ผู้เขียน | ชมพิศ ปิ่นเมือง |
---|---|
เผยแพร่ |
“มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์” จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พ.ศ. 2558 จากการควบรวมมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ เพื่อปรับปรุงการดำเนินการและลดความซ้ำซ้อนของสถาบันอุดมศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเดียวกัน โดยการผลักดันของ นายเดชา ตันติยวรงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และ นางบุญรื่น ศรีธเรศ อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์
หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558 และสภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ใน 3 เดือนถัดมา ก่อนมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเดือนกันยายนปีเดียวกัน มีเป้าหมายเป็น “มหาวิทยาลัยท้องถิ่นชั้นนำที่มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตวิชาชีพ เทคโนโลยี นวัตกรรมและบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อพัฒนาชุมชนสังคมในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและสากล” โดย รศ. จิระพันธ์ ห้วยแสน ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์คนแรก
สำหรับตำแหน่งของอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยน้องใหม่คงจะไม่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป แต่หากเอ่ยชื่อของ “ไส้กรอกปลากาฬสินธุ์” นวัตกรรมอาหารท้องถิ่นของจังหวัดกาฬสินธุ์ หลายคนรู้จักและเคยรับประทาน แท้จริงแล้วเป็นผลงานด้านวิชาการหนึ่งของ “อาจารย์จิระพันธ์”
“อาจารย์จิระพันธ์” เริ่มต้นชีวิตทำงานข้าราชการจากสายครูผู้สอน เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ในตำแหน่งอาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร และเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ ก่อนมารับตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ (ม.กส.)
“อาจารย์จิระพันธ์” เริ่มต้นการพูดคุยกันที่เรื่องไส้กรอกปลากาฬสินธุ์ ซึ่งมาจากการค้นคว้าวิจัยการแปรรูปอาหารจากปลาน้ำจืดในสายพันธุ์ปลาหนังมีหนวด หรือ Cat Fish ทดแทนเนื้อสัตว์อย่างเนื้อหมู ไก่ และเนื้อสัตว์อื่นๆ โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่รมควันด้วยชานอ้อย ของพื้นถิ่นที่ให้สีและรสชาติเป็นที่นิยมของผู้บริโภค
“ระยะแรกๆ ของการศึกษาวิจัยการทำไส้กรอกปลา มีทั้งการลองผิดลองถูกมามากมายจนประสบความสำเร็จ และตั้งชื่อว่า ‘ไส้กรอกปลากาฬสินธุ์’ เพราะต้องการให้เป็นสินค้าของคนกาฬสินธุ์ให้เกิดความภาคภูมิใจ ที่สำคัญคือความภูมิใจของผลิตภัณฑ์ไส้กรอกปลากาฬสินธุ์ที่คิดค้นวิจัยตั้งแต่เริ่มต้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยส่วนตัวทุกวันนี้ยังมีความภูมิใจที่ได้เป็นผู้คิดค้นวิจัยและพัฒนาไส้กรอกปลากาฬสินธุ์ ผลิตภัณฑ์อาหารเลือดอีสานสไตล์เยอรมัน รสชาติอร่อย ที่กวาดรางวัลอาหารมามากมายทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศ ภายใต้การดำเนินการของ ห.จ.ก.กาฬสินธุ์ผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดที่โกอินเตอร์เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก”
ส่วนการเข้ามานั่งบริหารงาน ม.กส. นั้น “อาจารย์จิระพันธ์” บอกว่า นับเป็นเกียรติประวัติสูงสุดของการรับราชการมา 30 ปี การตัดสินใจเข้าร่วมการสรรหาอธิการบดีไม่ใช่เพราะต้องการอำนาจ ตำแหน่ง หรือผลประโยชน์อื่นๆ แต่ด้วยแรงผลักดันของบุคลากรภายในและสังคมคนกาฬสินธุ์ เมื่อได้รับความไว้วางใจมาดำรงตำแหน่งตรงนี้แล้ว สิ่งที่ตั้งใจคือการพัฒนา ม.กส. ให้เป็นสถาบันการศึกษามีศักยภาพเท่าเทียมกับสถาบันอื่นๆ เพื่อการบริการทางการศึกษาแก่ประชาชนท้องถิ่นและสังคม เป็นสถาบันที่มุ่งเน้นการศึกษา ส่งเสริมงานวิจัย เพื่อสร้างและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยี
วันนี้ไม่ใช่การล้างบาง กวาดเช็ด ตามเก็บเรื่องย้อนหลัง อยากให้มองว่าเป็นการจัดระเบียบระบบการบริหารให้ทุกอย่างโปร่งใส ปราศจากทุจริต ด้วยความไร้อคติ มีความเป็นกลางและให้ความเป็นธรรมมากที่สุด มากกว่ามองเรื่องของการขัดผลประโยชน์ สร้างอำนาจของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หลังการควบรวมระหว่าง ม.ราชภัฏกาฬสินธุ์ (มภ.กส.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ (มทร.กส.) จัดตั้งเป็น ม.กส. และการสรรหาอธิการบดี ม.กส. มุ่งเน้นจะตอบโจทย์ตามความต้องการของคนกาฬสินธุ์ ที่วาดฝันให้เกิดและมี ม.กส. ขึ้นมา และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องช่วยกันสร้างคนละไม้คนละมือ โดยให้คำนึงถึงความเป็นมหาวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาของคนกาฬสินธุ์จริงๆ มากกว่าเป็นบ่องบประมาณ เพราะมีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลในการสร้างมหาวิทยาลัยขึ้นมา
“อาจารย์จิระพันธ์” กล่าวย้ำอีกว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้ไม่ใช่ที่ตักตวงผลประโยชน์ ไม่ใช่สถานที่ทำนาบนหลังคน แต่เป็นสถานศึกษาอันมีเกียรติ เป็นความภาคภูมิใจของคน การสรรหาอธิการบดีเป็นที่จับตาของสังคม ด้วยข้อกังวลของการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่เกียรติที่ได้รับมาจากบุคลากรในสังกัด ม.กาฬสินธุ์ ด้วยความคาดหวังทันทีที่ได้รับตำแหน่ง ถึงวันนี้ยังไม่ครบขวบปี ยังต้องแก้ปัญหาทุกเรื่อง เป็นสิ่งที่ผู้บริหารบุกเบิกต้องทำงานทุกอย่างให้ดำเนินไปอย่างมั่นคง รวดเร็ว แข่งกับเวลา รอช้าไม่ได้ โดยเฉพาะด้านการพัฒนา ต้องเริ่มและทำอย่างรวดเร็ว ก้าวนำให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่เกิดมาก่อน แต่ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ
“ก้าวแรกของ ม.กส. อยากให้เชื่อและมั่นใจ จากปัจจุบันยาวไปถึงอนาคต บุคลากรในมหาวิทยาลัยจะมุ่งมั่นทำหน้าที่เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ ผลิตบัณฑิตให้เป็นที่ต้องการของทุกกลุ่มสาขาอาชีพ ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนระดับปริญญา และระดับต่ำกว่าปริญญา การจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพ ผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ สนับสนุนการวิจัยการพัฒนาเพื่อสร้างทุนปัญญาของชาติ และการเพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ทั้ง 9 คณะ 14 หลักสูตรตามสาขาวิชา ได้แก่ 1. คณะครุศาสตร์ 2. คณะสาธารณสุขศาสตร์ 3. คณะเทคโนโลยีสังคม 4. คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ 5. คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร 6. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 7. คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ 8. คณะบริหารธุรกิจ 9. คณะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
ปัจจุบันมีนักศึกษากว่า 8,000 คน ซึ่งจะเพิ่มให้ถึงหลักหมื่นในไม่ช้านี้ ขณะที่การเปิดรับนักศึกษาใหม่ประจำปีการศึกษา 2561 รอบโควต้าพิเศษ มียอดนักศึกษาสมัครลงทะเบียนและมารายงานตัวแล้วกว่า 1,300 คน จากยอดรับนักศึกษาทั้งหมด 2,090 คน ถือว่ามีสถิติเพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับสถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่มีจำนวนนักศึกษาลดลง โดย ม.กส. ได้ตอบแทนคืนสู่สังคม โดยการมอบทุนการศึกษาให้เยาวชนในพื้นที่ 18 อำเภอของจังหวัดกาฬสินธุ์ด้วย
“อาจารย์จิระพันธ์” กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังการควบรวมมหาวิทยาลัยแล้ว เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงและความแตกต่างจากทั้งสองแห่ง เริ่มที่ด้านสาธารณูปโภค การปรับภูมิทัศน์ ที่เป็นผลสืบเนื่องการดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยสีเขียว เริ่มอนุรักษ์พันธุ์ไม้ ต้นไม้ในพื้นถิ่นให้มากขึ้น รวมถึงการปลูกเพิ่มเติม การพัฒนาศูนย์วิจัยและฝึกอบรมภูสิงห์ให้เป็นอาณาจักรเกษตรปศุสัตว์ และประมงครบวงจร เป็นแหล่งเรียนรู้และผลิตบัณฑิตด้านเกษตรอินทรีย์ การผลิตสินค้าทางการเกษตร ปศุสัตว์ และการประมงปลอดสารพิษ
“ทั้งหมดทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในภาคอีสานที่ต้องปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการเกษตรตามนโยบาย 4.0 ของรัฐบาลในไม่ช้า”
ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน