บุญช่วย มั่นแย้ม เพาะเลี้ยงเห็ดเพื่อชีวิต สู้ชีวิตที่ลับแล อุตรดิตถ์

งานเพาะเห็ดหากจะทำเป็นอาชีพ ผู้เพาะเห็ดจะต้องมีใจรักในเนื้องานจริงๆ เพราะการเพาะเห็ดเป็นงานละเอียดอ่อน อาศัยความขยันขันแข็ง อดทน และต้องมีใจสุขุมเยือกเย็น ขืนใจร้อนจะเพาะเห็ดไม่สำเร็จเลย

เกษตรกรมือใหม่มักคิดว่า “การเพาะเห็ด” เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้เข้ามาทุกวันได้ “การเพาะเห็ด” จึงเป็นลำดับต้นๆ ที่เกษตรกรมือใหม่เลือกที่จะทำเมื่อย่างก้าวเข้าสู่ภาคเกษตร เพราะคิดว่าการเพาะเห็ดไม่ยากจนเกินไป ประการสำคัญคือ สามารถเก็บเห็ดขายได้ทุกวัน แต่เมื่อลงมือทำแล้วเกษตรกรมือใหม่เป็นจำนวนมากยอมรับว่าการเพาะเห็ดไม่ได้ง่ายเหมือนอย่างที่ใจคิด การเพาะเห็ดหากจะให้ประสบความสำเร็จทำเป็น “งานอาชีพ” ได้ เกษตรกรต้องทุ่มเทดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดและจริงจัง

ป้าบุญช่วย มั่นแย้ม

เพาะเห็ด รายได้ดีกว่าทำนา

ป้าบุญช่วย  มั่นแย้ม เป็นผู้เพาะเห็ดเป็นอาชีพหลัก อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 93 หมู่ 4 ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์  ป้าบุญช่วยกล่าวว่า งานการเพาะเห็ดเป็นงานเบา แต่เป็นงานละเอียด การเพาะเห็ดให้ได้ดี คนทำต้องเป็นคนขยัน เป็นคนช่างสังเกต และรักที่จะเพาะเห็ดเป็นอาชีพ

” อาชีพเพาะเห็ดดี มีพื้นที่น้อยก็ทำได้ รายได้จากการเพาะเห็ดเฉลี่ยแล้วไม่ต่างอะไรกับการทำนาที่ต้องใช้พื้นที่มาก” ป้าบุญช่วยกล่าว

อาชีพการเพาะเห็ดดี ใช้พื้นที่น้อยแค่ 2 งาน สามารถเพาะก้อนเห็ดได้หลายหมื่นก้อน ทยอยเก็บดอกเห็ดได้ทุกวัน ต่างจากการทำนาที่ต้องใช้พื้นที่มาก สมมุติ นา 1 ไร่ ทำ 3 เดือน ได้ข้าวเปลือก 1 เกวียน ขายข้าวเปลือกไป หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือเงินกำไร 5,000 บาท แต่กับการเพาะเห็ด ใช้พื้นที่ 2 งาน ทำ 3 เดือน รายได้จะดีกว่าทำนา 3 เดือน ใน 1 ไร่ เสียอีก

เส้นทางอาชีพเพาะเห็ด

ป้าบุญช่วย ก้าวเข้าสู่วงการเพาะเห็ด เมื่อปี 2539 หลังเข้ารวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ตำบลทุ่งยั้ง ซึ่งมีทั้งหมด 9 หมู่ แบ่งกลุ่มอาชีพออกเป็น 3 กลุ่ม ให้เกษตรกรแยกกันทำ ได้แก่ กลุ่มอาชีพการเพาะเห็ด, กลุ่มอาชีพทำนา และกลุ่มอาชีพเลี้ยงสุกร

ก้อนเชื้อเห็ดในโรงเรือน

กลุ่มอาชีพเพาะเห็ดได้จัดตั้ง กลุ่มสหกรณ์ผู้เพาะเลี้ยงเห็ดลับแล จำกัด มีสมาชิก 175 คน กระจายกันเพาะเห็ดตามหมู่ต่างๆ 7 กลุ่ม ในตำบลทุ่งยั้ง และตำบลไผ่ล้อม สำหรับกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงเห็ดกลุ่มที่ 5 อยู่ที่ หมู่ที่ 9 ตำบลทุ่งยั้ง ที่ป้าบุญช่วย มั่นแย้ม เป็นประธานกลุ่มนั้น มีสมาชิกกลุ่ม 33 ราย แต่ละรายแยกกันทำรายได้เป็นของส่วนตัว ไม่ขึ้นกับกลุ่ม แต่สมาชิกกลุ่มต้องซื้ออุปกรณ์การเพาะเห็ดที่สหกรณ์ของกลุ่มเท่านั้น เงินรายได้ในส่วนของสหกรณ์จะปันผลแก่สมาชิกอีกทีหนึ่ง

ใช้ถังน้ำมันนึ่งที่ปากถัง มัดถุงพลาสติก

“เริ่มเพาะเห็ดฮังการี เห็ดภูฐาน เห็ดเป๋าฮื้อก่อน โรงเรือนเพาะเห็ดใหม่ๆ ก็ไม่ค่อยกล้าลงทุนเท่าไร ใช้ใต้ถุนบ้านที่ทำเป็นยุ้งข้าวเป็นที่เปิดก้อนเชื้อเห็ดก่อน”

ป้าบุญช่วย เล่าต่อว่า เมื่อเก็บเห็ดขายพอมีรายได้เข้ามาก็เริ่มสนใจเรียนรู้การทำเห็ดอย่างจริงๆ จังๆ พอมีความชำนาญจึงขยายเพาะเห็ดหูหนู เห็ดขอนขาว เห็ดนางนวล เห็ดลม และอีกหลายชนิดเห็ดเพิ่ม จากการที่กล้าๆ กลัวๆ ก็เริ่มมีความมั่นใจ สร้างโรงเรือนเพาะเห็ดมาตราฐานขึ้นมา และนับจากนั้นก็เพาะเลี้ยงเห็ดทำเป็นอาชีพเรื่อยมา

วิธีการเพาะเห็ด

สำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ที่สนใจอยากเพาะเห็ดเป็นรายได้เสริม ป้าบุญช่วย แนะนำว่า ควรฝึกความชำนาญไปก่อนที่จะลงมือเพาะเห็ดเป็นอาชีพ เริ่มจากจัดหาอุปกรณ์เพาะเห็ด มีขี้เลื่อย ถุงพลาสติก คอขวดพลาสติก ฝาจุกที่ปิดคอขวด ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์จะง่ายกว่า แต่เวลาอบรมการเพาะเห็ดมักจะแนะนำให้ใช้สำลีปิดก้อนเห็ด

ดอกเห็ดออกจากก้อน

จากนั้นก็ต้องหาฟางข้าว ถ้ามีฟางข้าวในนาตัวเองก็ไม่ต้องซื้อ แต่ถ้าไม่มีก็ต้องซื้อ ราคาซื้อขาย กระสอบละ 35-40 บาท แล้วก็ซื้อขี้เลื่อยมาเป็นส่วนผสมในการทำก้อนเชื้อเห็ด

นำฟางข้าวมาสับผสมกับขี้เลื่อย ใช้สูตรขี้เลื่อย 1 คันรถปิกอัพ 50 กก. ฟางสับ 1 กระสอบ ดีเกลือ 2 กก. รำ 60 กก. ปูนขาว 1 ถุง คลุกเคล้าให้เข้ากันรดน้ำให้พอหมาด ใช้มือกำส่วนผสมหากกำแล้วคลายมือออก ส่วนผสมขี้เลื่อยจะแตกออกไม่กำแน่นเป็นใช้ได้

นำขี้เลื่อยผสมใส่ในถุงพลาสติกอัดให้แน่น ใช้ไม้ตีเบาๆ จากนั้นก็ใส่คอขวดที่ปากถุง ปิดด้วยพลาสติกหรือกระดาษ รัดหนังยางให้แน่น นำก้อนใส่ลงในถังนึ่งที่ใช้ถังน้ำมัน 200 ลิตร ภายในถังจะทำชั้นวางก้อนเห็ด เพื่อบรรจุก้อนเห็ดลงไปในถัง

วางถังบนเตาที่ก่อขึ้นมาเองแบบง่ายๆ ด้วยการหล่อปูนวางถังให้ใส่ฟืนด้านใต้ บนปากถังที่เปิดโล่งใช้ถุงพลาสติกขนาดใหญ่สวมปากถัง มัดถุงกับปากถังให้แน่น จากนั้นก่อฟืนใต้ถัง พอน้ำเดือดความร้อนจะดันถุงที่ปากถังโป่งพองขึ้น เป็นการเก็บความร้อนขณะน้ำร้อนในถังกำลังเดือด

หากไม่เก็บความร้อนไว้ขณะน้ำเดือด ไอน้ำจะลอยสู่ที่สูงออกนอกถังหมด ก้อนเห็ดจะไม่ได้รับความร้อนเต็มที่ สำหรับควันไฟที่เตาด้านล่างให้ปล่อยออกไปด้านหลัง ต้องนึ่งก้อนเห็ดประมาณ 3 ชั่วโมง จึงยกถังออกจากเตาพักไว้จนเย็นอีกประมาณ 6 ชั่วโมง

เตานึ่งก้อนเห็ด

หากต้องใช้แก๊สแทนฟืนจะประหยัดเวลาไปอีก 1 ชั่วโมง คือใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น พอน้ำในถังเย็นก็เอาก้อนเชื้อเห็ดออกมาเขี่ยเชื้อเห็ดที่เป็นข้าวฟ่าง ลงในถุงก้อนเชื้อแล้วปิดก้อนเชื้อให้แน่น ทิ้งไว้ 20 วัน เชื้อก็จะเดินเต็มก้อน

สังเกตเชื้อเห็ดสีขาวจะเดินจากปากก้อนลงสู่ก้นถุง หากเป็นหน้าฝน ใช้เวลา 25 วัน เชื้อจึงจะเดินเต็มก้อน เมื่อเชื้อเดินเต็มก้อนก็เอาก้อนเห็ดเข้าไปเรียงบนชั้น หรือแขวนเชือกในโรงเรือนแล้วเปิดก้อนเชื้อเพื่อให้เห็ดออกดอก

โรงเรือนเพาะเห็ด

สำหรับโรงเรือนของป้าบุญช่วยนั้น เป็นโรงเรือนกว้าง 4 วา ยาว 6 วา ในโรงเรือนทำชั้นวางก้อนเห็ดและทำคานผูกก้อนเชื้ออีกส่วนหนึ่ง นำก้อนเห็ดแขวนเชือก และวางเรียงบนชั้นแล้วก็เปิดจุกก้อนเชื้อออก

หากเป็นช่วงหน้าร้อนให้รดน้ำบางๆ ที่ก้นก้อนเชื้อ อย่าให้น้ำกระเซ็นไปถูกเชื้อที่ปากถุงจะเน่าเสีย การที่ต้องรดน้ำเบาๆ ก็เพื่อให้เกิดความเย็นเชื้อเห็ดจะสมบูรณ์เต็มที่ อุณหภูมิในโรงเรือนอยู่ระหว่าง 28-32 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิสูงเกิน 35 องศา เชื้อจะหยุดเดินทันที และอุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศา เชื้อก็จะเดินได้ดีเช่นกัน

บรรจุขี้เลื่อยทำก้อนเห็ด

การเปิดดอกเห็ด

หลังจากเปิดดอกหรือเปิดก้อนเห็ด ประมาณ 7-10 วัน เห็ดก็จะออกดอก รุ่นแรก สามารถเก็บดอกเห็ดได้เช้า-กลางวัน-เย็น แล้วก็จะค่อยๆ วายเก็บได้เช้ากับเย็นจนหมดรุ่น ทิ้งไว้อีก 7-9 วัน ก็จะเกิดดอกเห็ด เป็น รุ่นที่ 2 ได้อีก

พอ รุ่นที่ 3 ทิ้งช่วงรอให้ดอกเห็ดออกประมาณ 1-2 อาทิตย์ ดอกเห็ดจะสลับออกไปเรื่อยๆ ประมาณ 3 เดือน จนกว่าก้อนเชื้อเห็ดจะดำจึงหมดรุ่น เอาก้อนเชื้อออกจากโรงเรือน นำก้อนเชื้อเห็ดรุ่นต่อไปเข้าโรงเรือนแทน

ระหว่างที่เอาก้อนเชื้อเห็ดออก ก็ต้องเปิดโรงเรือนด้านข้างให้ภายในโรงเรือนโล่งผึ่งลมให้แห้ง ฉีดยาป้องกันเชื้อรา แมลงหวี่ หมัดกระโดด และแมลงปีกแข็งตัวเล็กๆ ที่จะเข้าไปทำลายดอกเห็ด ทำความสะอาดโรงเรือนให้ดี จากนั้นก็ปิดโรงเรือนนำก้อนเชื้อเห็ดเข้าเพาะเป็นรุ่นต่อไป

คำแนะนำในการเพาะเห็ด

ป้าบุญช่วย บอกว่า การเพาะเห็ดจะต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติที่จะเกิดกับก้อนเชื้อและเกิดกับดอกเห็ด เรื่องความสะอาดนั้นสำคัญมาก หากไม่สะอาดจะเกิดเชื้อราดำ ราเหลือง และราเขียวได้ง่าย พบเห็นก้อนเห็ดทำท่าจะเกิดเชื้อรา ให้เอาก้อนนั้นออกจากโรงเรือนทันที

ด้านตลาด

ป้าบุญช่วย บอกว่า มีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาซื้อถึงบ้าน ราคาขึ้นลงตามตลาดและภูมิอากาศ ถ้าอากาศดีเห็ดติดดอกมากราคาก็จะตก แต่ถ้าอุณหภูมิสูงหรือต่ำ หนาวหรือร้อนจัดเห็ดจะออกน้อยราคาก็ดี

การบริหารจัดการต้องวางแผนการผลิตเห็ดให้ได้ทุกวัน จึงจะมีรายได้เข้ามาสม่ำเสมอ และไม่เสียตลาดที่จะเข้ามารับซื้อ ถ้าช่วงไหนที่เห็ดออกมากราคาซื้อขายตก ทางกลุ่มมักจะนำเห็ดมาแปรรูปโดยการทำแหนมเห็ด หรือกรอบเค็มเห็ด ของกลุ่มได้รับความนิยมมีชื่อเสียงมาก เห็ดแปรรูปจะมีขายเป็นช่วงๆ ไม่เสมอไปอยู่ที่ราคาเห็ดสด ถ้าราคาเห็ดสดดี ราคาขายสูงเห็ดแปรรูปก็จะไม่มีขาย เพราะถ้าทำเห็ดแปรรูปออกมาจะไม่คุ้ม เนื่องจากราคาเห็ดสดสูง ต้องรอจนเห็ดสดราคาตกจึงจะมีเห็ดแปรรูปออกมาให้ทานกัน

หากใครสนใจเรื่องการเพาะเลี้ยงเห็ด หรือสนใจซื้อก้อนเห็ดไปทำเอง สามารถปรึกษาป้าบุญช่วยได้ที่เบอร์โทร. 088-426-4854

 

………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2018

UPDATE ข้อมูล 8/6/64