“พิรุณ 4” พันธุ์มันสำปะหลัง มาแรง เกษตรกรไร่มัน หวังลุยตลาดแปรรูป

คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดงาน “อนาคตประเทศไทย โจทย์วิจัยเพื่อประชาชน” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เป็นอีกหนึ่งเวทีที่ทำให้นักวิจัยได้แสดงผลงานด้านงานวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม หนึ่งในงานวิจัย นั้นก็คือ มันสำปะหลัง “สายพันธุ์ พิรุณ 4” โดย คุณสุรินทร์ พิชัย เกษตรกรดีเด่นภาคเหนือ และยังเป็นเจ้าของลานมันศรีเกษตร จังหวัดกำแพงเพชร รวมทั้งยังควบตำแหน่ง “นายกสมาคมมันสำปะหลังไทยภาคเหนือ” ได้นำต้นสายพันธุ์ พิรุณ 4 มาแสดงในงาน พร้อมกับผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ได้จากต้นมันสำปะหลัง สายพันธุ์ “พิรุณ 4” หลังทดลองปลูกกับทีมคณาจารย์ที่วิจัยสายพันธุ์ พิรุณ 4 จนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

ผู้เขียนได้มีโอกาสพบกับ คุณสุรินทร์ พิชัย ในวัย 52 ปี มาพร้อมกับ คุณนิตยา จันทร์กระจ่าง ภรรยาวัย 41 ปี ซึ่งนำมันสำปะหลังทอด ในรูปแบบเฟรนช์ฟราย และเบเกอรี่ที่ทำจากแป้งมันสำปะหลัง สายพันธุ์ พิรุณ 4 มาเปิดตัวในงานนี้ด้วย สร้างความสนใจให้กับผู้เข้ามาชมงานไม่น้อย เพราะทั้งคู่เป็นเกษตรกรดั้งเดิมในจังหวัดกำแพงเพชร มีพื้นที่ปลูกไร่มันสำปะหลังถึง 200 ไร่ และนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาแวดวงเกษตรกรรม โดย คุณสุรินทร์ จบคณะเกษตร สาขาพืชไร่ โดยตรงจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วน คุณนิตยา จบปริญญาโท ด้านการบริหาร ซึ่งสามารถนำความรู้ด้านการบริหารและการตลาดมาใช้กับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลัง สายพันธุ์ พิรุณ 4

“ผมเป็นเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง และแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มาจากมันสำปะหลัง ส่วนเรื่องงานวิจัย ทางอาจารย์เจ้าของงานวิจัยจะทำ ซึ่งก็ต้องมีแปลงมันสำปะหลังที่ทดสอบ ก็ร่วมทดสอบกับคณะอาจารย์วิจัย ในขั้นสุดท้ายก็ทดสอบจริง เราก็อยู่ตรงนั้น เราก็มองว่า มันสำปะหลัง ราคาค่อนข้างถูก เกษตรกรรายได้ต่ำ ทำยังไงจะยกระดับมูลค่ามันสำปะหลัง ซึ่งได้จากการทำไร่นาไปสู่โต๊ะอาหารให้ได้ เป็นวิธีสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมันสำปะหลังได้ โดยสำหรับมันสำปะหลังจะมี 2 แบบ คือ มันเพื่ออุตสาหกรรม และมันเพื่อรับประทาน ซึ่งมีทั้งแบบหวาน และแบบขม เราก็มอง มันหวาน

ต้นมันสำปะหลัง พิรุณ 4

ส่วนมันขมก็ศึกษาไปเรื่อยๆ ตอนนี้มันหวานอยู่ในระหว่างการพัฒนาสินค้า เช่น นำไปทดลองทำและพัฒนาเป็นเฟรนช์ฟราย รวมทั้งเบเกอรี่ ซึ่งเป็นสูตรแป้งจากมันสำปะหลัง สายพันธุ์ พิรุณ 4 เพราะเบเกอรี่ส่วนใหญ่ทำจากแป้งสาลี ไทยนำเข้าปีละหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งแป้งสาลีพบว่า มีสารกลูเตน (gluten) ดที่ทำให้แพ้ได้ ส่วนแป้งที่ได้จากมันสำปะหลังนั้นไม่มีสารกลูเตน ก็น่าจะเป็นจุดแข็งที่ทำให้ไปได้” คุณสุรินทร์ เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปในการนำมันสำปะหลัง สายพันธุ์ พิรุณ 4 มาสร้างมูลค่าพัฒนาเป็นอาหารขึ้นโต๊ะให้ได้รับประทานกัน

คุณสุรินทร์ เล่าว่า ตอนนี้ไร่มันสำปะหลังทั้ง 200 ไร่ มีมันสำปะหลังสำหรับอุตสาหกรรม เช่น สายพันธุ์ พิรุณ 1, เกษตรศาสตร์ 50, ระยอง 11, ระยอง 13 และ ระยอง 9 ส่วนมันสำปะหลังสายพันธุ์ที่รับประทานได้ ได้แก่ พิรุณ 2 และ พิรุณ 4

“ในส่วนของเรา เราก็ทำนำหน้าไปก่อน โดยการพัฒนาตลาดไปเรื่อยๆ ให้ไปได้ระดับหนึ่ง ทั้งส่งในภาคอุตสาหกรรม และเข้าไปตลาดผู้บริโภครายย่อย ซึ่งในอนาคตเราต้องการพัฒนามันสำหรับรับประทานได้ เพราะมองว่าน่าจะทำมูลค่าเพิ่มได้ดีกว่า ด้วยความที่แปรรูปได้ อยากทำมันที่กินได้ เป็นมันอินทรีย์ และเปิดตลาดที่กว้างขึ้น คือไม่ใช้สารเคมี  ที่ใช้สารเคมี คือเรื่องการควบคุม และหาวิธีการที่ไม่ใช้สารเคมี ก็ง่ายขึ้นในขั้นตอนการปลูก ก็จะพยายามทำให้เป็นมันสำปะหลังอินทรีย์ นอกจากนี้ ยังมองเรื่องใบของมันสำปะหลัง ก็คิดว่าน่าจะทำและพัฒนาได้อีก เพราะในใบมันสำปะหลังนั้นมีไซยาไนด์ต่ำ ซึ่งในส่วนของการพัฒนาใบมันสำปะหลังยังไม่ได้คุยกับนักวิจัย โดยตัวมันสำปะหลังอยู่ในรูปคาร์โบไอเดรต 90% แต่ในใบมีโปรตีน 25-30% มีสารกลุ่มแอนโทฟิว สารให้สี อย่างที่เราเลี้ยงปลาตู้ ซึ่งจะต้องซื้อสารมาจากต่างประเทศ กิโลกรัมละเป็นหมื่นบาท เข้าไปอยู่ในตู้ปลา มีสารแทนนิน มีงานวิจัยที่ประโยชน์ เรื่องใบมันสำปะหลัง

คุณสุรินทร์ พิชัย และภรรยา กับมันสำปะหลัง พิรุณ 4 แปรรูป

ส่วนในโซนแอฟริกาก็รับประทานใบมันสำปะหลังเป็นอาหาร เขาแปรรูป ผมก็คิดว่า เหมือนเรารับประทานผักเสี้ยน จะนำใบมันสำปะหลังไปดองได้ไหม เพราะการดองเป็นวิธีที่ทำให้ไซยาไนด์หมดไป และในใบมันสำปะหลังก็มีไซยาไนด์อยู่ อย่างตอนนี้เราเอาใบมันสำปะหลังมาตากแห้ง และบดแห้ง นำไปเป็นอาหารให้วัว เพิ่มโปรตีน วัวจะวิ่งเข้าหา เพราะได้กลิ่นโปรตีน ซึ่งอาหารที่ผสมใบมันสำปะหลังจะดีต่อสุขภาพวัว เพราะความที่มีไซยาไนด์อ่อนๆ” คุณสุรินทร์ เล่าจากประสบการณ์โดยตรงที่คลุกคลีกับต้นมันสำปะหลัง และเห็นคุณค่าของต้นมันสำปะหลังที่อาจมีประโยชน์กับร่างกายคน หากมีการนำไปพัฒนาและวิจัยต่อยอด

ที่สำคัญ คุณสุรินทร์ มองว่า ความนิยมของผู้บริโภคที่ยังเน้นบริโภคสินค้าเกษตรเพื่อสุขภาพนั้น ส่งผลให้ตลาดสินค้าเกษตรที่ปลูกแบบอินทรีย์ หรือเน้นการปลูกที่ไม่ใช้สารเคมียังไปได้อีกไกล

“ผมมองว่า ตลาดอินทรีย์เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และอาศัยหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะตลาดยุโรป ซึ่งการมาร่วมกับ วช. เราก็มองว่า คนมีความสนใจเรื่องมันสำปะหลังที่รับประทานได้มากขึ้น ก็นำไปแปรรูปที่คนสนใจ ที่คิดมาก็อยู่ในแนวทางนี้ และมองเห็นโอกาสทางการตลาด อย่างที่เราทำมาหลายๆ ตัว ผลตอบรับก็ดี คือสมมติว่า เราเป็นอินทรีย์ได้ กระทรวงพาณิชย์ มีงานแสดงเกษตรอินทรีย์ ในโซนยุโรป ค่าใช้จ่ายไม่แพง ค่าเดินทางพอมีเราก็ไป เพราะเป้าหมายเราคือ ตลาดที่จะทำให้มันสำปะหลังมีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มได้” คุณสุรินทร์ เล่าให้ฟังการเพิ่มมูลค่าให้กับมันสำปะหลัง โดยเน้นไปที่การทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ส่วนภาวะโลกร้อน ซึ่งเคยส่งผลให้หนอนไหมอีรี่กินใบมันสำปะหลังเป็นอาหารได้น้อยลง ทางคุณสุรินทร์ยอมรับว่า ภาวะโลกร้อนที่ทำให้สภาพอากาศร้อน และดินแล้งขึ้น เคยส่งผลต่อต้นมันสำปะหลัง ซึ่งทางคุณสุรินทร์มองแนวทางแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มแร่ธาตุให้กับดิน และใช้วิธีการเพิ่มน้ำให้กับดิน ก็จะช่วยได้

“ปกติ มันสำปะหลังผลิตไซยาไนด์ ป้องกันตัวเองได้ แต่ในภาวะแล้ง จะผลิตไซยาไนด์ได้น้อย หรือแทบไม่ได้ผลิตเลย ก็ทำให้สารป้องกันตัวเองลดลง และทำให้แมลงมาเบียดเบียนได้ง่าย ทำให้ผลผลิตลดลง แต่ต้นมันก็ถือว่าเป็นพืชไร่ที่ทนที่สุดแล้ว ธรรมชาติของเขาจะลดการทิ้งใบ พอไม่มีน้ำก็ลด ก็จะเปลี่ยนมาเป็นรูป เปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล แต่เมื่อพอถึงภาวะแล้ง สภาพของดินมีการเก็บอุณหภูมิร้อนเกินไป ทำให้หัวแป้งมันสำปะหลังสุกปุ๊บ ก็เกิดแบคทีเรีย ทำให้เน่าเสีย ส่งผลต่อผลผลิตไม่ได้ปริมาณและคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ”

“ซึ่งภาวะโลกร้อนเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางทีที่แล้งจัดๆ อย่าง 3-4 ปีที่แล้ว ผลผลิตลดลงเยอะมาก ลดลง 40-50% เพราะเป็นปีที่แล้ง สินค้าในท้องตลาดก็วิ่ง พอมันแล้ง ก็มีศัตรูมา เช่น เพลี้ยแป้ง มาดูดน้ำเลี้ยงที่ใบและยอด ก็จะทำให้หัวเปราะ เราแก้ด้วยการให้น้ำสม่ำเสมอ ต้นไม้ก็แข็งแรง ป้องกันตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ส่วนใหญ่ซึ่งผมมองว่า ถ้าดินดี มีอินทรียวัตถุก็ทนแล้งได้ดี ผมมองว่า การปรับปรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ จะแก้ปัญหาภาวะแล้งได้ดี น่าจะไปได้” คุณสุรินทร์ เล่าให้ฟังทิ้งท้ายถึงการใช้ความรู้และประสบการณ์ในการรับมือกับปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งที่ไร่มันสำปะหลัง 200 ไร่ ของคุณสุรินทร์ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

สำหรับใครที่สนใจจะพูดคุยขอไอเดียการทำไร่มันสำปะหลังที่ได้ทั้งขั้นตอนการปลูกอย่างมีคุณภาพ และแนวทางการแปรรูปมันสำปะหลัง เพื่อให้ตรงตามความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ติดต่อ คุณสุรินทร์ พิชัย ได้ที่เบอร์โทร. (081) 674-0426 หรือ ที่อยู่เลขที่ 555 หมู่ที่ 1 ตำบลวังไทร อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร

 

“มันสำปะหลัง สายพันธุ์ พิรุณ 4” คลอดมาจากทีมนักวิจัยไทย

สำหรับ มันสำปะหลัง สายพันธุ์ พิรุณ 4 นั้น เป็นผลงานการวิจัยจากทีมคณาจารย์นักวิจัยไทย ได้แก่ ดร. โอภาษ บุญเส็ง อดีตนักวิชาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร, รศ.ดร. กนกพร ไตรวิทยากร สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.ดร. มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยคณาจารย์ทั้ง 3 ท่าน ได้นำมันสำปะหลังที่ดีไปคัดเลือกสายพันธุ์ เพื่อให้มีมาตรฐาน และได้พันธุ์ใหม่ภายใต้ชื่อรหัสพันธุ์ MBR49-2-109 ต่อมาได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “พิรุณ 4” ซึ่งได้สายพันธุ์มันสำปะหลังที่เหมาะสำหรับรับประทาน และใช้แทนแป้งสาลี ซึ่งเป็นส่วนผสมในการทำเค้กและเบเกอรี่ได้ โดยพบว่า สายพันธุ์ พิรุณ 4 มีจุดเด่น คือ ปราศจากสารกลูเตน (gluten)

ซึ่งสารตัวนี้มีผลทำให้ผู้บริโภคเบเกอรี่และเค้กนั้นเกิดอาการแพ้ได้ และส่งผลต่อสุขภาพ อาทิ ลำไส้เล็กไม่ดูดซึม หรือส่งผลให้ทำงานไม่ดี ท้องอืด ลำไส้เกิดการอักเสบ และเกิดภาวะร่างกายขาดธาตุอาหารได้