กรมส่งเสริมการเกษตร ประกาศผลสำเร็จการบริหารจัดการผลไม้ ปี 61 วางแผนสู่สินค้าเกษตรชนิดอื่นในอนาคต

กรมส่งเสริมการเกษตร แถลงผลงานความสำเร็จแผนการบริหารจัดการผลไม้  ปี 2561 จากการวางแผน และดำเนินงานที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดต้นทาง กลางทาง และปลายทาง มุ่งยกเป็นต้นแบบแผนการบริหารสู่สินค้าเกษตรอื่นต่อไป

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ ของคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2561 ให้จังหวัดบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จด้วยตนเอง โดยใช้แผนบริหารจัดการผลไม้เป็นเครื่องมือกำกับ ติดตามการปฏิบัติงานครอบคลุมทั้งเรื่องการจัดการเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ โดยดำเนินการตั้งแต่ต้นทาง เช่น การส่งเสริมการผลิตลำไยนอกฤดู ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 ส่งผลให้สัดส่วนการผลิตลำไยนอกฤดู ปี 2561 เพิ่มสัดส่วนต่อลำไยในฤดูเป็น 60 : 40 จากเดิมผลิตได้ในสัดส่วน 80 : 20 ผลผลิตก็ไม่เกิดการกระจุกตัว มีให้รับประทานได้ตลอดทั้งปี ในส่วนการดำเนินการช่วงกลางทาง มีการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพไม้ผลสู่มาตรฐานและยกระดับสู่การรับรอง GAP โดยมีนักส่งเสริมเข้าให้ความรู้ แนะนำวิธีการตัดควบคุมทรงพุ่ม (ทำลำไยต้นเตี้ย) ตัดแต่งช่อดอก ช่อผล ผ่านระบบแปลงใหญ่ กว่า 225 แปลง หรือในช่วงฤดูกาลที่ผลผลิตมีออกเป็นจำนวนมาก มีการจัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิตด้วยการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่อย่างละเอียด ส่วนปลายทางนั้นได้ประสานหาตลาด เพื่อรองรับผลผลิตที่จะออกมา พร้อมรายงานสถานการณ์การผลิต การตลาด สภาพปัญหาของผลไม้ทุกวัน เพื่อเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดให้เกิดความสมดุล

ผลจากการปฏิบัติตามแผนนั้น ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือ สามารถดำเนินการไปในทิศทางที่ดี ลดการใช้เงินสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่มีการแทรกแซงราคา กลไกตลาดเป็นไปอย่างปกติตลอดฤดูกาล ซึ่งเมื่อเทียบราคาผลผลิตในช่วงที่ผลไม้ออกมากที่สุด ปี 2561 คือ ภาคเหนือ ลำไย AA ต้นทุนการผลิตที่ 10.70 บาท/กิโลกรัม ขายได้ราคา 31 บาท เพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 6.4 บาท ส่วนภาคตะวันออก ทุเรียน A ต้นทุนการผลิตที่ 17.70 บาท/กิโลกรัม ขายได้ราคา 77.21 บาท เพิ่มขึ้น 5.38 บาท มังคุด A ต้นทุนการผลิตที่ 19.27 บาท/กิโลกรัม ขายได้ราคา 136.79 บาท เพิ่มขึ้น 105.91 บาท เงาะ A ต้นทุนการผลิตที่ 12.38 บาท/กิโลกรัม ขายได้ราคา 17.33 บาท ลดลง 1.56 บาท ลองกอง A ต้นทุนการผลิตที่ 26.71 บาท/กิโลกรัม ขายได้ราคา 31.13 บาท ลดลง 2.2 บาท และภาคใต้ ทุเรียน A ต้นทุนการผลิตที่ 16.06 บาท/กิโลกรัม  ขายได้ราคา 72 บาท ลดลง 4.61 บาท มังคุด A ต้นทุนการผลิตที่ 16.81 บาท/กิโลกรัม ขายได้ราคา 52 บาท เพิ่มขึ้น 18.12 บาท เงาะ A ต้นทุนการผลิตที่ 10.40 บาท/กิโลกรัม ขายได้ราคา 14 บาท ลดลง 12.18 บาท และลองกอง A ต้นทุนการผลิตที่ 64.04 บาท/กิโลกรัม ขายได้ราคา 32.5 บาท ลดลง 4.55 บาท โดยรวมแล้ว เกษตรกรยังมีกำไรจากการขายผลผลิตตามกลไกตลาดปกติ

จากการวางแผนการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2561 และการปฏิบัติตามแผนอย่างเข้มแข็งจากทุกภาคส่วน ส่งผลให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีระบบ ระเบียบ ผลไม้ที่ผลิตออกมามีคุณภาพ สามารถส่งออกไปยังในต่างประเทศ สร้างมูลค่าที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีให้คนในประเทศได้รับประทานตลอดทั้งปี และเพราะความสำเร็จในปีนี้ สามารถใช้เป็นต้นแบบหรือแนวทางเพื่อขยายผลการบริหารจัดการสู่สินค้าเกษตรชนิดอื่นต่อไปได้ในอนาคต นายสำราญ กล่าว