เปิด 20 เมนูอาชีพ “ไทยนิยม ยั่งยืน” ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร

ก.เกษตรฯ เผย 20 เมนูอาชีพ ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เผยมีเกษตรกรร่วมโครงการแล้วกว่า 1.8 ล้านคน

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2561 มีมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้การขับเคลื่อนยุทธ์ศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีกรอบหลักในการดำเนินการเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน

ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบขับเคลื่อนโครงการ ตามยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร และเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งการสนับสนุนรายการอาชีพ หรือเมนูอาชีพ

สำหรับเมนูอาชีพภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย 1. โครงการเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐของกระทรวงเกษตรฯ 2. โครงการจ้างแรงงานชลประทานสร้างรายได้แก่เกษตรกร 3. โครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน

4. โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวเพื่อผลินสินค้าเกษตรอื่นที่เหมาะสม 5. โครงการศูนย์ขยายพันธุ์พืช 6. โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี 7. โครงการขยายพันธุ์สัตว์และส่งเสริมการผลิตการผลิตปศุสัตว์ 8. โครงการสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร 9. โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร

10. โครงการพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ 11. โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแก่สถาบันเกษตรกรจัดเก็บพืชผลทางการเกษตร 12. โครงการสนับสนุนอุปกรณ์แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร 13. เพิ่มศักยภาพการรวบรวมและการแปรรูปยางพาราในสถาบันเกษตรกร 14. โครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ 15. สนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง

16. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการกิจการยาง (ยางแห้ง) 17. โครงการยกระดับโครงสร้างการผลิตในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปครบวงจร 18. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรมแปรรูป 19. โครงการสร้างฝายชะลอน้ำและจัดหาแหล่งน้ำชุมชน และ 20. โครงการพัฒนาโครงสร้างด้านแหล่งน้ำชลประทาน

ในแต่ละกลุ่มเมนูอาชีพ มีความคืบหน้าการดำเนินงานตามลำดับ อาทิ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำระดับชุมชน มีการสร้างฝายชะลอน้ำแล้ว 824 แห่ง พัฒนาแหล่งน้ำสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และฟื้นฟูแหล่งน้ำชลประทานเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวม 193 รายการ

การปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อลดความเสี่ยง เช่น ลดพื้นที่ปลูกยางพารา และพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมใหม่แทนอาชีพสวนยาง มีพื้นที่สวนยางของเกษตรกร 11,559 ราย โค่นต้นยางแล้ว 61,500 ไร่ รวมทั้งฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้ในการประกอบอาชีพใหม่ทดแทนอาชีพสวนยางแล้วจำนวน 10,463 ราย เป็นต้น

แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตอบรมเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐให้ได้รับความรู้และมีทักษะอาชีพด้านการเกษตรเพิ่มขึ้น มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว 183,827 ราย โดยได้รับการอบรมแล้ว 130,821 ราย เกษตรกรและประชาชนมีรายได้จากการพัฒนาระบบชลประทาน 8,930 คน รายได้เฉลี่ย 12,716 บาทต่อคน

ขณะที่ ผลการดำเนินงาน ตามยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร และเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต ณ เดือนสิงหาคม มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,850,000 คน ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน เช่น การฝึกอบรมปรับเปลี่ยนอาชีพ การเสริมสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น สิ่งอำนวยความสะดวกทางการเกษตร ไปจนถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านแหล่งน้ำชลประทาน ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและพัฒนาภาคเกษตรสู่ความยั่งยืนต่อไป