กยท. จัดกิจกรรมทำความดีถวายพ่อหลวง แจกผ้าห่มและอุปกรณ์ต้านภัยหนาว

เมื่อเร็วๆ นี้ การยางแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมทำความดีถวายพ่อหลวง ร่วมแจกผ้าห่มและอุปกรณ์ต้านภัยหนาวแก่ชาวเขาในพื้นที่ ต.นาสิริ พร้อมประเดิมเปิดกรีดยางในสวนยางนาสิริ เพื่อเป็นรายได้ของคนในชุมชน
ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พื้นที่ในตำบลนาสิริ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ในโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตบ้านนาศิริ อันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เพื่อให้เกิดการพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ และเป็นคนดีตามแนวทางของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งนี้ การเพิ่มพื้นที่และฟื้นฟูสภาพป่าไม้เป็นสิ่งที่สำคัญ ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ความว่า “เมื่อป่าเพิ่มขึ้น น้ำก็จะเพิ่มขึ้น ถ้าอบรมชาวบ้านว่า ป่าคือแหล่งน้ำ ให้พิจารณาดูว่าป่าสำคัญที่สุด ไม่มีความชุ่มชื้นก็ไม่ดีต่อการหายใจ…” กยท. จึงมีความตั้งใจที่จะเข้าไปพัฒนาพื้นที่ ทั้งการปรับเปลี่ยนการประกอบอาชีพ โดยส่งเสริมการปลูกยางและพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ที่สามารถสร้างรายได้อย่างสุจริต

ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า ครั้งนี้ กยท. ได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการความดี ภายใต้ “โครงการทำความดีถวายพ่อหลวง เพื่อสังคม CSR รับผิดชอบต่อสังคม” โดยได้รับเกียรติจาก นายประสิทธ์ หมีดเส็น และนายสาย อิ่นคำ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและพนักงาน กยท.เขตภาคเหนือ ร่วมแจกผ้าห่มต้านภัยหนาว จำนวน 150 ชุด เสื้อกันหนาว จำนวน 122 ตัว ถุงมือและถุงเท้า จำนวน 150 คู่ ข้าวสาร จำนวน 70 ถุง อุปกรณ์กีฬามูลค่า 4,050 บาท ปุ๋ยเคมีมูลค่า 2,460 บาท อุปกรณ์เปิดกรีดยางพารา (ถ้วย ลวด รางรองรับน้ำยาง) จำนวน 520 ชุดพร้อมมีดกรีดยางจำนวน 3 ด้าม หมอนยางพาราเด็กเล็กจำนวน 40 ใบ ตลอดจนเสื้อผ้าเด็ก ของเด็กเล่น และขนมอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งมอบให้กับชาวบ้านเผ่ามูเซอที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ต.นาสิริ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ประมาณ 150 ครัวเรือน

“การจัดงานครั้งนี้ กยท.ได้รับเกียรติจากชาวนาสิริ ในการทำพิธีเปิดกรีดยางครั้งแรกของสวนยางที่นาสิริ ที่ปลูกตั้งแต่ปี 2546 จำนวน 520 ต้น ตามโครงการพระราชดำริ เพื่อนำรายได้จากการขายยางพาราส่วนหนึ่งมาใช้เป็นทุนอาหารกลางวันของเด็กเล็กในหมู่บ้าน ซึ่งตอนนี้ต้นยางเหล่านั้นมีอายุ 13 ปี อยู่ในสภาพที่เติบโตและมีความสมบูรณ์พร้อมที่จะเปิดกรีดหน้ายางเพื่อให้เป็นรายได้ให้กับเกษตรกรและคนในชุมชนได้” ดร.ธีธัช กล่าว