เลี้ยงปลาสวาย แบบลดต้นทุน สร้างรายได้ดีมีผลกำไร

คุณเม่งฉ่อง นิลพัฒน์ เป็นเจ้าของ หรือที่คนชอบตกปลารู้จักสถานที่แห่งนี้ดี ในชื่อ บ่อตกปลานิลพัฒน์

คุณเม่งฉ่อง ชายผู้มากด้วยรอยยิ้มและมีอารมณ์ขัน เล่าให้ฟังว่า การประกอบสัมมาอาชีพในชีวิตของเขานั้น เรียกง่ายๆ ว่ามากมายหลากหลายอาชีพ อะไรที่คิดว่าทำแล้วเป็นการสร้างรายได้ทำหมดทุกอย่าง เพราะชีวิตคือ การต่อสู้

“ชีวิตผมนี่ ถ้าพูดกันแบบยาวๆ จนมาขณะนี้ ทำมาหลายอย่าง ทำสวนผักบ้าง สวนผลไม้บ้าง คราวนี้พอดินที่ปลูกไม่ดีก็ไปเป็นพนักงานขับรถ พอขับรถมาได้ระยะก็มาแต่งงาน ซึ่งตอนนั้นแม่ยายเขาทำบ่อปลาอยู่ ก็เลยลองขอลูกปลาเขามาทดลองเลี้ยง พอเลี้ยงไปได้ขนาดก็ไปจำหน่าย มันก็ได้เงินดีเหมือนกัน ทำไปทำมาก็หาเช่าที่เพื่อทำการเลี้ยงอย่างเต็มตัว” คุณเม่งฉ่อง เล่าถึงการดำเนินชีวิตที่ผ่านมา

ในช่วง ปี 2526 คุณเม่งฉ่อง เล่าว่า เลี้ยงพวก ปลานิล ปลาตะเพียน และปลาสวาย ในเนื้อที่ประมาณ 30-50 ไร่ ต่อมาขยับขยายพื้นที่มาเรื่อยๆ มีทั้งที่ดินตนเอง และเช่าที่บุคคลอื่น เลี้ยงปลามาจนถึงปัจจุบันนี้ ประมาณ 500 ไร่ โดยปลาที่เลี้ยงหลักๆ จะเน้นที่ ปลาสวาย

“ลูกพันธุ์ปลาสวายที่เราใช้เลี้ยง ซื้อมาจากนครสวรรค์ ซึ่งช่วงนั้นยังมีให้เลือกไม่มากนัก พอเรารู้จักคนมากขึ้น เราก็มีตัวเลือก ไม่ได้รับเจ้าไหนเป็นเจ้าประจำ เพราะว่าต้องประหยัดเรื่องเงินทุน เจ้าไหนที่เขาจำหน่ายให้เราได้ราคาถูก เราก็จะซื้อเจ้านั้นหมุนเวียนกันไป ก็ไม่ต้องไปผูกขาดกับใครมากนัก” คุณเม่งฉ่อง เล่าถึงอุปสรรคของการหาซื้อลูกพันธุ์ปลาสวายในช่วงแรก

จากประสบการณ์ที่มากกว่า 30 ปี ทำให้เวลานี้ปลาสวายของคุณเม่งฉ่องเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง จนมีบริษัทส่งออกมารับถึงที่ เพื่อส่งไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย

คุณเม่งฉ่อง บอกว่า ขนาดบ่อที่เลี้ยงนับว่ามีความสำคัญมาก ซึ่งถ้าใครมีพื้นที่บ่อขนาดเล็ก ประมาณ 1 ไร่ ให้ใส่ปลาสวายไซซ์ใหญ่ อายุ 3-4 เดือน เลี้ยงประมาณ 3,000 ตัว แต่ถ้าเป็นลูกปลาที่มีขนาดเล็ก ประมาณก้านไม้ขีดไฟ สามารถใส่ลงไปอนุบาลได้ ประมาณ 100,000 ตัว

Saway 8

“เราสามารถเลี้ยงเพื่อจำหน่ายได้หลายขนาด อย่างเราเอาไซซ์เล็กมาอนุบาลในบ่อ ขนาด 1 ไร่ พอเลี้ยงได้ขนาดไซซ์เท่าไม้บรรทัด อายุ 3-4 เดือน เราก็จับจำหน่ายได้เลย เพื่อให้มีรายได้บ้าง แล้วก็เหลือไว้ในบ่อสัก 3,000 ตัว พอโตขนาดใหญ่ก็จับจำหน่ายได้อีก อันนี้เป็นวิธีสำหรับคนมีเนื้อที่เล็กๆ นะ เมื่อก่อนผมก็เริ่มแบบนี้ก่อน” คุณเม่งฉ่อง กล่าว

เนื่องจากการเลี้ยงปลาสวายของคุณเม่งฉ่องเลี้ยงในปริมาณมาก รูปแบบบ่อที่ใช้เลี้ยงจึงมีขนาดใหญ่มากกว่า 30 ไร่ ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวในเรื่องรูปทรง แต่ขอให้มีความลึกที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่ 5-6 เมตร บางช่วงของบ่อมีความลึกถึง 20 เมตร เพื่อให้ปลาสวายไม่สัมผัสกับผิวน้ำที่มีความร้อนมากเกินไป เพราะจะทำให้ปลาเครียด

เมื่อปลาได้ขนาดที่สามารถจำหน่ายได้ ก็จะใช้อวนลากจับโดยไม่วิดน้ำออกจากบ่อ และยังแบ่งพื้นที่อีกส่วนของบ่อกั้นด้วยตาข่ายสำหรับอนุบาลลูกปลา เมื่อปลาสวายไซซ์ใหญ่จำหน่ายหมด ก็จะปล่อยลูกปลาที่อนุบาลไว้ออกมาภายนอกเลี้ยงต่อไป

Saway 7

“บ่อที่ผมเลี้ยงแบบใหญ่ๆ นี่ ไม่ได้วิดน้ำให้แห้งแล้วมาจับปลานะ เพราะถ้าเกิดดินมันทรุด บ้านเขาทรุดเราจ่ายไม่ไหว เราก็ใช้อวนลากเอา พอปลาขนาดใหญ่จำหน่ายไปหมด เราก็เอาชุดเล็กที่อนุบาลแยกไว้มาเลี้ยง มันก็จะเป็นปลาที่เลี้ยงในรุ่นต่อไป” คุณเม่งฉ่อง อธิบาย

อาหารที่ใช้สำหรับเลี้ยงปลาสวายที่ฟาร์มแห่งนี้ ถ้าเป็นลูกปลาสวายที่อนุบาลไว้ จะให้กินอาหารเม็ด ที่มีโปรตีน 35-40 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเช้าและเย็น เมื่ออายุครบประมาณ 3-4 เดือน จะเปลี่ยนเป็นเศษอาหารที่ลดต้นทุน หาได้จากท้องถิ่น

“อาหารสำหรับปลาสวายที่ใหญ่มาหน่อย อายุเกิน 3 เดือน ก็จะเป็นพวกเศษอาหารพวกน้ำก๋วยเตี๋ยว บางทีก็เศษกระดูกเป็ด กระดูกไก่ เศษอาหารที่ได้จากห้างสรรพสินค้า อย่างเช้ามืดผมก็ไปเอาเศษผักตามตลาดสดมา เราก็ไปติดต่อขอมา เดี๋ยวนี้พอคนอื่นเลี้ยงเอาแบบนี้ให้ปลากิน ปลาโตดีก็เริ่มมีแย่งไปขอซื้อ จากของที่ดูไม่น่าจะมีราคาก็ลืมแย่งกันซื้อมา ส่วนวันหนึ่งให้กินเท่าไหร่ก็ไม่ได้กะเกณฑ์ เพราะปลามันไม่ได้ร้อง มีเท่าไหร่ก็ให้กินเท่านั้น ตามที่เราหาได้”

“ส่วนเรื่องตาย ก็ต้องมีบ้าง เพราะว่าเราเลี้ยงในปริมาณที่เยอะ มันเป็นธรรมดาที่ต้องมีตาย บางทีมันก็มีเงี่ยงทิ่มแทงกันเอง ของแบบนี้มันเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนเรื่องโรคก็ไม่ค่อยมีมากเท่าไหร่ บางทีเราก็ไม่รู้หรอก เพราะว่ามันอยู่ในน้ำเรามองไม่เห็น แต่ถ้าจัดการให้ดีเรื่องโรคก็ไม่เป็นปัญหา ปลาสวายนี่ก็อดทนพอควร” คุณเม่งฉ่อง กล่าว

คุณเม่งฉ่อง บอกว่า ปลาที่พร้อมจำหน่ายต้องเลี้ยงอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป จะมีน้ำหนักต่อตัวมากกว่า 3 กิโลกรัม โดยการเลี้ยงหลายๆ บ่อ เพื่อให้มีส่งจำหน่ายตลาดอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดช่วง

“ตลาดที่รับซื้อนี่ ทุกขนาดไซซ์รับซื้อหมด ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เพราะเขาก็ตีราคาตามของ แต่สำหรับเราคนเลี้ยง เราก็ต้องชอบให้ได้น้ำหนักเยอะๆ เพราะปลาที่เราเลี้ยงตัวใหญ่ ราคามันต้องแพงกว่าตัวเล็กแน่นอน” คุณเม่งฉ่อง กล่าว

ปลาสวายที่ฟาร์มของคุณเม่งฉ่องจำหน่ายอยู่ที่ ราคากิโลกรัมละ 28-32 บาท ซึ่งมีพ่อค้า แม่ค้า มารับซื้อถึงหน้าฟาร์ม

Saway 10

“เรื่องตลาด ตั้งแต่เลี้ยงมาก็ไม่มีปัญหา บางคนคิดว่าเกิดเลี้ยงมากๆ แล้ว จะไปส่งจำหน่ายที่ไหน ก็จะบอกว่าของแบบนี้ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย เดี๋ยวพอคนเห็นเขาก็มาซื้อที่เราเอง อย่างตอนนี้ดูนิยมกันมาก ก็เอาไปแปรรูปเอาหนังออก กระดูกออก เอาเนื้อขาวๆ ทำให้ดีแล้วส่งออกต่างประเทศ คนรู้จักมากขึ้น ก็มีความนิยมกันมากขึ้น” คุณเม่งฉ่อง เล่าถึงเรื่องการตลาด

นอกจากเลี้ยงเพื่อส่งจำหน่ายแล้ว คุณเม่งฉ่อง ยังแบ่งพื้นที่ของฟาร์มให้เป็นบ่อสำหรับให้ผู้ที่ชื่นชอบการตกปลา ได้มีกิจกรรมผ่อนคลายในช่วงวันหยุดอีกด้วย

“ผมก็ทำเป็นบ่อตกปลา ให้คนที่เขาชอบทางนี้ ก็คิดท่านละ 100 บาท พอเข้ามาก็เก็บเงินเลย มันก็เหมือนเป็นที่พักผ่อนสำหรับคนที่ชื่นชอบ บางคนนี่เก่งมากตกได้เยอะ ได้เขาก็เอาไปหมด มันก็เป็นความภูมิใจของเขาที่ได้มาตกปลา แล้วก็ได้เอาปลาที่ตกได้ไปอวดภรรยา เป็นอีกวิธีด้วยที่ให้เรามีรายได้ขึ้น” คุณเม่งฉ่อง กล่าวถึงวิธีคิดเพื่อเพิ่มรายได้

สำหรับผู้ที่สนใจอยากเลี้ยงปลาสวาย เพื่อสร้างรายได้เป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริมก็ตาม คุณเม่งฉ่อง แนะนำว่า

Saway 9

“อย่างคนมือใหม่ อย่างแรกเลยที่จะบอกแนะนำคือ บ่อที่เลี้ยงอย่าให้ตื้นกว่า 1.50 เมตร ให้ลึกลงไปกว่านี้ได้ยิ่งดี เพราะว่าถ้าตื้นกว่านั้นความร้อนมันจะลงไป ทำให้ปลาสวายเครียด มันไม่ตายแต่มันไม่โต เพราะสภาพแวดล้อมมันไม่เหมาะสม ยิ่งบ่อมีขนาดใหญ่ๆ ได้ยิ่งดี 5 ไร่ 10 ไร่ 30 ไร่ น้ำที่ใช้เลี้ยงก็ขอให้เป็นน้ำที่สะอาด อย่าให้มีปลาช่อน เพราะเวลาที่เราอนุบาลปลาเล็ก มันจะกินลูกปลาเราหมด ส่วนช่วงที่เอาลูกปลามาปล่อย ถ้าพื้นที่ไม่มากก็ปล่อยเลี้ยงแต่พอดี ไม่ต้องหนาแน่นมากเกินไป อาจจะเลี้ยงผสมกับปลานิลด้วยก็ได้ ผสมกันไปเลย มันก็จะแข่งกันโต พอปลานิลโตได้ดีได้ขนาดเราก็จับปลานิลจำหน่ายก่อน เราก็จะมีเงินไว้ใช้จ่ายบ้างประมาณนี้ ส่วนเรื่องการตลาดไม่ต้องไปกังวล เดี๋ยวคนซื้อมาหาเอง ส่วนการเลี้ยงก็อยากให้มีใจรักสักหน่อย เพราะเราก็จะอดทนรอ มีกำลังใจ พอจำหน่ายได้นั้นแหละคือความสำเร็จของเรา” คุณเม่งฉ่อง กล่าว

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณเม่งฉ่อง นิลพัฒน์ หมายเลขโทรศัพท์ (081) 839-2496