“บัญชี 3 มิติ” บันไดขั้นแรกสู่ความพอเพียง

การเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี รวมไปถึงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติที่มีความผันผวนมากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาคเกษตร ซึ่งเกษตรกรจำเป็นต้องมีการปรับตัวให้พร้อมรับกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อีกหนึ่งปัญหาสำคัญของเกษตรกรส่วนใหญ่คือ ปัญหาหนี้สินในครัวเรือนและในการประกอบอาชีพ ซึ่งมาจากขาดการวิเคราะห์วางแผนทางการเงินและไม่มีการบริหารจัดการชีวิตที่ถูกต้อง

“บัญชี” จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่เปรียบเป็นภูมิคุ้มกันและเป็นคู่มือชีวิตในการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับเกษตรกรและประชาชนได้ใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ แต่หากพูดถึงการทำ “บัญชี” อาจทำให้นึกถึงภาพของตัวเลขมากมาย ที่ดูจะเป็นเรื่องยุ่งยากชวนปวดหัว บางคนรู้แค่ว่ารับเงินมาเท่าไรก็ใช้ไปเท่านั้น ก็คงเพียงพอแล้ว แต่ไม่รู้ว่าในแต่ละวัน เราอาจสูญเสียเงินไปกับเรื่องที่ไม่จำเป็นมากมาย เพราะความไม่รู้ข้อมูลการใช้จ่ายเงินของตนเอง ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างหนี้สินตามมา รู้ตัวอีกทีก็ไม่เหลือเงินเก็บออมไว้ใช้ยามฉุกเฉิน

แล้วการทำบัญชีมีประโยชน์อย่างไร…ทำอย่างไรเกษตรกรไทยถึงจะรวย…หรือถ้าเห็นรายจ่ายแล้วหมดกำลังใจจะทำอย่างไร? คำตอบของข้อสงสัยเหล่านี้ก็คือ ต้องรู้จักการทำบัญชีแบบ 3 มิติ ซึ่งจะเป็นหนทางไปสู่ความสำเร็จ เปรียบเป็นบันไดก้าวไปสู่ความพอเพียงได้อย่างแท้จริง

มากันที่มิติแรก คือ “รู้ตนเอง” รู้ถึงการใช้จ่ายเงินในแต่ละวัน รู้รายได้ รู้รายจ่าย รู้หนี้สิน เปรียบเทียบรายได้ รายจ่าย ฝึกนิสัยการใช้เงิน เริ่มต้นจากลงมือทำบัญชีประจำวัน โดยคิดวิเคราะห์ถึงรายรับ รายจ่าย สิ่งที่ไม่จำเป็นก็ตัดออกไป อาชีพใดทำรายได้ดีก็เดินหน้าต่อ ซึ่งไม่เพียงทำให้ทราบรายรับ-รายจ่าย และข้อมูลทางการเงินเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจและการพัฒนาในด้านต่างๆ ให้ผู้ทำบัญชีสามารถดำรงชีวิตได้อย่างประสบความสำเร็จ มีภูมิคุ้มกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงในการดำรงชีวิต ช่วยให้เกิดการจัดระเบียบวินัยในการใช้จ่ายและมองเห็นช่องทางในการออมและเพิ่มรายได้ ซึ่งเป็นบันไดของความอยู่รอด ผลิตเพื่อตนเองและครอบครัวเป็นอันดับแรก พึ่งพาเงินให้น้อยที่สุด

มิติที่สอง คือ “รู้สภาพแวดล้อม” รู้ถึงภูมิสังคม สภาพแวดล้อม ภูมิปัญญาพื้นถิ่น ภูมิอากาศ และการตลาด สร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วมในชุมชน ไม่ต่างคนต่างอยู่ ซึ่งจะทำให้เกิดการผลิตมุ่งสู่เศรษฐกิจในชุมชน มีการจัดสรรด้านรายจ่าย ลงทุน และเงินออมอย่างเหมาะสม สร้างนิสัยรักการออม และนำไปสู่ความพอเพียง

มิติสุดท้าย คือ “รู้อนาคต” เมื่อรู้ถึง 2 มิติที่กล่าวมาแล้ว ก็จะสามารถรู้ถึงอนาคตของตนเองได้ จากการคิดและวิเคราะห์ข้อมูลบัญชีอย่างเป็นระบบ นำข้อมูลทางบัญชีและหลักวิชาการมาใช้วางแผนการประกอบอาชีพทำให้รู้ทิศทางการตลาด รู้การวางแผนจัดการฟาร์มล่วงหน้า สร้างการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นเกษตรกรสมัยใหม่ที่คิด-วางแผน-ลงมือทำ-ทบทวน ซึ่งการบันทึกบัญชีทุกวัน จะทำให้รู้ความเหมาะสม รู้เวลา รู้ว่าเวลาใดผลิตผลจะขายได้ราคา เวลาใดจะเกิดภัยธรรมชาติบ่อยๆ ทำให้สามารถกำหนดแผนการประกอบอาชีพและแผนในการดำเนินชีวิตได้ นำไปสู่ความยั่งยืน

การทำบัญชีไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด หากแต่ทำแล้วต้องมีการคิด วิเคราะห์ วางแผนให้รอบด้าน รู้ตนเอง-รู้สภาพแวดล้อม-รู้อนาคต ให้ครอบคลุมทั้ง 3 มิติ โดยน้อมนำแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพึ่งตนเอง รู้จักความพอประมาณ และไม่ประมาท มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต รู้จักความพอมีพอกิน พอมีพอใช้ คำนึงถึงหลักเหตุผล และการประมาณตนเอง เพียงเท่านี้ ชีวิตก็จะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

“ถ้ารู้จักแต่หากิน แต่ไม่รู้จักการทำบัญชีก็ยากที่จะประสบผลสำเร็จ”

สนใจเริ่มต้นเรียนรู้การทำบัญชี ติดต่อได้ที่ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โทร. CALL CENTER 02-016-8888 หรือติดต่อได้ที่ สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ทุกจังหวัดและเครือข่ายครูบัญชีอาสาทั่วประเทศ