“โมซัมบิก” โอกาสใหม่ แหล่งทรัพยากรล้ำค่า

“โมซัมบิก” หนึ่งในประเทศที่น่าสนใจและสามารถเป็นตลาดใหม่ของไทยในทวีปแอฟริกา ด้วยปัจจัยความต้องการนำเข้าสินค้าที่ค่อนข้างสูง ทั้งยังเป็นประเทศที่เพิ่งมีความสงบและความมั่นคงทางการเมืองได้ไม่นาน

โมซัมบิก มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศแอฟริกา ทั้งยังมีเงินลงทุนจากต่างประเทศเป็นอันดับต้น ๆ อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากที่ยังไม่มีการสำรวจและพัฒนา และยังต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้นรัฐบาลให้สิทธิการลงทุนในหลายภาคส่วน เช่น เกษตร เลี้ยงสัตว์และอาหารสัตว์ ประมง แปรรูปสินค้า พลังงาน เหมืองแร่ การก่อสร้างที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภค ร้านอาหาร และการท่องเที่ยว

ขณะที่ประเทศไทยกำลังจะเปิดสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาบูโต ในเดือนสิงหาคมนี้ แสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและโมซัมบิกค่อนข้างบวก นอกจากนี้สถานะทางการค้าระหว่างกันยังมีความน่าสนใจ คือโมซัมบิกเป็นคู่ค้าลำดับที่ 79 ของไทย มูลค่าการค้าในปี 2559 (ม.ค.-เม.ย.) ไทยส่งออกไปโมซัมบิกประมาณ 35.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 5.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทสัตว์น้ำ กุ้ง อัญมนี อะลูมิเนียม ถ่านหิน ทองคำ และผลิตภัณฑ์จากไม้

ความน่าสนใจอีกประการ คือ โมซัมบิกมีพลังงานไฟฟ้าจำนวนมหาศาลจนสามารถส่งออกไปยังแอฟริกาใต้ได้ ทั้งยังมีแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่และมีท่าเรือที่ดีที่สุดในแอฟริกาตะวันออก อย่างไรก็ตามสัดส่วนของประชากรที่สามารถอ่านออกเขียนได้มีเพียง 40% ดังนั้น จำนวนทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในโมซัมบิกค่อนข้างต่ำ

ปัจจุบันไทยและโมซัมบิก มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมการค้า (JTC) เพื่อผลักดันโอกาสทางการค้าและการลงทุนร่วมกัน ตลอดจนความร่วมมือทางเศรษฐกิจหลายสาขา โดย นายคาร์ลูส อากูสตินโย ดู โรซารีอู นายกรัฐมนตรีของโมซัมบิก มีความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับการนำเข้าข้าวจากไทยราว 3 แสนตัน รวมถึงอาหารแปรรูปอื่น ๆ

นอกจากนี้ ไทยยังมีความสนใจที่จะหารือเพิ่มเติมในความร่วมมือด้านอัญมณี การทำสัมปทานประมง และแนวทางกาชำระเงิน รวมถึงด้านพลังงานและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสาขาเศรษฐกิจที่รัฐบาลโมซัมบิกต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ปัจจุบันมีเพียงบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยที่เข้าไปลงทุนในโมซัมบิก ได้แก่ อิตาเลียน-ไทย และ ปตท.สผ.

สัดส่วนการลงทุนระหว่างไทย-โมซัมบิกยังมีน้อย ขณะที่โมซัมบิกได้เพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ ประชาคมเพื่อการพัฒนาแอฟริกาตอนใต้ (SADC) ความร่วมมือในข้อตกลงการค้าเสรีของสหภาพศุลกากรแอฟริกาตอนใต้ (SACU) และข้อตกลงการค้าเสรีกับตลาดร่วมแห่งภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้ (COMESA) และกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแอฟริกา (AEC) ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการเป็นไปอย่างเสรี ครอบคลุมยังสมาชิกอื่น ๆ เกือบทั้งภูมิภาคที่มีประชากรรวมกว่า 700 ล้านคน

นี่เป็นหนึ่งโอกาสตลาดใหม่ของไทยที่ไม่ควรมองข้าม

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์