หม่อนกินผลอินทรีย์ สกลนคร หม่อนดี มีคุณภาพ ตามมาตรฐานมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย

เดิมที หม่อนไหม เป็นเรื่องของการนำเอาเส้นใยมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม อาชีพนี้ยอดฮิตอยู่บนแดนดินถิ่นที่ราบสูง มีหลายครอบครัวปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีโอกาสหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางด้านการศึกษา ภาคอื่นก็พบเห็นเช่นกัน

ระยะหลังๆ เริ่มปลูกหม่อนกินผล รวมทั้งการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งพบว่า มีผู้ประสบความสำเร็จในเรื่องของการผลิตและแปรรูปจำหน่าย

หม่อนกินผล ต่างจากหม่อนไหมเส้นใย ตรงที่นำผลมาบริโภค ดังนั้น การผลิตต้องคำนึงถึงสุขอนามัย ด้วยเหตุนี้ จึงมีการผลิตหม่อนกินผลอินทรีย์ขึ้น

ที่จังหวัดสกลนคร ถือเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตหม่อนกินผลอินทรีย์ หน่วยงานของรัฐได้เข้าไปส่งเสริมหม่อนกินผลอินทรีย์ โดยการรับรองแบบมีส่วนร่วม

ผลผลิตจังหวัดสกลนครมีจำนวนมาก

คุณเพชรี บุญทวี นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขต 2 จังหวัดอุดรธานี ที่ร่วมรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดสกลนคร บอกว่า หากมีการผลิตหม่อนกินผลอินทรีย์ โดยมีองค์กรรับรอง จะทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น เกษตรกรผู้ผลิตก็จะสามารถลดต้นทุนการผลิต มีความปลอดภัย จำหน่ายได้ในราคาที่เป็นธรรม

เกษตรอินทรีย์

การรับรองแบบมีส่วนร่วม

การส่งเสริมผลิตหม่อนอินทรีย์นั้น รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมพัฒนาการเกษตรอินทรีย์ในสินค้าทุกชนิดของประเทศ และให้นโยบายในการดำเนินการอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง เนื่องจากเกษตรอินทรีย์เป็นอีกทางเลือกที่จะพัฒนาเกษตรกรรมให้มีความยั่งยืน มีความมั่นคงทางอาหารและปลอดภัยต่อสุขภาพ ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุน ก่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งแผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) และยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2559-2564 ที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร สร้างองค์ความรู้ที่จำเป็น ต่อการผลิตสินค้าที่ปลอดภัย และได้มาตรฐาน ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

คุณเพชรี บุญทวี

ระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (Particpatory Guarantee Sytems : PGS) เป็นระบบโดยชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ นักพัฒนา นักวิชาการ และผู้บริโภค โดยอาศัยกระบวนการทางสังคมการมีส่วนร่วม พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ความซื่อสัตย์ ไว้วางใจโปร่งใส เชื่อมั่น และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนทั้งต่อรายได้ของเกษตรกร ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค นำไปสู่สังคมที่เข้มแข็งในที่สุด

กรมหม่อนไหม ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลเกษตรกรผู้ปลูกหม่อน และเลี้ยงไหมจึงส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนผลสด ให้สามารถผลิตหม่อนผลสดที่ได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ให้มีรายได้ที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

กรมหม่อนไหม จึงมีโครงการส่งเสริมการผลิตหม่อนอินทรีย์ขึ้น โดยบูรณาการขับเคลื่อนการทำงานระหว่าง กรมหม่อนไหม ดร. ศุภวรรณ เฆี่ยนเมธี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ คุณพิมรำไพ ว่องไว นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ

ผลหม่อน

สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขต 2 จังหวัดอุดรธานี ว่าที่ร้อยโท เรืองศักดิ์ บุญโนแต้ ผู้อำนวยการสำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขต 2 จังหวัดอุดรธานี คุณเพชรี บุญทวี นักวิชาการเกษตรชำนาญการ

ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สกลนคร คุณประชาชาติ นพเสนีย์ ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สกลนคร คุณกษวรรณ ผาพรม นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ และองค์กรอื่นๆ คือ มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย (มกอท.) กลุ่มหม่อนอินทรีย์สกลนคร

อบรมเกษตรกร

 หวังหม่อนอินทรีย์

ขยายการตลาดให้กว้างขึ้น

ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม เป็นระบบการรับรองคุณภาพโดยชุมชน การมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง และต่อเนื่องของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของชุมชน ภายใต้หลักการพื้นฐาน ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน การเป็นเครือข่ายทางสังคม  และการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง (ตามคำจำกัดความของ IFOAM)

มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกษตรกรรับรู้เรื่องระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์ มาตรฐานอินทรีย์ และระบบหม่อนอินทรีย์ สามารถนำความรู้ด้านการผลิตหม่อนไหมอินทรีย์ไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ กรมหม่อนไหม จึงได้ขับเคลื่อนโครงการผลิตหม่อนอินทรีย์โดยการมีส่วนร่วม และได้ดำเนินการในเขตพื้นที่อำเภอภูพาน อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร มีสมาชิกจำนวน 35 คน พื้นที่ปลูก จำนวน 69 ไร่

โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้

  1. จัดตั้งกลุ่ม ชื่อกลุ่ม “ผลิตหม่อนอินทรีย์สกลนคร”
  2. 2. การตั้งหลักเกณฑ์กลุ่ม
  3. 3. การตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างในดิน
  4. 4. อบรมให้ความรู้
  5. 5. การตรวจเยี่ยมฟาร์มเพื่อน (Peer Reviews)
  6. 6. บันทึกข้อมูลเกษตรกรในระบบของมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการออกใบรับรองกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม

ผลการดำเนินงาน ตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างในดิน จำนวน 35 คน ไม่พบสารพิษตกค้างในดิน 35 ราย 100 เปอร์เซ็นต์ ตรวจประเมินฟาร์มร่วมกันของเกษตรกรระบบการมีส่วนร่วม จำนวน 35 คน จำนวน 3 ครั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ผลการตรวจประเมิน ผ่านการตรวจรับรอง 15 คน 42.85 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ 37 ไร่ 42.85 เปอร์เซ็นต์ ไม่ผ่านการตรวจรับรอง 16 คน 29 ไร่ 45.71 เปอร์เซ็นต์ (อยู่ในระยะปรับเปลี่ยน ให้แก้ไขตามที่ผู้ตรวจแนะนำในระยะเวลาที่กำหนด) และจำนวน 3 ราย ตรวจประเมินฟาร์มแล้ว แต่ประสบภัยธรรมชาติ น้ำท่วม 1.4 เปอร์เซ็นต์  ผลผลิตเฉลี่ยของสมาชิกได้ประมาณ 800 กิโลกรัม/ไร่/ปี (ผลผลิตขึ้นกับอายุหม่อน/การดูแลรักษาของแต่ละแปลง)

น้ำหม่อน

การดำเนินงาน ทำให้ผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐานเข้าสู่ตลาดได้ทั้งในท้องถิ่นและระดับประเทศ ไม่มีปัญหาเรื่องสารเคมีตกค้างในผลิตภัณฑ์อาหาร ไม่ก่อให้เกิดพิษภัยในผู้บริโภค เพิ่มมูลค่าผลผลิต และสามารถต่อรองราคาได้ สิ่งแวดล้อมไม่มีมลพิษ

ปัจจุบัน กลุ่มหม่อนอินทรีย์ อยู่ในช่วงที่กำลังจะดำเนินการรวบรวมข้อมูลและบันทึกข้อมูลเข้าระบบมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทยเพื่อที่จะออกใบรับรอง และมีการตรวจประเมินแปลงแบบมีส่วนร่วม โดยใช้ระยะเวลา 18 เดือน ในการออกใบรับรอง (ได้มีการตรวจประเมินแปลง เมื่อ วันที่ 9-10 สิงหาคม 2561) ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย ในขณะเดียวกันกลุ่มเกษตรอินทรีย์สกลนคร ก็ได้ผลิตหม่อนผลโดยไม่ใช้สารเคมีมานานแล้ว แต่ยังรอกระบวนการออกใบรับรองเกษตรอินทรีย์เท่านั้น ซึ่งสมาชิกกลุ่มมีผลผลิตส่ง บริษัท ดอยคำ สกลนคร และสมาชิกในกลุ่มฯ จำนวน 2 ราย คือ บ้านสวนภูสกล คุณสุจินต์ สวนไผ่ (บ้านสร้างค้อ ตำบลสร้างค้อ อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร) รวบรวมผลผลิตมาแปรรูปน้ำหม่อน 100 เปอร์เซ็นต์ แยมหม่อน หม่อนอบแห้ง ซึ่งเป็นโรงงานขนาดย่อม (SME) ผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองมาตรฐานและคุณภาพจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมาตรฐานฮาลาล Halal Food (อาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งขออนุมัติตามบัญญัติศาสนาอิสลามให้ชาวมุสลิมบริโภคหรือใช้ประโยชน์ได้) และ คุณประรส ศรีวิทยา บ้านสร้างค้อ ตำบลโนนหัวช้าง อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร แปรรูปน้ำหม่อน 100 เปอร์เซ็นต์ แยมหม่อน หม่อนผสมเสาวรส ซึ่งผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองมาตรฐานและคุณภาพจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

แปลงหม่อนอินทรีย์

ผู้ผลิตและแปรรูป

ทำดี…มีตลาด

คุณเพชรี พูดถึงหม่อนกินผลอินทรีย์ว่า การปรับเปลี่ยนจากการผลิตทั่วไปมาเป็นหม่อนกินผลอินทรีย์ ใช้เวลา 18 เดือน โดยทั่วไปเกษตรกรผู้ปลูกหม่อน ได้รับการดูแลจากกรมหม่อนไหม ซึ่งเกษตรกรได้ จีเอพี อยู่แล้ว ชาวบ้านเข้าใจ

“อยากให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาดีขึ้น ที่อื่นขายได้แพง ของเราแถบนี้มีมาก ราคาจึงไม่แพง…ระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม เรามีมาตรฐาน กระบวนการต่างๆ มีการร่วมมือกัน แต่รับรองโดยมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย” คุณเพชรี บอก

คุณใจสุจินต์ สวนไผ่ หรือ คุณชมพู่ สวนไผ่ (ขวาสุด)

คุณใจสุจินต์ สวนไผ่ หรือ คุณชมพู่ เจ้าของบ้านสวนภูสกล อยู่อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร บอกว่า ตนเองแปรรูปผลหม่อนมานาน 6 ปีแล้ว สินค้าที่จำหน่ายมีหม่อนผลสด หม่อนอบแห้ง น้ำหม่อน แยมหม่อน พันธุ์หม่อนที่ปลูกกันคือ เชียงใหม่ 60 จุดเด่นผลิตภัณฑ์ของภูสกลคือ ผลิตจากหม่อนอินทรีย์ มีความเข้มข้น สะอาด

“ผลิตภัณฑ์มี…หนึ่ง น้ำหม่อน 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีน้ำตาล คั้นเอา 1 ต่อ 1…หม่อน 1 กิโลกรัม ได้น้ำ 1 ลิตร ขนาด 100 มิลลิกรัม ขาย 45 บาท เหมาะกับผู้สูงอายุ ดื่มแล้วหลับสบาย…สอง แยม เก็บผลผลิตที่สุกสีแดงและสีดำ สีแดงได้ความเปรี้ยวไม่ต้องใช้สาร สีดำได้ความหวาน ไม่ต้องใส่น้ำตาลมาก ไม่มีสารกันบูด เก็บได้ 1 ปี ขนาด 200 มิลลิกรัม จำหน่าย 65 บาท…หลังๆ มีแยมเสาวรส หมากเม่า ลำไย ทำตามฤดูกาล ช่องทางการจำหน่ายออกบู๊ธตามงานต่างๆ ไม่มีตัวแทน” คุณชมพู่ บอก

สอบถามเพิ่มเติมเรื่องหม่อนกินผลสดอินทรีย์ได้ที่ คุณเพชรี บุญทวี สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขต 2 จังหวัดอุดรธานี โทร. (081) 729-9151

ต้องการซื้อผลิตภัณฑ์จากหม่อนอินทรีย์ สอบถามได้ที่ คุณใจสุจินต์ สวนไผ่ หรือ คุณชมพู่ อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร โทร. (087) 214-9370 หรือ FB:บ้านสวนภูสกล