ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | สวง โฮสูงเนิน |
เผยแพร่ |
ไผ่ เป็นพืชที่มนุษย์ในส่วนต่างๆ ของโลก นำมาใช้ประโยชน์อย่างมากมายในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่สมัยโบราณ ต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน มนุษย์มีการนำไผ่มาใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการใช้บริโภค และอุปโภคแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งพันปี ซึ่งในการนำไผ่มาใช้ประโยชน์เพื่อการบริโภคนั้น พบว่ามนุษย์ได้มีการนำหน่อมาแปรรูปเป็นอาหารบริโภคในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ พบว่า มนุษย์นำเอาส่วนต่างๆ ของไผ่ เช่นเหง้า แขนง และใบ มาใช้บริโภคในรูปแบบของสมุนไพรเพื่อรักษาไข้หวัด โรคหืด และโรคไต เป็นต้น ส่วนในการนำไผ่มาใช้เพื่อการอุปโภคนั้น พบว่า ได้มีการนำใบไผ่มาใช้ห่ออาหารและนำลำไผ่มาใช้ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย อุปกรณ์ในการประกอบอาชีพล่าสัตว์ อาวุธเพื่อการต่อสู้และเครื่องดนตรี
ส่วนการใช้ประโยชน์จากไผ่ของคนไทย ซึ่งนับได้ว่า เป็นอีกชนชาติหนึ่งที่มีความผูกพันใกล้ชิดกับไผ่ มีการนำไผ่มาใช้ประโยชน์ในหลากหลายรูปแบบเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานไม่แพ้ชนชาติอื่น โดยระยะแรกจะเป็นการนำไผ่จากป่ามาใช้เป็นหลัก ต่อมาจนกระทั่งเมื่อพื้นที่ป่าไม้ได้ถูกทำลายให้ลดปริมาณลง ความจำเป็นที่จะต้องปลูกไผ่เพื่อใช้ประโยชน์ จึงได้เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ
คุณสงบ สุขันธ์ อยู่บ้านเลขที่ 12 หมู่ 8 บ้านจอมทอง ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู เล่าให้ฟังว่า เดิมที่รับราชการเป็นครูสอนที่โรงเรียนบ้านห้วยฮวกจอมทองนาฝาย ตำบลศรีบุญเรือง ซึ่งระหว่างรับราชการ ได้ทำมะนาวนอกฤดูกาลมาแล้วหลายปี ทำให้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ และสร้างเนื้อสร้างตัว ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น
แต่พื้นที่ติดกับลำน้ำพอง ทำให้เกิดน้ำเอ่อล้นท่วมต้นมะนาวที่ปลูกไว้เป็นเวลานาน ทำให้ต้นมะนาวเกิดความเสียหายอย่างต่อเนื่อง ประกอบต้นมะนาวก็มีอายุมาก สภาพต้นทรุดโทรมมากและทำให้ผลผลิตไม่ดี ด้านราคาก็ไม่แน่นอน จึงเริ่มศึกษาค้นคว้า จากวารสารการเกษตร และปรึกษา คุณจำนงค์ ขันกสิกรรม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ และได้เกิดแนวความคิดว่าไผ่เลี้ยงน่าจะปลูกได้ ประกอบกับพื้นที่ติดกับลำน้ำพอง หากน้ำท่วมจะพัดเอาปุ๋ยหรือธาตุอาหารมาสะสมไว้ที่สวนไผ่ และไผ่เป็นพืชตระกูลหญ้า น้ำท่วมนานๆ ก็ไม่เสียหายเลย
นอกจากนี้ดูแลรักษาก็ง่ายโรคและแมลงก็ไม่มีมารบกวน และเป็นพืชที่ปลูกแล้วให้ผลผลิตเร็ว อายุประมาณ 8 เดือน ก็ให้ผลผลิตได้ ในหน้าแล้งมีการให้น้ำอยู่เรื่อยๆ สามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดปี ทำให้มีราคาดีในหน้าแล้ง และเป็นสินค้าการเกษตรที่ตลาดต้องการ เนื่องจากคนในท้องถิ่นนิยมบริโภค สามารถแปรรูปผลผลิตได้หลายอย่าง เช่น การดอง หน่อไม้อัดปี๊บ/ถุง ทำให้เก็บรักษาผลผลิตได้นานๆ จึงได้นำไผ่เลี้ยงมาจากจังหวัดเพชรบูรณ์ มาปลูกในพื้นที่ จำนวน 13 ไร่
การปลูก
1. การเตรียมดิน โดยการไถเตรียมพื้นที่ปลูก และขุดหลุม ขนาด 30x30x30 เซนติเมตร
2. รองก้นหลุมด้วยปุ๋ย สูตร 15-15-15 จำนวน 1 กำมือ ผสมปุ๋ยคอก 4 กำมือ
3. ใช้ระยะปลูก 2×3 เมตร หลังจากปลูกแล้วควรรดน้ำทุกวันหรือวันเว้นวัน ตรวจดูสภาพความชื้นของดิน
4. เมื่อแตกใบอ่อน ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 จำนวน 2 ช้อนแกง/ต้น โดยโรยบริเวณรอบโคนต้น แต่อย่าให้ถูกต้น
5. การให้น้ำจะให้น้ำแบบสปริงเกลอร์
6. การเกิดหน่อเมื่อมีการเกิดหน่อขึ้นมา ให้เหลือหน่อที่สมบูรณ์ ประมาณ 3 หน่อ ห่างกัน ส่วนหน่อที่เหลือเก็บจำหน่าย
7. อายุประมาณ 1 ปี ตัดแต่งกิ่งไผ่ให้โปร่ง
การดูแลรักษา
ทำได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องคอยกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้หญ้าขึ้นรกคลุมแปลงปลูก ในช่วงหน้าแล้งถ้าไม่มีฝนตกควรรดน้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เมื่อปลูกไผ่ได้ประมาณ 7 เดือนแล้ว ควรตัดแต่งกิ่งและลำต้นที่เล็กออก แล้วพรวนดินให้ทั่วรอบกอ ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก กอละประมาณ 5–10 กิโลกรัม แล้วนำหญ้าที่ถอนออกมาคลุมโคนต้นไว้ หรืออาจเป็นใบไม้แห้ง ฟางข้าวก็ได้ เพื่อเก็บรักษาความชื้นในดินไว้ ควรให้น้ำตลอดช่วงฤดูแล้ง เพื่อเร่งการเจริญเติบโต เมื่อไผ่มีอายุได้ 8 เดือน ขึ้นไปก็จะสามารถให้หน่อได้และเพิ่มจำนวนต้นในแต่ละกอ เพื่อจะได้ปริมาณจำนวนต้นไว้ผลิตหน่อในฤดูต่อไป
เมื่อปลูกไผ่เลี้ยงได้ประมาณ 2 ปี ต้องมีการตัดต้นที่แก่และชิดกันออก ให้แต่ละกอเหลือจำนวนต้นอยู่ประมาณไม่เกิน 12 ต้น ควรตัดแต่งกิ่งทุกปี ปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม
หลังจากตัดแต่งกิ่งเสร็จ ให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก กอละประมาณ 15-20 กิโลกรัม แล้วรดน้ำทันทีเพื่อเร่งให้ได้ผลผลิตในช่วงต้นฤดูแล้ง ซึ่งจำหน่ายได้ราคาสูงลักษณะของหน่อไผ่ที่เหมาะสมต่อการเก็บผลผลิต ต้องรอให้หน่อไผ่พ้นขึ้นมาจากดินประมาณ 4-6 วัน จะมีขนาดประมาณ 30-40 เซนติเมตร จึงจะสามารถตัดได้ มีขนาดพอดีไม่แก่เกินไป และเป็นที่ต้องการของตลาด และราคา 15-20 บาท จะอยู่ในช่วงฤดูมีหน่อไม้ออก
คุณสงบ จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 50-60 บาท อาจราคาสูงกว่านี้ในต้นฤดูกาลหรือนอกฤดูกาล นอกจากหน่อไผ่สดที่คุณสงบจำหน่ายแล้ว หน่อไผ่เลี้ยงยังสามารถแปรรูปเป็นหน่อไม้อัดปี๊บและบรรจุถุงขายทั้งในฤดูและนอกฤดูได้อีกด้วย ซึ่งวิธีการผลิตก็ทำได้ไม่ยาก คือ นำหน่อไม้มาเผาแล้วแกะเอาเปลือกออก หลังจากนั้นนำออกมาต้มให้สุก ช่วงที่ต้มใส่เกลือปรุงรสเล็กน้อย แล้วนำบรรจุถุงออกจำหน่ายในราคาถุง 20 บาท มีรสชาติอร่อย และยังสามารถเก็บไว้รับประทานได้นาน ถ้าใส่ตู้เย็นเก็บไว้ได้ถึง 10 วัน
การผลิตไผ่นอกฤดูกาล
- เดือนธันวาคม จะทำการตัดต้นและแต่งกิ่งเหลือไว้ประมาณ 3-5 ต้น/กอ หลังจากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม
2. หลังจากนั้นให้หว่านปุ๋ยยูเรีย จำนวน 2-4 กำมือ/กอ หว่านให้ห่างโคนต้นประมาณ 20 เซนติเมตร โดยอย่าให้ปุ๋ยถูกหน่อโดยเด็ดขาดจะทำให้เกิดการเน่าเสีย
3. เมื่อใส่ปุ๋ยแล้วรดน้ำทันทีจนปุ๋ยจะละลายหมด และรดน้ำติดต่อประมาณ 4-5 วัน เพื่อให้ปุ๋ยละลายเต็มที่
4. ให้สังเกตดูสภาพดินหรือความชื้น ถ้าดินเริ่มแห้งต้องให้น้ำ
5. หลังจากนั้น ประมาณ 1 เดือน ไผ่เลี้ยงจะเริ่มออกหน่อ จากนั้นจะให้ปุ๋ย 15-15-15 ประมาณ 2 ช้อนแกง/กอ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม และให้หมั่นสังเกตอาการหน่อไม้ว่าขาดน้ำหรือไม่ (อาการกาบใบเหลือง) หรือขาดปุ๋ย (หน่อน้อย)
6. การเก็บหน่อไม้ ควรเก็บทุกวัน
อาจารย์สงบ สุขันธ์ เล่าให้ฟังว่า ช่วงประมาณเดือนมิถุนายน คัดเลือกต้นที่สมบูรณ์และใหญ่ไว้ เหลือกอละ 10-12 ส่วนที่เหลือตัดทิ้งหรือนำไปจำหน่ายหรือนำไปใช้ประโยชน์ สำหรับในการผลิตหน่อไม้ครั้งต่อไป ควรมีการตัดต้นและแต่งกิ่งควรเหลือต้นเก่าไว้ประมาณ 2 ต้น
ด้านคุณจำนงค์ ขันกสิกรรม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กล่าวเสริมว่า อาจารย์สงบ นอกจากจะมีการผลิตไผ่นอกฤดูกาลแล้ว ยังได้มีการปักชำกล้าไผ่ไว้จำหน่าย หน่อละ 30 บาท การทำหน่อไม้ปี๊บ/ถุง การทำหน่อไม้ดองไว้จำหน่าย จากการปฏิบัติดังกล่าว ทำให้เกิดรายได้ประมาณปีละ 700,000 บาท และมีค่าใช้จ่ายในด้านปัจจัยการผลิต ประมาณ 200,000 บาท คงเหลือกำไร 500,000 บาท
ไผ่เลี้ยง เป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้ตลอดทั้งปี ดูแลรักษาง่าย วิธีการปลูกก็ง่ายไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับโรคระบาดต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับต้นไผ่เพราะยังไม่ปรากฏชัดเจน อาจมีปัญหาเรื่องหนอนหรือตัวด้วงบ้างที่มาเจาะกินต้นไผ่ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ สามารถกำจัดและดูแลรักษาให้ดีได้ จึงเป็นพืชที่สามารถปลูกร่วมกับการทำการเกษตรกรรมชนิดอื่นๆ ได้ดีมาก สร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ยังได้คัดเลือกให้เป็นจุดสาธิตการปลูกไผ่เพื่อการค้า ของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลศรีบุญเรือง ซึ่งเกษตรกรสามารถจะเข้าเยี่ยมชมหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จะซื้อผลผลิตสามารถติดต่อได้ที่อาจารย์สงบ สุขันธ์ โทร. 085-764-3234