เคียวเกี่ยวข้าวโบราณ

เราชาวบ้าน ก่อนที่จะมีเคียวเกี่ยวข้าว เราคงใช้มือเด็ดรวงข้าวเอามาแยกเอาเมล็ด ตำแยกเปลือกออก แล้วก็เอามาหุงกิน

ต่อมาค่อยๆ พัฒนาคิดทำเครื่องมือเกี่ยวข้าว แต่ละชาติ เผ่าพันธุ์ที่กินข้าวเป็นอาหารหลักล้วนสร้างสรรค์เครื่องมือเกี่ยวข้าวเป็นรูปร่างต่างๆ กันไป

บริเวณโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ โครงการพระราชดำริ อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว ผู้เขียนพบเครื่องมือของใช้ชนิดหนึ่ง ถามเจ้าหน้าที่เรียกว่าอะไร ใช้ทำอะไร เจ้าหน้าที่บอกว่า ไว้สำหรับเกี่ยวข้าว แต่ไม่รู้ชื่อเรียกว่าอย่างไร เมื่อกลับมาบ้านพลิกหนังสือดูเครื่องมือเกี่ยวข้าวคนเผ่าต่างๆ ก็พบว่า เป็นเครื่องมือเกี่ยวข้าวจริงๆ แต่ไม่รู้ชื่ออยู่นั่นเอง

คนไทยเราเรียกเครื่องมือเกี่ยวข้าวว่า เคียว สมัยเด็กๆ มีหนังสือเรื่องหนึ่งชื่อ คมเคียว นำแสดงโดย คุณสมบัติ เมทะนี และ คุณภาวนา ชนะจิต ปี พ.ศ. 2561 นี้ คุณสมบัติ เมทะนี ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติไปแล้ว ส่วนคุณภาวนา ชนะจิต น่าเสียดายที่เสียชีวิตไปก่อน

เคียวเกี่ยวข้าวที่พบในโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ รูปร่างแปลกกว่าเคียวโค้งๆ อย่างที่เราเห็นกัน นั่นคือ มีมือจับถือเป็นท่อนราว 1 คืบเศษๆ บริเวณตรงกลางส่วนจับถือหรือด้ามมีเหล็กบางๆ ฝังลงไปประมาณครึ่งหนึ่งของด้าม และมีเชือกเล็กๆ เป็นสายอยู่ประมาณ 1 คืบ

ลองค้นหาวิธีใช้เคียวดูก็พบว่า จับส่วนด้ามให้มั่น สอดเข้าไปใต้รวงข้าวแล้วบิดคมนั้นให้ตัดรวงข้าวออกมา คนที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละวันคงเกี่ยวข้าวได้ไม่น้อย

ต้องยอมรับว่า เครื่องมือของใช้ที่ชาวบ้านทำมาอย่างง่ายๆ สามารถใช้ได้ผล และทุ่นแรงชาวนาไปได้มากทีเดียว ผิดกับเดี๋ยวนี้แทบไม่ต้องเกี่ยวข้าวกันอีกแล้ว เพราะมีรถช่วยเกี่ยวเสร็จสรรพ มิใช่เกี่ยวเถิดหนาพ่อเกี่ยว เอ้า…เกี่ยวเถิดหนาแม่เกี่ยว แต่รถเกี่ยวสามารถแยกเมล็ดข้าวออกมาจากรวงลงกระสอบได้เลย

ความก้าวหน้าเรื่องการเก็บเกี่ยว ทำให้วิถีชีวิตชาวนาเปลี่ยนไป

บางคนอาจสงสัยว่า แค่ชาวนาไม่ได้ใช้เคียวเกี่ยวข้าว ถึงกับเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเชียวหรือ คำตอบคือ เปลี่ยนได้จริงๆ เพราะเมื่อก่อนชาวนาเกี่ยวข้าวกัน พอแดดร่มลมตก แดดอ่อนๆ ตอนเย็นๆ เกี่ยวข้าวกันมาเหนื่อยล้าแล้ว ชาวบ้านก็จะร้องเพลงเกี่ยวข้าว ร้องเพลงพื้นบ้านกันอย่างสนุกสนาน

การร้องเพลงทั้งช่วยให้คลายเหนื่อยล้า ลืมความเหนื่อยล้า และยังช่วยพัฒนาการใช้ภาษา และการแต่งเพลงสดๆ อีกด้วย การแต่งเพลงชาวบ้านเรียกว่า “ผูกเพลง”

หลังร้องเพลงกันสนุกสนาน งานเกี่ยวข้าวก็ยุติลงเพราะเย็นย่ำแล้ว ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับบ้าน เจ้าของนาบางรายก็นำเอาข้าวปลาอาหารมาเลี้ยง บางรายนำเอา “สาโท” มาเลี้ยงดื่มกินกันอย่างสนุกสนาน แล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน

การนำรถมาเกี่ยวข้าว ชาวนาได้รับความสะดวกสบาย ไม่ต้องหาแขกเกี่ยวข้าว และไม่ต้องเสียเวลานำข้าวมานวดในลานเหมือนกัน เท่ากับว่าการไม่ได้นวดข้าวเป็นการตัดขั้นตอนเดิมๆ ของชาวนาไปอีกอย่างหนึ่งคือ การนวดข้าว

การนวดข้าว เราชาวบ้านมีวัวก็ใช้วัวนวด คนมีควายก็ใช้ควายนวด วิธีการก็คือ ต้องทำลานให้เรียบ นำเอาขี้วัวหรือขี้ควายมาละลายน้ำทาลานไว้ เรียกว่า “ยาลาน” ปล่อยให้แห้ง ปักหลักไว้ 1 หลัก กลางลาน นำเอาฟ่อนข้าวมาเรียงให้รอบ คราวนี้ก็นำเอาวัวมาผูกเรียงเข้าด้วยกันหลายๆ ตัว ไล่วนเสาหลักนั้นเรื่อยไป จนกว่าเมล็ดข้าวจะหลุดออกจากก้านรวงออกมา เมล็ดข้าวจะไม่จมดินลาน เพราะค้างอยู่บนขี้วัวหรือขี้ควายที่เราชาวนานำมายาลานไว้

เมื่อไม่มีการนวดข้าว เพลง สงฟาง ก็ไม่มี

ก้านรวงและลำต้นข้าวที่เกี่ยวมา เมื่อเมล็ดข้าวร่วงออกไปแล้ว เราชาวนาเรียกว่า ฟางข้าว ส่วนนี้เราจะเก็บเอาไว้ให้วัวและควายกินคราวหน้าแล้ง หญ้าในทุ่งนาไม่มีหรือมีน้อยวัวควายกินไม่อิ่ม ก็นำฟางมาให้กิน

เพลงสงฟาง ชาวบ้านร้องเล่นกันเวลาสงฟางในลานนวด จากนั้นก็จะนำฟางนั้นไปพันไว้กับไม้หลักยาวๆ เราเรียกกันว่า กองฟาง

กองฟางสำหรับเด็กๆ สมัยก่อนนั้นเป็นของวิเศษ หน้าหนาวเด็กๆ จะเข้าไปทำเป็นโพรงไว้ นำเอาผ้าห่มเข้าไปวางไว้ เวลากลางคืนก็เข้าไปนอน ในกองฟางอุ่นมากๆ กฎข้อหนึ่งของการนอนในกองฟางคือ ต้องไม่นำไม้ขีด ไฟแช็ก เข้าไปอย่างเด็ดขาด ถ้าเกิดไฟขึ้นมาฟางจะไหม้ไฟรวดเร็วมาก บางปีมีข่าวเศร้า เมื่อรู้ว่าเด็กๆ ตายในกองฟาง

วิถีชาวบ้านที่ คุณสุรพล สมบัติเจริญ ร้องเพลงว่า “เราชาวนาอยู่กับควาย” นั้น ปัจจุบันเห็นมีการรื้อฟื้นขึ้นมา เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ รับทราบรากเหง้าของตนเอง ตัวอย่าง เช่น

  1. ที่บ้านควาย อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี และ
  2. โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว

วิถีชีวิตดั้งเดิม เราไม่สามารถรักษาเอาไว้ได้ เนื่องจากโลกเปลี่ยนไป การอนุรักษ์ไว้ให้เรียนรู้ นับเป็นแนวทางที่ดียิ่ง เพราะเราจะได้รู้และไม่ลืมรากเหง้าของเราเอง