กรมการข้าว นำร่องใช้ระบบตรวจรับรองเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยเทคโนโลดิจิทัล หวังยกระดับมาตรฐาน GAP Seed ครอบคลุมทั้งระบบ

นายประสงค์ ทองพันธ์ ผู้อำนวยการกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ กรมการข้าว เปิดเผยว่า ปัจจุบันความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้เพาะปลูกอยู่ที่ปีละ 1,398,492 ตัน โดยเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองปีละประมาณ 685,261 ตัน คิดเป็น 49% ของปริมาณความต้องการใช้ทั้งหมด ขณะที่ส่วนที่เหลืออีก 713,231 ตัน หรือ 51% เป็นเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรต้องซื้อหา ทั้งจากกรมการข้าว สหกรณ์การเกษตร ศูนย์ข้าวชุมชน ผู้ประกอบการ ผู้รวบรวมรวบผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว และซื้อจากเพื่อนบ้านในท้องถิ่น ซึ่งเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หากเกษตรกรได้ใช้เมล็ดพันธุ์ตั้งต้นที่ดีมีคุณภาพ ผลผลิตข้าวที่ออกมาก็จะมีคุณภาพได้มาตรฐาน เป็นการเพิ่มโอกาสและรายได้ให้กับเกษตรกร

โดยในปี 2562 กรมการข้าวมีเป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพและให้การรับรองตามมาตรฐาน GAP Seed ดังนี้

– พัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของกลุ่มเกษตรกร 2,500 แปลง

– พัฒนาสถานที่รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ 100 แห่ง

– พัฒนาระบบควบคุมภายใน (ระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแบบกลุ่ม) 30 กลุ่ม

ซึ่งคาดว่าจะได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีจำนวน 25,000 ตัน

กรมการข้าวมีนโยบายผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีมีคุณภาพและเพียงพอต่อความต่อการใช้ของชาวนา โดยพัฒนาส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพให้กับสมาคม/ชมรมผู้ประกอบการรวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว สหกรณ์การเกษตร ศูนย์ข้าวชุมชน กลุ่มเกษตรกรธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว ให้มีการผลิตตามแนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (GAP Seed) เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน เพื่อการจำหน่ายและซื้อหาในท้องถิ่น พร้อมส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีไว้ใช้เอง ภายใต้โครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ในครัวเรือน โครงการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี เป็นต้น ขณะเดียวกัน กรมการข้าว โดย พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือที่เรียกว่า “สารวัตรข้าว” ออกปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบ กำกับ ควบคุม การผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวของผู้ประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว ให้มีคุณภาพได้มาตรฐานเป็นไปตาม พ.ร.บ. พันธุ์พืชฯ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ กรมการข้าว โดย กองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ e – Rice Regulator System : e – RRS) เพื่อตรวจติดตามสถานประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว และระบบฐานข้อมูลการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (มกษ.4406) ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e – GAP Seed : e – GS) เพื่อตรวจประเมินตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (มกษ.4406) โดยนำมาใช้กับแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว (ระดับแปลง) การปรับปรุงสภาพและคัดบรรจุ (ระดับสถานที่รวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า) และระบบควบคุมภายใน : ICS (ระดับกลุ่ม) เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว การตรวจสถานประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เชื่อถือในระบบคุณภาพและมาตรฐานของเมล็ดพันธ์ข้าวของไทย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพดี เป็นผลให้เกิดการพัฒนาและยกระดับการผลิตข้าวคุณภาพดีของประเทศไทยต่อไป