สกว.โชว์ 3 งานวิจัยเด่นจับคู่ธุรกิจ ซีเมนต์กระดูก-หมอนรักษ์หลัง-พุดดิ้งผัก

สกว.ส่ง 3 นักวิจัยนำเสนอผลงาน ซีเมนต์กระดูกแบบฉีดสำหรับทดแทนกระดูกและสภาวะกระดูกพรุน หมอนรักษ์หลังจากวัสดุธรรมชาติ และพุดดิ้งผักสำหรับผู้สูงวัย เพื่อจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการหวังผลิตเชิงพาณิชย์ตามนโยบายประเทศไทย 4.0

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ผนึกกำลังเดินหน้าขับเคลื่อนงานวิจัยด้านชีววิทยาศาสตร์สู่ธุรกิจและการลงทุน “โครงการส่งเสริมนวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์ด้วยการลงทุน” Promoting I with I Espisode 2/2018 Thailand 4.0 จับมือกับสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว). สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จัดกิจกรรมนำเสนอแผนธุรกิจจับคู่ทางธุรกิจ ณ โรงแรมอโนมา

ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและเทคโนโลยีชีวภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ และปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม อีกทั้งเป็นการสร้างโอกาสพัฒนาโครงการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ตอบรับนโยบายประเทศไทย 4.0

สำหรับการนำเสนอผลงานวิจัยภายใต้ทุนสนับสนุนของ สกว. ประกอบด้วย “หมอนรักษ์หลัง” โดย รศ.ดร.รุ้งทิพย์ พันธุเมธากุล สายวิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากการสนับสนุนทุนวิจัยแก่นักศึกษาระดับปริญญาโท โครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งได้ประดิษฐ์นวัตกรรมหมอนรองหลังเพื่อสุขภาพที่มีค่าความโค้งเหมาะสมกับแต่ละช่วงอายุของคนไทยทั้งเพศหญิงและเพศชาย วัยทำงานและผู้สูงอายุ โดยผู้ป่วยที่รักษาด้วยหมอนรองหลังร่วมกับการทำกายภาพมีค่าเฉลี่ยอาการปวดและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถนำไปใช้ป้องกัน และ/หรือรักษาอาการปวดหลังในพนักงานทุกอาชีพในทุกอิริยาบถ เนื่องจากแนบติดหลังส่วนล่างของผู้ใช้ได้ตลอดเวลา

หมอนนี้ผลิตขึ้นโดยใช้วัสดุตามธรรมชาติ เช่น นุ่น จึงทำให้ระบายอากาศได้ดีและสามารถถอดซักทำความสะอาดได้ นอกจากนี้ ขณะที่สวมใส่ยังไม่รู้สึกเหมือนคนไข้เนื่องจากออกแบบไว้อย่างสวยงาม ผลการศึกษาพบว่าสามารถลดอาการปวด ลดภาวะทุพพลภาพ และเพิ่มคุณค่าชีวิตได้ดีกว่าเสื้อพยุงหลัง (lumbar support) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่สำคัญมีต้นทุนเพียง 100-150 บาทต่อใบ ตัดเย็บได้รวดเร็ว โดยผู้วิจัยได้จดอนุสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์แก่บริษัทผลิตหมอนหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือแม้แต่เป็นสินค้าโอท็อป

“พุดดิ้งผัก” ผลงานของ ดร.ธัญญ์นลิน วิญญูประสิทธิ์ จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากฝ่ายเกษตร ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์พุดดิ้งผักสำหรับผู้สูงวัยที่มีสารอาหารครบถ้วน 3 รสชาติ คือ มันเทศเหลือง ข้าวโพดหวาน และฟักทอง เพื่อเพิ่มปริมาณใยอาหาร วิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระ และแคโรทีนอยด์ รวมทั้งมีเนื้อสัมผัสที่เหมาะสมกับการสูญเสียฟันในแต่ละระดับ โดยผลิตภัณฑ์พุดดิ้งผักพร้อมบริโภคบรรจุในถ้วยพลาสติกปริมาณ 120 กรัม ปิดผนึกด้วยแผ่นฟิล์มพลาสติก ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยกระบวนการสเตอริไลเซชั่น สามารถเก็บที่อุณหภูมิห้องได้เป็นเวลานานถึง 6 เดือน หากเก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่านั้นก็จะยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้นโดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น น้ำหนักเบาพกพาง่าย รับประทานได้ทันที เหมาะสำหรับเป็นอาหารระหว่างมื้อหรือขนมหวาน เพื่อให้ผู้สูงวัยได้รับสารอาหารสำคัญเพิ่มขึ้น

คุณค่าทางโภชนาการพบว่าในพุดดิ้ง 1 หน่วยบริโภค มีพลังงานทั้งหมด 120 กิโลแคลอรี มาจากไขมัน 25 กิโลแคลอรี สัดส่วนการกระจายตัวของพลังงานที่มาจากไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตเหมาะสม เป็นไปตามคำแนะนำที่กำหนดให้มีสัดส่วนการกระจายตัวของพลังงานจากไขมันร้อยละ 25-35 โปรตีนร้อยละ 10-15 และคาร์โบไฮเดรตร้อยละ 55-65 นอกจากนี้ ยังปราศจากน้ำตาลนม เป็นแหล่งของใยอาหารและแคลเซียมตามหลักเกณฑ์ในการกล่าวอ้างทางโภชนาการบนฉลากอาหารของกระทรวงสาธารณสุข โดยพบปริมาณสารแคโรทีนอยด์ในพุดดิ้งผักแต่ละชนิดค่อนข้างสูง โดยในพุดดิ้งฟักทองพบ ลูทีน, ซีแซนทีน และเบต้าแคโรทีน ขณะที่พุดดิ้งมันเทศเหลืองและข้าวโพดหวานพบเพียงลูทีนและซีแซนทีนเท่านั้น นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยส่งเสริมภาวะโภชนาการของผู้สูงวัยหรือผู้ที่มีปัญหาด้านการเคี้ยว รวมทั้งยังสามารถนำค่าเค้าโครงเนื้อสัมผัสไปเป็นหนึ่งในการจัดตั้งมาตรฐานอาหารผู้สูงวัยต่อไป หรือนำไปต่อยอดสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้สูงวัยในอนาคตได้อีกด้วย เนื่องจากมีสูตรและองค์ประกอบที่เหมาะสม เพื่อให้พุดดิ้งมีความคงตัว ทนต่อความร้อนจากการฆ่าเชื้อ จึงสามารถใช้เป็นสูตรต้นแบบในการผลิตในโรงงานจริง

“ซีเมนต์กระดูกแบบฉีดสำหรับทดแทนกระดูกและสภาวะกระดูกพรุน” โดย รศ.ดร.ศิริรัตน์ ทับสูงเนิน รัตนจันทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ภายใต้โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ที่พัฒนาวัสดุที่เป็นของผสมระหว่างผงของแข็งและของเหลวในอัตราส่วนที่เหมาะสม และมีสมบัติคล้ายซีเมนต์ที่สามารถขึ้นรูปเป็นรูปต่างๆ โดยการปั้นหรือการฉีดผ่านเข็มฉีดยาขนาดเล็ก และเซ็ตตัวได้ในร่างกายโดยไม่เกิดความร้อน

จุดเด่นสำคัญยิ่งที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์เดิมคือ เป็นซีเมนต์กระดูกที่มีส่วนผสมในการเกิดปฏิกิริยาในการเซ็ตตัว และได้องค์ประกอบทางเคมีคล้ายกับกระดูกของมนุษย์ ซึ่งสามารถสลายตัวได้ในร่างกาย และช่วยส่งเสริมการเกาะของเซลล์กระดูก โดยการสลายตัวจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และให้รูพรุนที่เป็นโครงสร้างในการให้เซลล์กระดูก เลือด และของเหลวในร่างกายเข้าไปภายใน สามารถเกิดเนื้อเยื่อกระดูกใหม่เจริญเติบโตเข้ามาแทนที่ได้โดยไม่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ ส่วนผสมประกอบด้วยส่วนเสริมแรงคือ เส้นใยพอลิเมอร์ธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ เพื่อให้เกิดความแข็งแรงเพียงพอในขณะที่เนื้อซีเมนต์บางส่วนสลายตัวไป

ซีเมนต์เชื่อมกระดูกที่มีขายในปัจจุบันและนำเข้าจากต่างประเทศโดยทั่วไปเป็นประเภท PMMA ซึ่งมีข้อเสียในการนำมาใช้งานทางการแพทย์หลายประการ เช่น เกิดความร้อนขณะเซ็ตตัวซึ่งอาจส่งผลให้เซลล์ตายและเกิดการหลวมระหว่างวัสดุฝังในและกระดูกของผู้ป่วย ไม่สามารถสร้างและยึดเกาะกับกระดูกตามธรรมชาติ และไม่สามารถสลายตัวให้เกิดโครงสร้างยึดเกาะของเซลล์ได้ ทำให้ภายหลังการผ่าตัดวัสดุซีเมนต์เกิดการยึดเกาะไม่ดี หลวม และใช้เวลาในการยึดเกาะนาน ซึ่งจะส่งผลในการผ่าตัดรักษา อาจต้องผ่าตัดซ้ำและเกิดการติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อน นอกจากนี้ การสลายตัวของซีเมนต์ยังทำให้ความแข็งแรงของซีเมนต์ลดลง