เทคนิคดูแลสัตว์ให้สุขภาพดี  ในช่วงฤดูฝน

สภาพอากาศแปรปรวนในช่วงฤดูฝน มักส่งผลให้สัตว์เกิดความเครียด ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันโรคลดต่ำลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคและเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อย และโรคคอบวมหรือโรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย ดังนั้น เกษตรกรจึงควรจัดเตรียม น้ำ อาหาร และวิตามิน ให้สัตว์กินเสริม และทำวัคซีนป้องกันโรคไว้อย่างสม่ำเสมอ

โรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่สำคัญในโค กระบือ แพะ แกะ และสุกร ที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส สามารถติดต่อและแพร่กระจายได้โดยการกินหรือสัมผัสกับสัตว์ป่วยโดยตรง หรือเชื้อที่ปนเปื้อนจากคน ยานพาหนะ เป็นต้น เพราะเชื้อไวรัสจะถูกขับออกมาจากสัตว์ป่วยทางน้ำมูก น้ำลาย น้ำนม มูล ลมหายใจ และบาดแผลสัตว์ป่วยจะมีอาการซึม มีไข้ เบื่ออาหาร มีเม็ดตุ่มพองเกิดขึ้นที่ริมฝีปาก ช่องปากและไรกีบ ทำให้น้ำลายไหล กินอาหารไม่ได้ และเดินกะเผลก  เนื่องจากโรคปากและเท้าเปื่อย เกิดจากเชื้อไวรัสจึงไม่มียารักษา แต่จะใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาม่วงลดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเท่านั้น

ส่วนโรคคอบวมหรือโรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย จะทำให้สัตว์มีอาการคอหรือหน้าบวมแข็ง หายใจเสียงดังหรือหอบ ยืดคอไปข้างหน้า  ส่วนใหญ่มักมีอาการแบบเฉียบพลันคือ ไข้สูง น้ำลายฟูมปาก หยุดกินอาหาร และตายภายในไม่กี่ชั่วโมง

เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคคอบวม สามารถอยู่ในระบบทางเดินหายใจสัตว์ปกติได้โดยไม่แสดงอาการป่วย แต่เมื่อสัตว์อยู่ในภาวะเครียดจากการเคลื่อนย้าย ช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง การอดอาหาร หรือการใช้แรงงานมากเกินไป ทำให้ร่างกายสัตว์อ่อนแอ มีภูมิคุ้มกันลดต่ำลง สัตว์จะแสดงอาการป่วยและขับเชื้อออกสู่สิ่งแวดล้อมปนเปื้อนอาหารและน้ำ

กรมปศุสัตว์ แนะนำแนวทางป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือ ให้ความสำคัญกับการดูแลสัตว์เลี้ยงของตนให้มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง โดยต้องดูแลในเรื่องการจัดการโรงเรือนหรือคอกสัตว์ มีหลังคาป้องกันฝน ลม ได้เป็นอย่างดี มีวัสดุปูรองคอกเลี้ยงสัตว์ จัดเตรียมน้ำสะอาด อาหารสัตว์หรือพืชอาหารสัตว์ และเวชภัณฑ์ต่างๆ เช่น วิตามิน ให้เพียงพอ และ ควรทำความสะอาดโรงเรือนหรือคอกเลี้ยงสัตว์ และพ่นทำลายเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม โรคระบาดดังกล่าวสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนให้กับสัตว์ที่มีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป กรมปศุสัตว์แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยให้กับโค กระบือ แพะ แกะ ปีละ 2 ครั้ง และฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอบวมหรือโรคเฮโมรายิกเซพติซีเมียให้กับกระบือและโคปีละ 1 ครั้ง

นอกจากนี้ โค กระบือ แพะ แกะ มักมีปัญหาเรื่องท้องอืด ท้องเสีย จากการกินหญ้าอ่อนที่เพิ่งแตกยอดเมื่อได้รับน้ำฝนเข้าไปเป็นจำนวนมาก เพราะสัตว์จะกินแต่ฟาง หรือหญ้าแห้งตลอดในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้ ยังมีโรคหวัด โรคปอดบวม โรคคอบวม โรคปากและเท้าเปื่อย

ส่วน สุกร ต้องระวังโรคปากและเท้าเปื่อย และโรคพีอาร์อาร์เอส โดยจะแสดงอาการผิดปกติที่เกษตรกรสามารถสังเกตได้คือ ซึม เบื่ออาหาร หากเป็น โค-กระบือ จะมีขี้ตา หายใจลำบาก มีขี้มูก ไอหรือจาม หรือท้องเสีย และอาจมีการแท้งลูกได้

สำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้องในเบื้องต้นมักจะไม่มีการเคี้ยวเอื้อง จมูกเปียกแฉะหรือแห้งผิดปกติ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม หนังไม่สั่นไล่แมลง

ส่วนสัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ เป็นต้น กรมปศุสัตว์มีข้อแนะนำเพิ่มเติมถึงโรคที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ โรคไข้หวัดนก และโรคหลอดลมอักเสบติดต่อ ที่อาจสร้างความสูญเสียให้กับสัตว์ปีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลต่อสุขภาพสัตว์ปีกโดยตรง ทำให้อ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำลง อาการที่พบได้ คือ คอตก คอบิด หายใจเสียงดัง หรืออาจมีน้ำมูกไหลได้

 

ดังนั้น เกษตรกรควรให้ความสำคัญกับการดูแลปศุสัตว์ของตนให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ แข็งแรง โดยต้องดูแลในเรื่องของการจัดการโรงเรือนหรือคอกสัตว์ที่ดี มีหลังคา ป้องกันฝน ลม และละอองฝนได้เป็นอย่างดี หรือจัดเตรียมสถานที่ที่ให้สัตว์สามารถหลบฝนได้ มีการจัดเตรียมน้ำ อาหาร ยา และเวชภัณฑ์ให้พร้อม เพื่อเสริมสร้างให้สุขภาพสัตว์แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยได้ง่าย และที่สำคัญควรทำวัคซีนแต่ละชนิดให้ตรงตามระยะเวลาที่กำหนดของแต่ละชนิด

 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ได้เตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยสั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทั่วประเทศให้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรเพื่อให้คำแนะนำ ความรู้ด้านป้องกันโรค การดูแลสุขภาพ การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด และค้นหาสัตว์ป่วย หรือตายที่มีอาการคล้ายโรคระบาด โดยหากตรวจพบการเกิดโรคให้ดำเนินการควบคุมโรคทันที

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สังเกตอาการสัตว์ที่เลี้ยง โดยเฉพาะโค กระบือ หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด เพื่อดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน  หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเรื่องโรคสามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอในท้องที่ หรือโทรศัพท์ (085) 660-9906