พลวัตเกษตรไทยรอบ20ปี เเรงงานหาย ทุนใหญ่ฮุบ อินทรีย์มาเเต่ไม่สุด ชาวนายังต้องช่วยตนเอง

จากคำกล่าวที่ว่า “เกษตรกร” เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของชาติ เเล้วตอนนี้สันหลังของชาตินั้นสภาพเป็นอย่างไร กลุ่มทุนเเละเทคโนโลยีก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญเช่นไร สังคมเกษตรไทยเปลี่ยนไปหรือยังไม่เดินหน้าไปไหน ในรอบ 20 ปี

ประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 ร่วมกับ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเวทีเสวนาวิชาการไทยศึกษา เเลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในหัวข้อ “พลวัตสังคมเกษตรในยุคเสรีนิยมใหม่”  ณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อ.ดร.เดชรัต สุขกำเนิด  คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึง “การเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตรไทยในรอบ 20 ปี” ระบุว่า ที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่มักอ่อนไหวเเละให้ความสำคัญกับการถือครองที่ดินเเละการใช้ที่ดินในภาคการเกษตร โดยมีความเป็นห่วงว่าการเพิ่มขึ้นของครัวเรือนการเกษตรใหม่ๆ จะทำให้ขนาดการถือครองที่ดินของเกษตรกรเล็กลงมากจนไม่สามารถอยู่ได้ หรือกังวลว่าพื้นที่การเกษตรจะสูญเสียเป็นเขตเมืองเเละอุตสาหกรรม

จากรายงานผลสำรวจพบว่า ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้นเล็กน้อยราวร้อยละ 5.3 จาก 5.65 ล้ายราย (ปี 2536) มาเป็น 5.91 ล้านราย (ปี2556) ขณะที่เนื้อที่ถือครองทางการเกษตรกลับมีจำนวนลดลงราว ร้อยละ 1.8 จาก 118.76 ล้านไร่ (ปี 2536) เหลือ 116.62 ล้านไร่ หรือลดลงประมาณ 2 ล้านไร่ในรอบ 20 ปี

“ดังนั้นการสูญเสียพื้นที่ทางการเกษตรจึงยังไม่ใช่ข้อห่วงกังวลหลักของภาคการเกษตรไทย”

ขณะที่เมื่อพิจารณาในเเง่พื้นที่การถือครองพบว่าครัวเรือนภาคการเกษตรส่วนใหญ่ของไทยมีพื้นที่ถือครองประมาณ10-30ไร่รองลงมาคือ1-10 ไร่ ต่อครอบครัว โดยครัวเรือนที่มีพื้นที่ถือครองขนาดเล็กกว่า 10 ไร่ มีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.11 ล้านราย (ปี 2536) มาเป็น 1.38 ล้านราย (ปี2556) ส่วนครัวเรือนผู้ถือครองเกิน 30 ไร่ยังมีจำนวนใกล้เคียงกับของเดิม

ดร.เดชรัต กล่าวอีกว่า จากสำมะโนการเกษตรในรอบ 20 ปีข้างต้น เเสดงให้เห็นว่าการล่มสลายของภาคการเกษตรเเละการล่มสลายของฟาร์มขนาดเล็ก ยังไม่ปรากฏชัดเจนดังเช่นที่หลายฝ่ายเป็นกังวลกัน

ปลูกข้าวลด ปลูกยาง-พืชไร่พุ่ง

ด้านโครงสร้างการใช้ที่ดินของภาคการเกษตรไทยมีการเปลี่ยนเเปลงพอสมควร โดยการปลูกข้าวลดลงจากร้อยละ 55.4 (ปี2536) เหลือร้อยละ 51.3 (ปี2556) ในขณะเดียวกัน พื้นที่การปลูกยางพารากลับเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากร้อยละ 8.0 เเละ 21.3 (ปี2536) มาเป็นร้อยละ 14.5 เเละ 22.4 (ในปี 2556) ตามลำดับ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีการปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นถึง 4 ล้านไร่ ในเวลา 10 ปี (2546-2556) โดยในเเง่ของที่ดินพบว่ามีการใช้เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน

“เกษตรตอบสนองต่อราคาช่วงไหนยางพาราราคาดีเกษตรก็จะเเห่ปลูกตามไปด้วยทิศทางของเกษตรกรจะเป็นไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเเล้วคือราคาดีเเล้วค่อยตามสวนทางกับการทำให้ถูกต้องตามหลักเกษตรคือเราต้องวางเเผนว่าอะไรปลูกเเล้วราคาดีจึงค่อยปลูก” ดร.เดชรัตกล่าว

วิกฤตวัยเเรงงานเกษตรหาย คนเเก่-ลูกจ้างต่างด้าวเพิ่ม

ดร.เดชรัตกล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดไม่ใช่เรื่องที่ดิน เเต่เป็นเรื่องเเรงงาน โดยหัวหน้าครอบครัวเกษตรจะมีอายุเพิ่มขึ้น กำลังน้อยลง ชราภาพยิ่งขึ้น  จากผลสำรวจพบว่า สัดส่วนของสมาชิกในครัวเรือนการเกษตรที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปีลดลงจากร้อยละ 45.4 (ปี 2536) เหลือเพียงร้อยละ 25.8 (ปี2556) เเละมีสมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุตั้งเเต่ 55 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.3 (ปี2536) มาเป็นร้อยละ 25.1 (ปี2556)

ดังนั้นสืบเนื่องจากการลดลงของประชากรวัยทำงานในภาคการเกษตรจึงทำให้มีความต้องการจ้างเเรงงานมากขึ้นโดยจำนวนลูกจ้างประจำทางการเกษตรเพิ่มขึ้นจาก6เเสนคน(ปี2546)มาเป็น1.1ล้านคน (ปี2556) โดยในจำนวนนี้ 144,280 คน เป็นเเรงงานข้ามชาติ ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงข้อมูลจำนวนลูกจ้างชั่วคราวซึ่งมีจำนวนมากเช่นกัน

ด้านการศึกษา ดร.เดชรัตระบุว่า หัวหน้าครอบครัวเกษตรที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามีเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 2.5 ขณะเดียวกันระดับมัธยมเเละอนุปริญญาก็มีเเนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.4 เเละ 2.6 ตามลำดับ

ทุนขนาดใหญ่ กับบทบาทเศรษฐกิจไทย

ในเเง่ของข้อมูล พบโครงสร้างของทุนในการผลิตที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการเปลี่ยนเเปลงด้านฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ ที่มีกลุ่มทุนเข้ามาครอบครองการผลิตเพิ่มขึ้นมากตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

รายงานระบุว่า สัดส่วนของฟาร์มสุกรที่มีขนาดใหญ่ตั้งเเต่ 500 ตัวขึ้นไป ผลิตสุกรได้ในสัดส่วนร้อยละ 27.4 (ปี2536) ของจำนวนสุกรที่ผลิตได้ทั้งประเทศนั้นได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48.3 (ปี2546) เเละเพิ่มมาดป็นร้อยละ 67 ของสุกรที่ผลิตได้ทั้งประเทศ ในปี 2556 (2 ใน 3 ของสุกรที่ผลิตได้ในปีดังกล่าว)

“กล่าวคือสุกรประมาณ 2 ใน 3 ของฟาร์มทั้งหมดในประเทศ ตกอยู่ในมือของฟาร์มสุกรรายใหญ่ซึ่งมีเพียงประมาณร้อยละ 1.5 ของฟาร์มสุกรทั้งประเทศ สวนทางกับการเลี้ยงสุกรในฟาร์มขนาดเล้ก น้อยกว่า 10 ตัว ซึ่งเคยมีสัดส่วนร้อยละ 21.8 ในปี 2536 ลดลงกว่าเกินเหลือเพียงร้อยละ 5.1 ในปี 2556 เท่านั้น อีกทั้งผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยกว่า 3 ใน4 เลิกเลี้ยงสุกรไปเเล้วใน 20 ปีที่ผ่านมา”

ดร.เดชรัตกล่าวว่า กลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้ามาครอบครองส่วนเเบ่งการตลาดในด้านปศุสัตว์มากกว่าการปลูกพืช โดยขณะนี้กลุ่มทุนใหญ่ยังไม่เข้ามาทำหน้าที่การผลิตโดยตรงในการกสิกรรม เพราะเห็นว่าเป็นกิจกรรมการผลิตที่มีความเสี่ยงสูง จึงยกภาระการเเบกความเสี่ยงไว้ให้แก่เกษตรกรเเทน โดยกลุ่มทุนจะเข้ามาทางอ้อมโดยการควบคุมปัจจัยการผลิตเเละการตลาดของผลผลิตมากกว่า

“การเปลี่ยนเเปลงของทุนเป็นการเปลี่ยนเเปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเเละรุนเเรง เเต่จำกัดวงในกิจกรรมที่กลุ่มธุรกิจสามารถควบคุมความเสี่ยงได้เท่านั้น  การพัฒนาทางเทคโนโลยีสำหรับการผลิตขนาดใหญ่ จึงเป็นปัจจัยชี้ขาดสำหรับเกษตรกรรายย่อยว่าจะสามารถดำรงอยู่ได้หรือต้องถูกเบียดขับออกไป” ดร.เดชรัตระบุ

เมื่อเจ้าของที่ดินเป็นเสมือน “เเรงงาน” กับเทรนด์เกษตรอินทรีย์ที่ไปไม่สุด

ด้านศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เเสดงความคิดเห็นว่า ถ้าดูจากความเป็นจริงคือที่นายังเป็นของเกษตรกร เเต่ในสมัยเสรีนิยมใหม่กระบวนการนี้ทำงานผ่านพันธะสัญญา เพราะฉะนั้นสิ่งนี้จึงเข้าไปกำกับควบคุมภาคที่ดิน ชี้ให้เห็นว่าเกษตรยังเป็นเจ้าของที่ดินอยู่จริง เเต่สถานภาพไม่ต่างจากการเป็นเเรงงานในระบบทุน อาจเป็นเจ้าของที่ดินเพียงในนามเท่านั้น

สำหรับเกษตรเเปลงใหญ่  จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี จึงมีการเข้าไปกำกับที่ดินเพื่อทำการเกษตร รวมไปถึงการดำเนินการเกษตรด้วย ดังนั้นการบอกว่าเกษตรเเปลงใหญ่จะทำให้ชาวนามีเสียงการต่อรองมากขึ้นนั้น อาจส่งผลตรงข้ามกันก็ได้ เพราะโดนผูกขาดโดยเทคโนโลยี สำหรับการกำกับโดยรัฐ ยังไม่ค่อยมีผลต่อกลไกตลาด ทั้งนี้ยังเป็นการส่งเสริมระบบทุนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ศ.ดร.อานันท์ ได้กล่าวถึงการขยายตัวด้านเกษตรอินทรีย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เเต่ในปัจจุบันยังมีจำนวนน้อยเหมือนหยดน้ำ เเม้จะมีการปลุกกรเเสจากสื่อหรือเทรนด์การห่วงใยสุขภาพของผู้บริโภค อย่างไรก็ตามก็พบว่าการกลไกต่างๆไม่เอื้อต่อเกษตรอินทรีย์ อย่างไรก็ตาม

“เราให้ชาวนารับผิดชอบการผลักดันตัวเองทั้งหมดเลย เช่นการจะรู้ว่าข้าวที่พวกเขาผลิตมีโภชนาการเท่าไหร่ ตอนนี้ต้องเอาไปให้มหาวิทยาลัยตรวจสอบ ซึ่งมีค่าตรวจเเพงมากนับเเสนบาท ขนาดมหาวิทยาลัยยังไม่ช่วยเขาเลย นี่เป็นเรื่องสำคัญ เเม้เเต่ภาควิชการยังไม่เอื้อ ยังติดอยู่ในวาทกรรมไปเรื่อยๆ ที่สำคัญที่สุดคือเครือข่ายเมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่ค่อยมีการผลักดันส่งเสริม เวลานี้เราพูดกันมาตลอด เเต่ยังปล่อยไปตามยถากรรม กระเเสมีเเต่ไม่ได้ทำให้เกิดขึ้นจริง ถึงจะเกิดขึ้นจริงก็น้อย ” ศ.ดร.อานันท์กล่าว

โลกเปลี่ยนการเกษตรปรับ โลกร้อน คนล้น อาหารไม่พอ เทคฯ “เเบตเตอรี่-เซลล์เเสงอาทิตย์” บูม

ด้านรศ.ดร.วิบูลย์ จงรัตนเมธีกุล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึง “การปรับตัวของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรของประเทศไทยในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง” ว่า ปัจจุบันมีการเปลี่ยนเเปลงทั้งด้านกายภาพเเละด้านชีวภาพอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดเเละความกินดีอยู่ดีของมนุษย์ โดยเเบ่งเป็นการเปลี่ยนเเปลงใหญ่ๆ ดังนี้  1) การเปลี่ยนเเปลงอากาศทางสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) จากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของก๊าซเรือนกระจก เเละที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์อย่างการตัดไม้ทำลายป่า โดยสิ่งที่เรากำลังเผชิญกับ ไฟป่า ความเเห้งเเล้ง รวมถึงพายุที่มีบ่อยครั้งขึ้น จึงทำให้เกษตรต้องปรับตัวกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น

ต่อมาคือ 2) การเพิ่มขึ้นของประชากรโลก  คนอายุยืนขึ้นจากความก้าวหน้าทางการเเพทย์ โดยคาดว่าภายในปี 2050 ประชากรโลกจะทะลุ 9,700 ล้านคน ส่งผลให้ความต้องการทางอาหารก็จะสูงขึ้นเเละปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารก็จะสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยทาง FAO ประเมินว่าในปี 2050 การผลิตอาหารจะต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้นจากปัจจุบันอีกราว 60-70 % เพื่อเลี้ยงประชากรทั้งหมดในโลก เเละการที่ประชากรเพิ่มขึ้นอาจไม่ขาดเเคลนอาหารด้านคาร์โบไฮเดรต เเต่ยังขาดอาหารด้านโปรตีน จึงจำเป็นต้องเพิ่มพื้นที่การผลิตอาหารเเละหาเเหล่งอาหารเเห่งใหม่เพื่อรองรับกรณีดังกล่าว

3) เทคโนโลยีเกิดใหม่ (Emerging Technology) นอกจากทำให้เกิดการเปลี่ยนเเปลงในวงการพลังงานเเล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรอย่างมาก โดยรศ.ดร.วิบูลย์  ชี้ว่าเทคโนโลยีด้าน “เเบตเตอรี่ยุคใหม่” ซึ่งใช้โซเดียม อลูมิเนียมเเละสังกะสีเป็นส่วนประกอบสำคัญ จะทำให้สามารถสร้างโครงข่าย ไฟฟ้าขนาดเล็กได้ ซึ่งจะเป็นเเหล่งสะสมพลังงานสะอาดที่ใช้ได้ยาวนาน  อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะมีการเปลี่ยนเเปลงสำคัญ คือ “เซลล์เเสงอาทิตย์เเบบใหม่” ซึ่งจะถูกพัฒนาขึ้นมาเเทนที่เซลล์เเสงอาทิตย์ซิลิคอนเเบบเดิมที่ใช้ในปัจจุบัน

โดยสองพลังงานเกิดใหม่นี้จะทำให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยจะอยู่ในรูปแบบที่ใช้ง่าย ได้ทุสถานที่เเละที่สำคัญคือราคาถูก  เพื่อทดเเทนความจำเป็นในการใช้พลังงานฟอสซิลเเละพลังงานชีวภาพ ทำให้พืชที่นำไปทำเป็นพลังงานกลับมาเป็นอาหาร เเละอาหารจะถูกลงด้วย

ต่อมาคือ 4) การเปลี่ยนเเปลงตามนโยบายพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goal (SDG) ซึ่งกำหนดโดยองค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น ซึ่งให้ความสำคัญกับเป้าหมายการยุติความหิวโหย  ลดปัญหาภาวะทุพโภชนาการเเละสนับสนุนการเกษตรยั่งยืน โดยไทยในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิก จึงจำเป็นต้องกำหนดเเนวทางของภาครัฐให้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าวด้วย

5)การเปลี่ยนเเปลงทางการค้าระหว่างประเทศ โดยทิศทางเเละเเนวโน้มความต้องการของสินค้าก็จะเปลี่ยนเเปลงไปตามเศรษฐกิจของชาติคู่ค้า รวมไปถึงนโยบายทางการเมืองเเละสภาวะเศรษฐกิจโลก เกษตรกรในฐานะผู้ผลิตจึงต้องรู้เท่าทันต่อความเปลี่ยนเปลงที่เกิดขึ้นด้วย

เเละ 6)ความเปลี่ยนเเปลงด้านการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเเละสื่อสังคมออนไลน์ เเม้ปัจจุบันเกษตรกรยังเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มอาชีพอื่น เเต่การขยายตัวของสมาร์ทโฟนมีเเนวโน้มเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นความสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเเละสื่อออนไลน์ของเกษตรกรจึงอาจสร้างโอกาสเเละวิกฤตให้เกิดขึ้นพร้อมๆกันได้

โดย รศ.ดร.วิบูลย์ ได้เสนอเเนวทาง การปรับตัวของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรในประเทศไทยว่า ควรเริ่มต้นจากภาคการศึกษา ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเปลี่ยน “หลักสูตรการเกษตร” จากเเบบดั้งเดิมซึ่งมักจะผลิตบัณฑิตที่มีความรู้เฉพาะทางตามสาขาวิชา ให้เป็นหลักสูตรที่บูรณาการองค์ความรู้ต่างๆ หลากหลายสาขาเข้าด้วยกัน ให้ผู้ศึกษารู้เท่าทันการเปลี่ยนเเปลงของสภาพอากาศ ความมั่นคงทางอาหาร รวมไปถึง value-chain ของสินค้าเกษตร เป็นต้น

จากนั้นควรจะมีการศึกษาวิจัยเเบบคู่ขนานทั้งการพัฒนาการเกษตรขนาดใหญ่เเละการพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรซึ่งใช้ระบบอัตโนมัติหรือระบบอัจฉริยะเพื่อรองรับการขาดเเคลนเเรงงานเเละการพัฒนาการเกษตรเเม่นยำเเละการเกษตรที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนเเปลงของอากาศ

ขณะเดียวกัน ระบุถึงการปรับตัวของภาครัฐว่าควรลดความซ้ำซ้อนเเละลดขั้นตอนการปฏิบัติงานลงเพื่อให้สามารถเเบ่งปันทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะด้านการพัฒนาบุคลากรพร้อมการกำหนดนโยบายต่างๆ จำเป็นต้องบูรณาการอย่างเหมาะสมให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน

ส่วนการปรับตัวของเกษตร ต้องปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเเปลง  ติดตามข้อมูลข่าวสาร  กระเเสความนิยมเเละเลือกผลิตอาหารหรือระบบการผลิตที่เน้นสุขภาพของผู้บริโภค เลิกการปลูกพืชอย่างเดียวหรือบางอย่างที่ไม่เหมาะสมกับสภาพอากาศ เป็นต้น

ด้านการปรับตัวของผู้โภค มีความจำเป็นที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนเเปลงเช่นเดียวกัน โดยอาจมีการปรับพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าเกษตรเเละอาหาร พฤติกรรมการบริโภคอาหาร การเก็บเเละถนอมอาหาร เพื่อลดปริมาณเหลือทิ้ง เเละการจัดการของเสียจากการบริโภคอาหารที่เหมาะสม เป็นต้น