เกษตรฯ เตือนผู้ปลูกพริก ระวังโรคเหี่ยวเหลือง

กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนผู้ปลูกพริกระวังโรคเหี่ยวเหลืองทำลายผลผลิตในช่วงอากาศชื้น

นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาในระยะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากลมมรสุม เกิดหย่อมความกดอากาศต่ำ ทำให้อากาศชื้นและมีฝนต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อราสาเหตุของโรคพืชต่างๆ ได้

นายประสงค์  ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

กรมส่งเสริมการเกษตร จึงแนะนำให้เกษตรกรหมั่นสำรวจพืชที่ปลูกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกพริกให้ระวังเชื้อราทำลายผลผลิต เช่น โรคเหี่ยวเหลือง ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา Fusarium Oxysporum ในช่วงระยะพัฒนาทางด้านลำต้นถึงเริ่มมีดอก พบมากในดินที่เป็นกรด ซึ่งสาเหตุหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้สารเคมีมากเกินไป นอกจากนี้ โรคเหี่ยวเหลืองพริกจะแพร่ระบาดได้ดีในสภาพอากาศมีความชื้นสูง โดยสามารถแพร่ระบาดไปกับน้ำ ฝน ลม และส่วนขยายพันธุ์

โรคเหี่ยวเหลืองพริก ลักษณะอาการที่สังเกตได้คือ เริ่มแรกเชื้อจะเข้าทำลายโคนต้น โดยใบที่โคนต้นมีอาการใบเหลืองและเหี่ยว หากอาการรุนแรงจะพบรอยช้ำที่โคนต้น ต้นหักพับ ใบเหลืองแห้ง และเหี่ยวตายในที่สุด ระยะเวลาเกิดโรค ประมาณ 2-7 วัน หลังเชื้อเข้าทำลาย

โรคเหี่ยวเหลืองพริก

รองอธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการป้องกันกำจัดเมื่อพบอาการของโรคให้ตัดส่วนที่เป็นโรคหรือถอนต้นเป็นโรคออกมาเผาทำลายนอกแปลงปลูก เปลี่ยนทิศทางการให้น้ำไม่ให้ไหลจากต้นที่พบอาการของโรคไปยังต้นอื่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค

สำหรับการกำจัดเชื้อที่อาจอยู่ในดินด้วยการขุดดินบริเวณต้นที่เป็นโรคออกมาตากแดดจัด ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาฉีดพ่นทางใบพืชปลูกอย่างต่อเนื่อง โดยเกษตรกรสามารถเรียนรู้การผลิตขยายเชื้อราไตรโคเดอร์มาใช้ได้เองจากศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน อย่างไรก็ตาม วิธีการป้องกันการเกิดโรคพืช ก่อนปลูกให้ใช้เชื้อรา

ไตรโคเดอร์มารองก้นหลุมและใช้คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ รวมถึงการปลูกพืชหมุนเวียนซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพืชอย่างหนึ่ง