เคล็ดลับปลูกมะนาวด้วย “ผักตบชวา” ในวงบ่อซีเมนต์ ติดผลดกตลอดปี

ลุงชาญ บุญเลิศอยู่บ้านเลขที่ 62/1 หมู่ที่ 10 ตำบลไม้ดัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี เล่าว่า เดิมทีทำนา ประมาณ 24 ไร่ ซึ่งสมัยนั้นทำเท่าไหร่ก็มีแต่หนี้สินหลายแสนบาท แทบไม่มีเงินเก็บ พอประมาณปี 2536 จึงเลิกทำนา เพราะหนี้สินไม่มีวี่แววว่าจะลดน้อยลง เพราะสมัยนั้นราคาข้าวตกต่ำ มีขึ้นมีลงไม่แน่นอน ทำให้เงินทุนที่เก็บไว้ก็ต้องนำมาใช้จ่าย จึงตัดสินใจเลิกทำนาอย่างเด็ดขาด

ลุงชาญ เล่าต่อว่า พอเลิกทำนา ก็มาทำเห็ดนางฟ้าเป็นอาชีพหลัก เพราะขณะที่ทำนาได้ทำเห็ดเสริมอยู่แล้ว ด้วยการอัดก้อนเชื้อขายและเปิดก้อนเชื้อขายดอกเอง ทำมาได้สักระยะ ครู กศน. ได้มาแนะนำให้ลุงชาญรวมกลุ่มเพื่อทำเห็ด สามารถรวมกลุ่มได้ 15 คน ทำก้อนเห็ดได้ประมาณ 2,000 กว่าถุง ต่อวัน

ช่วงที่รอเชื้อเห็ดเดินให้เต็มถุง ลุงชาญ เล่าว่า จะเป็นช่วงที่ลุงชาญกับสมาชิกกลุ่มค่อนข้างว่าง ลุงชาญจึงได้หามะนาวมาปลูกและขยายพันธุ์ขาย ช่วงนั้นมะนาวพันธุ์แป้นพิจิตรกำลังเป็นที่นิยม

“พอ ครู กศน. เข้ามาก็ให้ตั้งกลุ่ม ทำบัญชีครัวเรือนรายรับรายจ่าย ก็มาแนะนำสิ่งต่างๆ เห็ดที่ทำ ต้องรอให้เชื้อมันเดินเต็ม ช่วงนี้ก็ว่าง ทาง ครู กศน. ก็มาแนะนำให้ขยายพันธุ์มะนาว เริ่มแรกเดิมที มีแค่ 6 ต้น เพราะสมัยนั้นแป้นพิจิตรกำลังดัง ก็ได้มาขยายพันธุ์ พอทำแล้วดี ก็เลยให้คนในกลุ่มทำ เพราะบางคนในกลุ่มก็มีรายได้น้อยแตกต่างกันไป ผมเลยแบ่งกิ่งที่ขยายให้ครอบครัวละ 5 กิ่ง ให้ไปปลูกให้ไปขยายพันธุ์ ถ้าขายได้ให้ขายไป ถ้าขายไม่ได้ให้ขนมาที่บ้านผม เพราะที่นี่เป็นศูนย์กลาง มีคนมาที่นี่ส่วนใหญ่” ลุงชาญ กล่าว

จากการสังเกต
นำมาสู่การค้นพบ

เมื่อทางสมาชิกกลุ่มของลุงชาญสามารถขยายพันธุ์มะนาว ปลูกเพื่อหารายได้ให้เลี้ยงครอบครัวได้แล้ว แต่มะนาวที่ปลูกก็ยังไม่สามารถออกลูกได้ทั้งปี เพราะยังออกตามฤดูกาลอยู่ จึงทำให้ต้องขายกิ่งพันธุ์มะนาวเพียงอย่างเดียว แต่ลุงชาญเองก็ไม่หยุดพยายามหาวิธีเรียนรู้ให้กับตัวเองเรื่อยๆ จนค้นพบการทำให้มะนาวออกผลตลอดปี

ลุงชาญ เล่าว่า เป็นคนชอบหาปลาตามแหล่งน้ำใกล้บ้าน ขณะที่ไปหาปลาได้สังเกตเห็นว่า ตรงบริเวณที่อื่นข้างๆ คลองแห้งแล้งไปหมด แต่มีอยู่บริเวณเดียวของคลอง ที่มีวัชพืชขึ้นไม่แห้งตาย ด้วยความสงสัยจึงไปดูว่าเป็นเพราะอะไร ทำไมถึงไม่แห้งตาย

“ที่ตรงอื่น มันแห้งแล้งไปหมด แต่มีอยู่ที่หนึ่งมันเขียวชอุ่ม ตรงนั้นมันเป็นสะพานปูน ผักตบชวามันก็ไปอัดกันตรงสะพานปูน เพราะรถตักดิน ตักทิ้งเอาไว้ แต่วัชพืชมันก็ไปขึ้นบนนั้นเขียวไปหมด ก็เลยสงสัยว่ามันเป็นเพราะอะไร แต่ทีแรกยังไม่รู้ว่ามันเป็นผักตบชวา ก็ลองไปคุ้ยดู เลยรู้ว่าข้างล่างเป็นผักตบชวา ก็เลยนึกขึ้นมาว่า เราปลูกมะนาวอยู่ ลองเอามาปลูกกับมะนาว 1 วงบ่อซีเมนต์ ขนมาแค่กระสอบเดียว

พอดูไปสักระยะ ไอ้ที่ปลูกกับดินมันไม่ค่อยโต แต่ที่ปลูกกับผักตบชวามันแตกยอดดี แต่ผักตบชวาที่เอามา นั่นย่อยสลายแล้ว ผุแล้ว ปลูกด้วยผักตบชวาล้วนๆ ไม่ใส่ดินเลย” ลุงชาญอธิบายสิ่งที่ได้จากการสังเกตรอบตัว

เมื่อคอยสังเกตดูต้นมะนาวที่ปลูกด้วยผักตบชวาเติบโตได้ดีลุงชาญจึงชวนภรรยานำรถกระบะไปขนผักตบชวาที่ย่อยสลายดีแล้วตามคลองนำมาใส่ปลูกมะนาวได้อีก 5 วงบ่อซีเมนต์ ใช้เวลาประมาณ 8 เดือน มะนาวโตดี ติดดอก ออกผล ซึ่งผิดกับมะนาวที่ปลูกกับดินต้นยังแคระแกร็น ไม่โตเท่าที่ควร

มะนาวโตดี ผลผลิตดี
กลายเป็นศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน

ลุงชาญ เล่าว่า เมื่อมะนาวที่ปลูกด้วยผักตบชวาโตดี ติดลูกดี ได้ผลผลิตดี จึงบอกให้สมาชิกในกลุ่มทราบ ทุกคนจึงนำไปปฏิบัติจนเห็นผลเหมือนที่ลุงชาญทำ จึงทำให้มีคนหลายพื้นที่มาศึกษาดูงานเรื่อยๆ จนเป็นที่น่าภาคภูมิใจของกลุ่ม ลุงชาญยังบอกอีกว่า ผักตบชวาที่นำมาใส่ลงในวงบ่อซีเมนต์นั้น ไม่มีกฎเกณฑ์ว่าจะต้องใช้ในอัตราส่วนเท่าไหร่ สามารถนำผักตบชวาที่ย่อยสลายดีแล้ว ใส่ลงไปในวงบ่อซีเมนต์ที่ปลูกมะนาวได้เลย

“คนก็เริ่มมาดูงาน เพราะทั้งสวนใช้ผักตบชวาหมดเลย ตอนที่ขนผักตบชวามา ถ้าสดอยู่ เอามาทิ้งให้ผุก่อน ประมาณ 45-60 วัน แต่ถ้าที่ผุแล้ว เอามาใส่ใช้ได้เลย ปลูกไปนานๆ มันจะยุบ จะให้อยู่ตัว ต้องเติมผักตบชวาอีกประมาณ 3 ครั้ง จะอยู่ตัว หรือดูตามความเหมาะสมก็ได้ ถ้ายุบลงไปเหลือครึ่งวงบ่อ ก็คอยหมั่นเติม ไม่ต้องใส่ดินเลย”ลุงชาญ อธิบายขั้นตอน

นอกจากนี้ ลุงชาญยังบอกอีกว่า ถ้าช่วงที่น้ำในคลองแห้งมากๆ ผักตบชวาจะหายากไม่ค่อยมี ก็จะใช้กาบมะพร้าวสับเพื่อแทนผักตบชวา แต่ที่เป็นหลักสำคัญที่สุดคือ ผักตบชวา เพราะทำให้ในดินมีไส้เดือน ด้วง แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของดินผักตบชวา ที่ร่วนซุยทำให้รากมะนาวเดินได้ดี

การขาย
เน้นที่ความต้องการของตลาด

ลุงชาญ บอกว่า มะนาวที่สวนมีมากกว่า 20 สายพันธุ์ ขายทั้งกิ่งพันธุ์และผล แต่ที่คนนิยมซื้อจะเป็นแป้นพิจิตร แป้นลูกผสม ทูลเกล้า และเลมอน เพราะ 4 พันธุ์หลักนี้ จะไม่เป็นโรค แต่ถ้าเป็นมะนาวเปลือกบางๆ ฤดูฝนจะเป็นโรคแคงเกอร์ เช่น แป้นวโรชา แป้นตะวัน แป้นทะวาย ซึ่งเมื่อเทียบกับ 4 พันธุ์แรก ลูกจะดกสู้ไม่ได้ เป็นโรคได้ง่ายกว่า

ส่วนราคามะนาวช่วงนี้ ลุงชาญบอกว่า ขายอยู่ที่ผลละ 1 บาท เพราะราคาแตกต่างกันในแต่ละฤดูกาล ช่วงที่มะนาวแพงๆ ที่ศูนย์เรียนรู้ของลุงชาญ ขายได้ถึงผลละ 5 บาท คือ ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน แต่ช่วงนั้นที่ศูนย์ของลุงชาญจะไม่เก็บเอง แต่ให้คนที่ซื้อมาเลือกเก็บเองจากต้น

“ช่วงที่มะนาวแพงๆ ที่ศูนย์เราจะไม่เก็บ แต่จะให้คนซื้อมาเก็บเอง เลือกเอาตามใจชอบ ว่าจะเอาเล็กใหญ่ขนาดไหน มีราคาเดียว 5 บาท เพราะที่ศูนย์เราไม่ไกลจากตัวเมืองเท่าไหร่ แต่ถ้าช่วงที่มะนาวราคาถูก ทางศูนย์เราก็เตรียมการ เอามาแปรรูปเป็นน้ำมะนาวขาย สามารถเก็บไว้ในตู้เย็น ไว้กินดับกระหาย” ลุงชาญ กล่าว

จะเห็นได้ว่า การสร้างชาติที่เข้มแข็งอาจต้องเริ่มจากการสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เพราะองค์ความรู้ที่อยู่ในตัวของเกษตรกร ดังเช่น ลุงชาญ ที่มีความรู้ในด้านต่างๆ จนสามารถถ่ายทอดไปสู่หมู่คนที่ต้องการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทำให้เกษตรกรไทยและผู้ที่สนใจที่มาศึกษาดูงานมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้ปัญหาหนี้สินที่มีอยู่ลดน้อยลง การพัฒนาของประเทศชาติก็จะไปได้ไวขึ้น เพราะทุกคนในชาติมีความรู้ความสามารถ โดยเริ่มจากการสร้างความเข้มแข็งจากเกษตรกร ไปสู่ชุมชน ขยายไปเรื่อยๆ จนสู่ระดับประเทศ

สำหรับท่านใดที่สนใจศึกษาดูงาน หรือติดต่อซื้อกิ่งพันธุ์มะนาว ก้อนเห็ด ดอกเห็ด และกิ่งมะเดื่อฝรั่ง สามารถติดต่อได้ที่ ลุงชาญ บุญเลิศ หมายเลขโทรศัพท์ (086) 313-4455