ที่มา | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
กระทรวงยุติธรรมเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรบุรีรัมย์ถูกฟ้องคดีปุ๋ยฉาว อนุมัติส่งทนายส่วนกลางลงไปต่อสู้คดี ชงศอตช.เข้าร่วมดูแล เตรียมแจ้งประธานศูนย์ต่อต้านทุจริตแห่งชาติตรวจสอบอีกหลายคดี ด้านสตง.รับเรื่องร้องทุกข์แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ 5 อำเภอ (โนนสุวรรณ หนองหงส์ หนองกี่ ปะคำ นางรอง) ของจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 88 กลุ่ม ประมาณ 500 ราย ได้ถูก หจก.ดีสิงห์ทวีโชค ฟ้องให้ชำระค่าปุ๋ยแทน อบจ.บุรีรัมย์ ในโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ซึ่งมีการประสานให้เอกชนสี่รายนำปุ๋ยไปส่งมอบให้เกษตรกรทั้งจังหวัดบุรีรัมย์ มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท โดยที่ผู้ว่าราชกการจังหวัดยังไม่ได้อนุมัติโครงการ ซึ่งคดีได้ขึ้นสู่ศาลมาแล้ว 6 ครั้ง โดยยังไม่มีทนายมาช่วยต่อสู้คดี
ทั้งนี้ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2559 ตัวแทนเครือข่ายกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรประมาณ 20 คน ได้เดินทางมาติดตามความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือด้านทนายที่กระทรวงยุติธรรม โดยมีรองปลัดกระทรวงยุติธรรมได้มารับเรื่องร้องทุกข์ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกจากนั้นยังได้เดินทางไปยื่นเรื่องร้องทุกข์ถึงประธานคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบเพิ่มเติมการดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ด้วย
นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า จะเร่งพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ซึ่งตามระเบียบกองทุนยุติธรรม การตรวจสอบฐานะของผู้ยื่นเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ ทั้งนี้ ตนในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมได้อนุมัติให้ความช่วยเหลือ โดยจะใช้ทนายจากสภาทนายความ เพราะเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่มิชอบและคดีมีความซับซ้อนกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ซึ่งเกษตรกรประสงค์ขอใช้ทนายความจากส่วนกลาง เพราะเกิดความไม่มั่นใจกับทนายในพื้นที่ด้วย
พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมไม่ได้นิ่งนอนใจ กรณีชาวบ้านในจังหวัดบุรีรัมย์ และใกล้เคียงที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง และกระทรวงยุติธรรมก็ต้องขอขอบคุณตำรวจในแต่ละอำเภอที่ช่วยกันหาข้อมูลป้อนให้กับกระทรวง จนกระทั่งทราบว่ามีแนวทางต่อสู้คดีให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนบรรเทาทุกข์อย่างไร
“ขอย้ำว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมโดยตรง และอำนาจหน้าที่ของศูนย์ต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ก็จะต้องเข้ามาดูแลในเรื่องของประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมอันเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งจะนำเรียนประธาน ศอตช.(พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา) ในการตัดสินใจอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชน เนื่องจากมีเรื่องลักษณะนี้อีกหลายคดี รวมทั้งจะต้องหาแนวร่วมในการตรวจสอบเพื่อให้ชาวบ้านได้รับความเป็นธรรมอย่างทั่วถึงโดยเร็วที่สุด” รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าว