เผยไทย “ต้นแบบฟาร์มแมลงกินได้” ของโลก ส่งออก “จิ้งหรีด” โกยเงินได้กว่าปีละ 900 ล้าน

แมลง นับเป็นแหล่งอาหารโปรตีนชนิดใหม่ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟเอโอ (FAO) โดยในการประชุมความมั่นคงอาหารและป่าไม้ ในปี 2556 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ผู้เข้าร่วมประชุมจาก 100 ประเทศ ได้ให้การยอมรับในการใช้แมลงกินได้เป็นเสบียงอาหารโปรตีนสำรองสำหรับประชากรของโลกที่เพิ่มขึ้น คาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านคน ภายในปี 2593 ซึ่งอาจเกิดปัญหาการขาดแคลนทั้งอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์

แมลง จึงเป็นอาหารโปรตีนทางเลือกใหม่ที่มีราคาถูกและสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น จิ้งหรีด เป็นหนึ่งในแมลงที่มีการเพาะเลี้ยงกันมากในประเทศไทย จิ้งหรีด เป็นแมลงที่พบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ แต่มากด้วยคุณค่าทางโภชนาการ มีโปรตีนถึง 12.9% ไขมัน 5.54% และคาร์โบไฮเดรต 5.1%

จิ้งหรีด เป็นแมลงที่เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์เร็ว ให้ผลผลิตสูง แม่พันธุ์ 1 ตัว ให้ลูกถึง 1,000 ตัว รวมถึงใช้พื้นที่และปริมาณน้ำในการเลี้ยงน้อย ทั้งยัง “ไม่ต้องใช้” เทคโนโลยีและต้นทุนในการเลี้ยงที่สูง จิ้งหรีดจึงเหมาะสมกับพื้นที่แห้งแล้งหรือเขตชนบท เกษตรกรจะนำมาเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมไว้บริโภคและจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ เพราะใช้เวลาไม่มาก อีกทั้งสามารถใช้เวลาว่างจากการเพาะปลูกมาดูแลจิ้งหรีดได้ โดยภายในเวลา 1 ปี จะเลี้ยงจิ้งหรีดได้ 7-8 รุ่น ต่อปี

สำหรับพันธุ์จิ้งหรีดที่เกษตรกรนิยมเลี้ยงมี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์สะดิ้ง ทองดำ และจิ้งหรีดขาว

สำหรับจิ้งหรีดบ้าน หรือแมงสะดิ้ง ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยง 40-50 วัน ราคาขายส่งกิโลกรัม (กก.) ละ 80-100 บาท ส่วนจิ้งหรีดทองดำใช้ระยะเวลาเลี้ยงประมาณ 30-45 วัน ราคาขายส่งอยู่ที่ 120-150 บาท/กก. นอกจากจะมีการซื้อขายภายในชุมชนแล้ว สำหรับตลาดขายส่งจิ้งหรีดที่มีศักยภาพ ได้แก่ ตลาดเกษตรกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ ตลาดไท จ.ปทุมธานี ตลาดโรงเกลือ จ.สระแก้ว และตลาดนัดจตุจักร กรุงเทพฯ จิ้งหรีดสามารถนำมาบริโภคได้หลายรูปแบบ เช่น ทอด คั่ว บรรจุกระป๋อง รวมถึงบดผงเพื่อแปรรูปเป็นคุกกี้ ขณะเดียวกันยังมีการส่งออกจิ้งหรีดไปยังญี่ปุ่น อียู และสหรัฐ เป็นต้น

ปัจจุบัน ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพและมีความชำนาญในการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดในเชิงพาณิชย์ โดยมีฟาร์มจิ้งหรีดกว่า 20,000 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม ซึ่งฟาร์มเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดของประเทศไทยมีกำลังการผลิตสูงกว่า 7,500 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าจิ้งหรีดสดและแปรรูป รวมกว่า 900 ล้านบาท

ปัจจุบัน มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนผลิตแมลงในไทย โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด พร้อมตั้งโรงงานแปรรูปจิ้งหรีดส่งออกไปต่างประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป (อียู) จีน สหรัฐ และญี่ปุ่น ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรหลังช่วงทำนาหรือระหว่างฤดูแล้ง

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จึงได้จัดทำมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด เพื่อให้เกษตรกรมีแนวทางในการปฏิบัติและสามารถขอการรับรองการพัฒนาผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดแปรรูป เช่น Snack Food รสชาติต่างๆ ทั้งรสต้มยำ รสวาซาบิ รวมทั้งจิ้งหรีดชนิดโปรตีนผง เพื่อนำไปแปรรูป เป็นเค้ก คุกกี้ ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว จีน และอียู ซึ่งพบว่าตลาดให้การตอบรับค่อนข้างดี

มกอช. จึงออกข้อกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด หรือฟาร์มจิ้งหรีด จีเอพี (GAP) ในรูปแบบเดียวกับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั่วไป เพื่อเป็นเครื่องมือการันตีคุณภาพสินค้าแมลงของไทย โดยเฉพาะจิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสทางการตลาดและผลักดันส่งออกไปต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญ ยังช่วยสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดด้วย

มาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ กำหนดเกณฑ์การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด ตั้งแต่องค์ประกอบฟาร์ม อาหารสำหรับแมลง น้ำ การจัดการฟาร์ม สุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และการบันทึกข้อมูล เพื่อผลิตจิ้งหรีดที่มีคุณภาพดี และได้จิ้งหรีดและผลิตผลอื่นๆ ที่มีคุณภาพเหมาะสมในการนำไปใช้ผลิตเป็นอาหารที่ปลอดภัยต่อการบริโภค

ปลายปี 2560 คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้ประกาศยอมรับกฎระเบียบฉบับใหม่เกี่ยวกับอาหารที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ (Novel Food) เพื่อให้สถานประกอบการสามารถนำเข้า Novel Food มายังอียูได้สะดวกขึ้น ซึ่งแมลงจัดอยู่ในกลุ่ม Novel Food ด้วย ถือเป็นการเปิดช่องทางให้กับอุตสาหกรรมอาหารจากวัตถุดิบแมลง และเป็น “โอกาสทอง” ของเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดของไทยที่จะ “ขยายตลาดส่งออก” ได้มากขึ้น ที่สำคัญยังช่วยให้ประเทศไทยสามารถเป็น “ต้นแบบของโลก” ในการผลิตหรือทำฟาร์มแมลงกินได้ เช่น จิ้งหรีด แบบครบวงจรของโลก