เผยแพร่ |
---|
กรมหม่อนไหม เดินเครื่องส่งเสริมเกษตรกรใช้เครื่องสาวไหม UB2 และเครื่องปั่นตีเกลียวเส้นไหมเพื่อผลิตเส้นไหมที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดสิ่งทอในระดับอุตสาหกรรม ลดการนำเข้าเส้นไหมจากต่างประเทศ
นายไพโรจน์ เฮงแสงชัย รองอธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า ปัจจุบันการผลิตสิ่งทอจากเส้นไหมในระบบอุตสาหกรรมนั้นจำเป็นจะต้องใช้เส้นไหมที่มีคุณภาพ มีความสม่ำเสมอขอเส้นใย และมีความแข็งแรงที่จะใช้กับเครื่องจักรขนาดใหญ่ แต่ด้วยการผลิตเส้นไหมของเกษตรกรส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อย ประกอบกับการใช้วิธีการสาวไหมที่ขาดการพัฒนา ส่งผลให้เส้นไหมที่ได้ยังขาดคุณภาพที่จะนำไปผลิตสิ่งทอในระดับอุตสาหกรรมได้ ด้วยเหตุนี้กรมหม่อนไหมจึงมีนโยบายในการพัฒนาเครื่องสาวไหมเพื่อที่จะสามารถนำมาผลิตเส้นไหมให้ได้คุณภาพและสามารถนำไปผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้
โดยหนึ่งในเครื่องสาวไหมที่มีคุณภาพที่กรมฯ มองว่ามีศักยภาพในการส่งเสริมให้นำมาสาวไหมเพื่อให้ได้เส้นไหมที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ได้แก่ เครื่องสาวไหมยูบี 2 ซึ่งเป็นผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ศูนย์หม่อนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (อุบลราชธานี) และตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่าเครื่องสาวไหมอุบลราชธานี 50 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และเป็นเกียรติแก่หน่วยงานสถานีทดลองหม่อนไหมอุบลราชธานี ซึ่งเป็นแหล่งริเริ่มคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ ตั้งแต่เมื่อปี 2538 มาปรับปรุงใหม่เพื่อให้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพตรงตามความต้องการใช้เส้นไหม
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอมีความต้องการเส้นไหมมาก โดยจะเห็นได้จากผู้ประกอบการต่างประเทศเริ่มหาซื้อรังไหมจากประเทศไทยเพื่อนำไปผลิตเส้นใยในอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นจำนวนมาก กรมหม่อนไหมได้เล็งเห็นโอกาสในการสนับสนุนให้เกษตรกรมีรายได้จากการประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่มีตลาดรองรับที่แน่นอน จึงขยายผลด้านการผลิตเส้นไหมให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตเส้นไหมยืนและเส้นไหมพุ่งด้วยเครื่องสาวไหม UB2 และเครื่องปั่นตีเกลียวเส้นไหมโดยเครื่องมือทั้ง 2 เครื่องนี้เป็นผลงานวิจัยของนักวิจัยกรมหม่อนไหมที่มีศักยภาพการสาวที่ให้เส้นที่มีความสม่ำเสมอ มีเกลียวที่เพียงพอต่อการนำไปผลิตผ้าและผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมสิ่งทอ
โดยในปี พ.ศ.2561 กรมหม่อนไหมได้เริ่มนำร่องการพัฒนาคุณภาพเส้นไหมด้วยเครื่องสาวไหม UB2 และเครื่องปั่นตีเกลียว จำนวน 20 กลุ่ม ในพื้นที่ จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดศรีสะเกษ และจะขยายผลต่อเนื่องในปี พ.ศ.2562 ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดสระบุรี และจังหวัดมุกดาหาร โดยมีเป้าหมายการผลิตเส้นไหมเข้าสู่ตลาดไม่น้อยกว่า 100 ตัน
ทั้งนี้เครื่องสาวไหมดังกล่าวเป็นเครื่องสาวไหมขนาดย่อมขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ขนาด 1/4 แรงม้า มีประสิทธิภาพสูงกว่าการสาวไหมด้วยมือแบบพื้นเมืองถึง 6 เท่า โดยน้ำหนักจากการใช้เวลาในการสาวเท่ากัน แต่คุณภาพของเส้นไหมที่ได้มีลักษณะกลม มีการรวมตัวของเส้นไหมดีมาก ขณะทำการสาวไหมยังสามารถกรอเส้นไหมได้พร้อมกันอีกด้วย ต้นทุนการผลิตต่ำ วัสดุที่ใช้ประกอบเครื่องหาได้ง่ายในท้องถิ่น เคลื่อนย้ายได้สะดวก โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ทดลองส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีได้นำเครื่องดังกล่าวไปใช้จำนวน 20 เครื่อง
ผลที่ได้เกษตรกร 18 ราย สามารถใช้เครื่องดังกล่าวได้ดีและได้เส้นไหมคุณภาพ สามารถทดแทนเส้นไหมยืนที่ต้องนำเข้าหรือสั่งซื้อจากโรงงานได้ ซึ่งจากผลการทดลองดังกล่าวในปีนี้จึงได้ขยายผลการใช้ให้มากขึ้นและพร้อมผลักดันให้ปี 2562 เป็นปีแห่งการพัฒนาการสาวไหมให้มีคุณภาพต่อไป