ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“ชะพลู” เป็นพืชพื้นบ้านที่แพร่หลาย พบในทุกจังหวัดของประเทศไทย เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุสืบต่อได้หลายปี ชอบพื้นที่ลุ่มต่ำ ชื้นแฉะ ที่ที่มีน้ำดี ดินดี จะเจริญเติบโตได้ดีมาก ใบจะโต ยอดจะอวบอ้วน เป็นพรรณไม้ที่มีต้นตั้ง บางครั้งจะพบต้นแบบเถาเลื้อย ระบบรากหากินผิวดิน ถ้าเถาเลื้อยไปพบที่เหมาะ ก็จะออกรากตามข้อ และแตกต้นขึ้นใหม่ แพร่ขยายต้นไปเรื่อยๆ เมื่อต้องการจะย้ายที่ปลูก ก็สามารถถอนดึงต้นติดรากไปปลูกได้เลย
ต้นชะพลู ใบมีลักษณะรูปหัวใจ เหมือนใบพลูกินหมาก แต่จะเป็นใบบางๆ มีใบหลายขนาด ใบเล็กขนาดกว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 3-5 เซนติเมตร ใบใหญ่จะกว้างถึง 15 เซนติเมตร ยาว 17 เซนติเมตร มีก้านใบยาว 1-5 เซนติเมตร ใบมีรสเผ็ด ชะพลูมีดอกเป็นช่อ รูปทรงกระบอก สีขาว และจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียว มีผลออกเป็นกลุ่ม ขยายพันธุ์โดยการปักชำ แยกต้นปลูก
ชะพลู เป็นพืชในวงศ์ ไปเปอราซีอี (PIPERACEAE) ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ไปเปอร์ ซาเมนโตซัม (Piper sarmentosum Roxb.ex Hunter) มีชื่อเรียกหลายอย่าง ภาคเหนือ เรียก ผักปูนก ผักฟูนก ผักแค ช้าพลู พลูลิง พลูลิงนก พลูนก ภาคอีสานเรียก ผักปูลิง ผักนางเลิด ผักอีเลิด ภาคใต้เรียก นมวา แต่ละถิ่นอาจมีเรียกคล้ายกัน หรือต่างกันบ้าง ตามสำเนียงการออกเสียงของท้องถิ่น และมันก็คือ ชะพลู นั่นแหละ
ประโยชน์ทางอาหาร ชะพลูใช้ยอดอ่อน ใบอ่อน เป็นผัก กินได้ทั้งใบสดและลวกให้สุกก็ได้ ภาคเหนือภาคอีสาน นิยมใส่ปรุงแกงแค แกงขนุน แกงหัวปลี แกงเผ็ด แกงอ่อม แกงเอาะ แกงหอยขม ลวกกินกับตำมะม่วง น้ำพริกต่างๆ หั่นฝอยใส่ไข่เจียว ชุบแป้งทอด ภาคกลาง ใช้ห่อเมี่ยงคำ ภาคใต้ นิยมใช้ใบอ่อนมาแกงกะทิกุ้ง ปลา หอยบางชนิด เช่น หอยโข่ง หอยแครง ปรุงข้าวยำ เชื่อกันว่าใบชะพลูมีคุณค่าทางอาหาร และยังเป็นยาบำรุงร่างกาย
สรรพคุณทางยาของชะพลูก็มีมากหลายเช่นกัน รากชะพลู หมอยาไทยในชนบท ใช้ปรุงเป็นยาแก้ธาตุพิการ ยาบำรุงธาตุ คุมเสมหะ แก้เสมหะในทรวงอก (อุระเสมหะ) ยาขับเสมหะตกทางอุจจาระ (คูถเสมหะ) ลูกชะพลู เป็นยาขับเสมหะในคอ ใบแก้ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย แก้ปวดท้องจุกเสียด แก้พิษบางอย่างได้ด้วย ใบชะพลูมีประโยชน์ต่อสุขภาพมาก ใน 100 กรัม ให้พลังงานแก่ร่างกาย 101 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย เส้นใย หรือไฟเบอร์ 4.6 กรัม แคลเซียม 601 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม เหล็ก 7.6 มิลลิกรัม วิตามินเอ 21255 iu วิตามินบีหนึ่ง 0.13 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.11 มิลลิกรัม วิตามินซี 10 มิลลิกรัม แต่การกินใบชะพลู ควรระมัดระวัง มีสารออกซาเลต ค่อนข้างสูง ชะพลู 100 กรัม มีสารออกซาเลต 691 มิลลิกรัม ควรปรุงร่วมกับเนื้อสัตว์ และไม่ควรกินเป็นประจำ
ชะพลู เป็นพืชที่ขึ้นได้ง่าย มีศัตรูรบกวนบ้างบางชนิด เป็นพวกด้วง เพลี้ย แมลงปากกัด หอยทาก ต้องหมั่นดูแล ตรวจดูทั้งหน้าใบ หลังใบ พวกพยาธิต่างๆ ก็มี เมื่อเก็บยอด ใบมาแล้ว ควรล้างทำความสะอาดให้ดี ก่อนจะนำมากิน หรือประกอบอาหาร อาจมีไข่พยาธิ เชื้อโรคต่างๆ ติดอยู่ แม้แต่สารเคมี ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะหลงติดชะพลูอยู่ตอนไหน ล้างทำความสะอาดให้ดี เพื่อตัวเราเอง เช่นเดียวกับผักทุกชนิดเหมือนกัน ควรล้างทำความสะอาดให้ดี โดยเฉพาะผักที่นิยมกินเป็นผักสด ต้องประณีต ละเอียดอ่อน ผักพื้นบ้านที่ว่าไม่ได้ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ยังพบมีสารเคมีบางอย่างปนเปื้อนอยู่เลย ยุคสมัยนี้มันหลีกหลบไม่ค่อยได้ ก็ขอให้เลี่ยงได้บ้างยังดี