวัชพืช โดยพิจารณาตามชนิดของวัชพืชที่เกิดขึ้น เมื่อวัชพืชตายได้ 3 วัน ให้เพิ่มระดับน้ำในนา ประมาณ 3 เซนติเมตร ขังนาน 3 วัน
- ใส่ปุ๋ยครั้งแรก (ข้าวอายุ 20-30 วัน) แล้วรักษาระดับน้ำท่วมผิวดิน ขังน้ำไว้จนกระทั่งน้ำแห้ง หากพบวัชพืชให้รีบกำจัดทิ้งอีกครั้ง
- ประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อน้ำในนาเริ่มแห้ง ดินเริ่มแตก ให้ระบายน้ำลงนา ระดับ 3-5 เซนติเมตร ขังไว้จนกระทั่งน้ำแห้ง ให้น้ำแบบเปียกสลับแห้ง จนกระทั่งข้าวอายุประมาณ 45-50 วันหากพบวัชพืชต้องรีบกำจัดก่อนใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2
- เมื่อข้าวอยู่ในระยะแตกกอสูงสุด (ข้าวอายุ 45-50 วัน) ให้เพิ่มระดับน้ำในนาสูง 5 เซนติเมตร ขังไว้นาน3 วัน จนข้าวเริ่มกำเนิดช่อดอก (อายุ 50-55 วัน)
- ใส่ปุ๋ย ครั้งที่ 2 (ข้าวอายุ 50-60 วัน) หลังจากนั้น 7 วัน ให้เพิ่มระดับน้ำ 10 เซนติเมตร รักษาระดับน้ำจนข้าวออกดอกถึงระยะแป้งในเมล็ดเริ่มแข็ง (15-20 วัน หลังข้าวออกดอก)
- หลังข้าวออกดอกแล้ว 20 วัน ระบายน้ำออกจากแปลงให้แห้ง เพื่อเร่งการสุกแก่
“แนวทางการทำนาแบบแกล้งข้าว เป็นการทำให้ดินเปียกบ้าง แห้งบ้าง ดีกว่าการขังน้ำตลอดฤดูกาล เพราะเมื่อข้าวขาดน้ำจะกระตุ้นให้เกิดการแตกรากใหม่มาชอนไชหาน้ำใต้ดิน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ตัวเองแกร่งขึ้น แข็งแรง ไม่ล้มง่าย ดูดซับธาตุอาหารได้ดี แม้ว่าวิธีการนี้จะต้องระวังปัญหาวัชพืชเป็นพิเศษ แต่ก็ช่วยลดการระบาดของแมลงศัตรูข้าว พวกเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หนอนห่อใบข้าวได้ดี เพราะวิธีนี้จะทำให้ต้นข้าวไม่อวบน้ำ เพราะช่วงที่ขาดน้ำข้าวจะดูเหมือนแกร็น แมลงพวกนี้จะไม่ชอบ มันชอบต้นข้าวที่อวบน้ำ ก็ไปหาอาหารจากแหล่งอื่นแทน เราก็ลดค่าสารกำจัดแมลง ลดค่าสูบน้ำลงไปได้มาก และยังช่วยให้ฟางย่อยสลายได้ดี ช่วยลดภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวที่ลดลง ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์น้ำจะอยู่ในช่วงปกติ ผมก็ยังใช้วิธีการนี้อยู่ตลอด เพราะช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดปัญหาหลายๆ อย่าง และเป็นวิธีธรรมชาติที่ยั่งยืน” คุณพิชิต กล่าว
จากแนวทางการปลูกข้าวด้วยการใช้เทคโนโลยีการลดต้นทุนการผลิตข้าว ด้วยวิธีการ 3 ต้องทำ 3 ต้องลด คือ ต้องปลูกข้าวไม่เกิน 2 ครั้ง ต่อปี ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีในอัตราที่เหมาะสม ต้องทำบัญชีฟาร์ม ลดอัตราเมล็ดพันธุ์ข้าว ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และลดการใช้สารเคมี เพื่อนำไปใช้เพิ่มศักยภาพการผลิต ร่วมกับการทำนาแบบประหยัดน้ำโดยวิธีเปียกสลับแห้ง รวมถึงการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าเป็นสารชีวภัณฑ์เพื่อลดการใช้สารเคมี และการใช้ปุ๋ยสั่งตัด ทำให้คุณพิชิตสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้กว่าไร่ละ 2,000 บาท จากเดิมที่ต้นทุนการผลิตจะอยู่ที่ประมาณไร่ละเกือบ 5,000 บาท
นอกจากการดำเนินงานในฐานะประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านสวนแตงแล้ว คุณพิชิต ยังเปิดบ้านของตนให้เป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อการเกษตรด้านต่างๆ ในนาม ศูนย์จัดการดินและปุ๋ยชุมชนบ้านสวนแตง และศูนย์จัดการศัตรูพืชบ้านสวนแตงอีกด้วย โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนรู้ได้ศึกษาตามความต้องการ เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางการพัฒนาข้าวของชุมชนที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี โดยพัฒนาการผลิตข้าวและชาวนาในพื้นที่ให้มีความสามารถในการผลิตและการจัดการผลผลิตข้าว สมาชิกสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ดีควบคู่กับการจำหน่ายข้าวเปลือกคุณภาพดี ทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเอง สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะเป็นแนวทางในการพัฒนาการผลิตข้าวให้มีประสิทธิภาพต่อไป
สนใจเข้าไปเรียนรู้วิถีการทำนาที่ช่วยประหยัดเงินในกระเป๋า ควบคู่กับการประหยัดน้ำแบบนี้ ติดต่อไปได้ที่ คุณพิชิต เกียรติสมพร เลขที่ 22/2 หมู่ที่ 4 ตำบลสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี โทรศัพท์ (089) 174-2512