ทิศทางเกษตรกรรมไทย กับสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ พัฒนาเกษตรกรไทยรู้ทันธรรมชาติ

ในแวดวงนักวิจัยไทย ปี 2561 นับว่ามีงานเสวนาและนิทรรศการระดับประเทศอย่างไม่ขาดสาย โดยหนึ่งในงานที่น่าสนใจ คือ งาน NSTDA Investors’ Day 2018 ซึ่งมีหัวข้อสัมมนา เรื่อง “เทคโนโลยีพลิกเกษตรไทยเป็นเกษตรอัจฉริยะ (Disruptive Technologyto Smart Farming)

โดยมีวิทยากรที่เชี่ยวชาญ 3 ท่าน ด้วยกัน คือ นายสัตวแพทย์รุจเวทย์ ทหารแกล้ว รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยและพัฒนา เครือเบทาโกร, คุณปัญญวัฒน์ ฉัททันต์รัศมี ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์นวัตกรรมกลุ่มมิตรผล บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และ คุณกำพล โชคสุนทสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟาร์มดี เอเชีย จำกัด และในฐานะนายกสมาคมไทย ไอโอที (Thai IoT Assosiation) ให้ความรู้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้กับแวดวงเกษตรกรรมไว้อย่างน่าสนใจ

 

ผู้ร่วมเสวนา น.สพ.รุจเวทย์ ทหารแกล้ว คุณปัญญวัฒน์ ฉัททันต์รัศมี คุณกำพล โชคสุนทสุทธิ์ และ ดร.วงศกร พูนพิริยะ ผู้ดำเนินรายการ

คุณกำพลนั้น ได้เจาะไปที่การให้ความรู้เรื่องนวัตกรรมเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (IoT – Smart Agriculture) โดยบอกถึงที่มาของแนวคิดการเริ่มต้นนำเทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจการเกษตร โดยปัจจุบันได้เริ่มทำ 8-10 โครงการ ด้วยการนำไอเดียโรงเรือนมาจากประเทศสิงคโปร์มาต่อยอดเป็นฟาร์มเห็ด จากนั้นพัฒนาเป็นสมาร์ทฟอร์ม และแพลทฟอร์ม รวมทั้งมีการนำโดรน (Drone : อากาศยานไร้คนขับ) และหุ่นยนต์พ่นยามาใช้กับแปลงเกษตร นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดว่าภายในปีนี้จะนำนวัตกรรมด้านอาหารมาแปรรูปเห็ดเป็นเบอร์เกอร์เนื้อ

“แต่ก่อนเราทำเกษตรพ่นยาด้วยคน ตอนนี้เราใช้โดรนจับสายยาง ไปฉีดยาให้น้ำหนักของสารเคมีที่โดรนหิ้วขึ้นไปน้อยลง และใช้เวลาพ่นนานขึ้น ก็นับว่าได้ผลดี นอกจากนี้ ล่าสุดมีการนำเทคโนโลยี ไอโอที ไปใช้กับฟาร์มเลี้ยงวัว ซึ่งแต่ก่อนวัวจะให้น้ำนมไม่เกิน 20 ลิตร ต่อวัน แต่เมื่อนำ ไอโอที ไปใช้ โดยติดเซ็นเซอร์ที่วัว ก็จะทำให้ทราบว่า เวลาวัวติดสัตว์มันจะงุ่นง่าน ขยับตัวตลอดเวลา ข้อมูลนี้จะถูกส่งไปที่สมาร์ทฟอร์ม แพลทฟอร์ม เมื่อรู้ว่าเบอร์ของวัวตัวนั้นว่าติดสัตว์ก็จะไม่รีดนม เพื่อให้เกิดช่วงผสมพันธุ์ เพื่อเลือกเพศ และทำสปาวัว ซึ่งก็ทำให้สุขภาพวัวดีขึ้น ให้น้ำนมได้ 30-40 ลิตร ต่อวัน ซึ่งก็มีผู้ลงทุนสนใจ และผมจะใช้วิธีคุยกับผู้ลงทุน หรือคุยกับเกษตรกรแต่ละราย เพื่อให้รู้วิธีการทำงาน และดูว่าจะนำเรื่องเทคโนโลยีเข้าไปแก้ไขตรงจุดใดได้บ้าง ซึ่งจะต้องใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมมาแก้ ไม่ได้ใช้ด้านชีว หรือ ไบโอ มาแก้” คุณกำพล เล่าให้ฟัง

ปัจจุบัน คุณกำพล นำบริษัท ฟาร์มดี เอเชีย เข้าสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีเนื้อหาบริการด้านเทคโนโลยีที่ใช้ในเกษตรกรรม ด้วยการจับคู่ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกับผู้ซื้อให้มาเจอกันผ่านคลาวด์ (cloud) ซึ่งเป็นการจัดเก็บระบบข้อมูล ประมวลผล และระบบเครือข่ายข้อมูลผ่านนวัตกรรมซอฟต์แวร์ ผ่านสมาร์ทฟอร์ม แพลทฟอร์ม (smart form platform) ซึ่งทางคุณกำพลมีแนวคิดนำฐานข้อมูลเชื่อมต่อจับคู่ให้เกิดตลาดค้าขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า

โดยจะมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลผลิตทั้งหมดของเกษตรกร เพื่อให้เกิดผลทางวิเคราะห์ว่า หากเกษตรกรรายหนึ่งจะปลูกพืชชนิดหนึ่ง จะไปชนกับใครบ้างในตลาด และควรปลูกหรือไม่ รวมทั้งต้องเจอกับความเสี่ยงอะไรบ้าง

ล่าสุดมีสินค้าเกษตรกรรมที่อยู่ในเครือข่ายฐานข้อมูล ได้แก่ ข้าว พริก หอม และกระเทียม รวมทั้งยังมีบริการจับคู่สินค้าเกษตรกรรมที่ครอบคลุมถึง “ผลไม้” โดยข้อมูล (data) ทั้งหมดจะถูกส่งเข้าศูนย์สมาร์ทฟอร์ม แพลทฟอร์ม เพื่อให้เกิดการประมวลผลและวิเคราะห์ออกมาว่ารูปแบบพื้นที่เพาะปลูก และวิธีการปลูกจะเหมาะสมกับแบบใด เรียกว่า การบริหารฟาร์ม หรือ ฟาร์ม เมเนจเมนต์ (Farm Management)

ซึ่งเกษตรกรจะใส่เนื้อหาหรือข้อมูลของตัวเองเข้าไป โดยมีอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ เรียกว่า สมาร์ท โมบาย ให้ข้อมูลเรื่องเทคโนโลยีและความรู้ โดยจะคิดค่าบริการเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน รายละ 350 บาท ต่อเดือน ในการใช้บริการแพลทฟอร์ม

ส่วน นายสัตวแพทย์รุจเวทย์ ทหารแกล้ว รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยและพัฒนา เครือเบทาโกร มีการนำตัวอย่างในยูทูบให้เห็นว่า เกษตรกรในฝั่งประเทศแถบยุโรปนั้น มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มด้วยเช่นกัน โดยเบทาโกรนั้นมีการตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ และพัฒนามาเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนา (Research & Development Center) ซึ่งเริ่มเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ไก่และสุกรในปี 2549

จากนั้นใน ปี 2556 มีการนำคิวอาร์โค้ดซึ่งเป็นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีมาใช้ และพัฒนาด้านไอทีด้วยการออกเว็บไซต์ ในปี 2557 และ ปี 2558 มีการนำคิวอาร์โค้ดมาใช้กับอาหารสัตว์แปรรูป ทั้งเนื้อหมูและเนื้อไก่ เพื่อให้ข้อมูลผู้บริโภคว่า ในเนื้อสัตว์แปรรูป 1 กล่อง ประกอบด้วยอะไรบ้าง ผลิตที่ไหน และเจ้าของฟาร์มคือใคร

“เราใช้ระบบคอนแทร็กต์ ฟาร์มมิ่ง ซึ่งจะส่งผลเชื่อมโยงทั้งระบบ ตั้งแต่คุณภาพ การบริหารจัดการ และการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ โดยข้อมูลหนึ่งก็พบว่า การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านไอทีมาใช้พัฒนาเป็นสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง ส่งผลไปทั่วโลก อย่างสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง ในยุโรปนั้นก็ส่งผลต่อประเทศไทยด้วยเช่นกัน เช่น การติดไมโครโฟนและติดกล้องวิดีโอที่ฟาร์มเลี้ยงไก่ เพื่อติดตามพฤติกรรมตั้งแต่เป็นลูกเจี๊ยบ อย่างที่ประเทศเบลเยียม นำกล้องและติดเบอร์ให้กับสัตว์ รวมทั้งนำเทคโนโลยีไปติดในฟาร์มหมู และเนเธอร์แลนด์ก็ทำแบบนี้เช่นกัน เพื่อดูพฤติกรรมสัตว์ ซึ่งจะทำให้รู้ว่าสัตว์ในฟาร์มตัวไหนป่วย และเกิดภาวะติดเชื้อโรคช่วงใด รวมไปถึงเห็นอารมณ์และพฤติกรรมของสัตว์ในฟาร์ม ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ทำให้เกิดการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ (Data Information for good change develop for industry)” น.สพ. รุจเวทย์ เล่าให้ฟัง

โดยในยุโรปเรียกว่า เกิดอินเตอร์เน็ตในฟาร์มหมูและไก่ (internet of chicken – pork project) ซึ่งจะทำให้เห็นผ่านไมโครโฟนที่จับเสียงหมู 24 ชั่วโมง ว่าถ้าหมูไอแบบนี้ มีแนวโน้มเป็นโรคปอด อย่างในยุโรปก็พบว่า แต่ละฟาร์มพยายามทำให้ได้แต่ก็พบอุปสรรค โดยก็มีโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้ทุกฟาร์มมีอินเตอร์เน็ตและไวไฟ และเงินลงทุน

ซึ่งตอนนี้เครือเบทาโกรทำโครงการกับมหาวิทยาลัยเพื่อวิเคราะห์เสียงสัตว์เป็นลักษณะดาต้า อะนาลิซิส เป็นหนึ่งในงานวิจัยและพัฒนา รวมทั้งยังคาดหวังในการทำไอโอซี หรืออินเตอร์เน็ตในฟาร์มไก่ให้เกิดการขยายผล เพื่อเป็นข้อมูลจริง (real time) ที่ให้ผลวิเคราะห์การเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม ซึ่งสามารถนำข้อมูลไปสนับสนุนให้ปศุสัตว์ได้ และในอนาคตฐานข้อมูลที่ได้จากไอโอที ก็จะพัฒนาไปสู่ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ได้ (AI : Artificial Intelligence)

สำหรับ คุณปัญญวัฒน์ ฉัททันต์รัศมี ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์นวัตกรรมกลุ่มมิตรผล บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เล่าว่า บริษัทมีการเก็บฐานข้อมูลเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและติดเลขโควต้าให้เกษตรกรมา 5-6 ปีแล้ว เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการทำรายงาน

ซึ่งใช้วิธีเก็บข้อมูลด้วยมนุษย์ หรือส่งคนลงพื้นที่ไปหาข้อมูลกับเกษตรกรโดยตรง หรือจากฐานข้อมูลที่ได้จากกรมวิชาการเกษตร ฟาร์มเกษตรกร ผู้เชี่ยวชาญ จากตลาดรับซื้อขาย และจากผู้ผลิต รวมทั้งการใช้วิธีเก็บข้อมูลจากดาวเทียม และการเก็บภาพถ่ายทางอากาศโดยใช้โดรน เพื่อนำมาวิเคราะห์ ประเมินผลการเปลี่ยนแปลงของไร่อ้อยแต่ละพื้นที่

โดยมีการเก็บข้อมูลแล้ว 1 ล้านไร่เศษ และขยายพื้นที่เก็บข้อมูลไปในลาว ซึ่งพนักงานเก็บข้อมูล 1 คน ดูแลชาวไร่ 200-300 คน ในอนาคตก็หวังว่า อาจจะเกิดรูปแบบบริษัทที่ให้บริการฐานข้อมูลเกษตรกรไร่อ้อยผ่านแอปพลิเคชั่นโดยตรง

“สิ่งที่มิตรผลทำคือ บิ๊กดาต้า ฟอร์ อะกริคัลเจอร์ (Big Data for agriculture) เพราะเรารู้ว่า สิ่งที่เกษตรกรขาดคือ ข้อมูล ที่จะทำให้เห็นปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมว่า น้ำพอไหม น้ำขาดไหม ต้องอาศัยข้อมูลด้านสารสนเทศ จากดาวเทียมและเครื่องมือต่างๆ รวมทั้งข้อมูลจากแหล่งน้ำที่สำคัญๆ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีการเตรียมตัวรับมือได้ทัน” คุณปัญญวัฒน์ อธิบายถึงความสำคัญของการทำฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาไปสู่การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อเกษตรกรในยุคนี้อย่างมาก โดยเฉพาะจะทำให้ทราบว่า ปีใดจะเกิดภาวะแล้ง หรือปีใดจะเกิดน้ำมาก และจะต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างไร

เวทีนี้จึงเป็นมิติใหม่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านงานวิจัยในไทยพยายามที่จะนำความรู้ไปสู่มือประชาชน โดยเจาะไปยังข้อมูลด้านเกษตรกรรมซึ่งเป็นประโยชน์ในวงกว้าง เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และมีรายได้หลักมาจากสินค้าเกษตร เพราะฉะนั้น ข้อมูลที่เกิดจากการพัฒนาด้านงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี จึงเชื่อมโยงกันอย่างมีความหมาย

สมาร์ทฟาร์ม นวัตกรรมจากพระราชดำริของ ในหลวงรัชกาลที่ 9

ในเว็บไซต์ http://www.sptn.dss.go.th ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับสินค้าโอท็อป ได้ให้ความหมายของ สมาร์ทฟาร์ม (Smart farm) ว่า เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย) เกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการใช้นวัตกรรมด้านการเกษตรมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตและพัฒนาภาคการเกษตร โดยรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับสมาร์ทฟาร์ม ดังนี้

สมาร์ฟาร์ม หรือ เกษตรอัจฉริยะ เป็นรูปแบบการทำเกษตรแบบใหม่ที่จะทำให้การทำไร่ทำนามีภูมิคุ้มกันต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการนำข้อมูลของภูมิอากาศทั้งในระดับพื้นที่ย่อย (Microclimate) ระดับไร่ (Mesoclimate) และระดับมหภาค (Macroclimate) มาใช้ในการบริหารจัดการ ดูแลพื้นที่เพาะปลูก เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่เกิดขึ้น

รวมถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต โดยได้รับการขนานนามว่า เกษตรกรรมความแม่นยำสูง หรือ เกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และเริ่มแพร่หลายในหลายประเทศ ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินเดีย ปัจจุบัน นวัตกรรมเกษตรได้ถูกเผยแพร่ไปยังเกษตรกร จนมีการเรียกกันว่า “สมาร์ท ฟาร์มเมอร์” (Smart farmer)

ศัพท์เทคโนโลยีที่เกษตรกรควรรู้

IoT หรือ Internet of Things ในวิกีพีเดียให้ความหมายไว้ว่า เป็น เครือข่ายของวัตถุ อุปกรณ์ พาหนะ สิ่งปลูกสร้าง และสิ่งของอื่นๆ ที่มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์ เซ็นเซอร์ และการเชื่อมต่อกับเครือข่าย ฝังตัวอยู่ และทำให้วัตถุเหล่านั้นเก็บบันทึกและแลกเปลี่ยนข้อมูลได้

อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่งทำให้วัตถุรับรู้สภาพแวดล้อมและถูกควบคุมได้จากระยะไกลผ่านโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายที่มีอยู่แล้ว ทำให้ผสานโลกกายภาพกับระบบคอมพิวเตอร์ได้แนบแน่นมากขึ้น ผลที่ตามมาคือประสิทธิภาพ ความแม่นยำ และประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น

เมื่อ IoT ถูกเสริมด้วยเซ็นเซอร์และแอคชูเอเตอร์ซึ่งเปลี่ยนลักษณะทางกลได้ตามการกระตุ้น ก็จะกลายเป็นระบบที่ถูกจัดประเภทโดยทั่วไปว่า ระบบไซเบอร์-กายภาพ (cyber-physical system) ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีอย่าง กริดไฟฟ้าอัจริยะ (สมาร์ทกริด) บ้านอัจฉริยะ (สมาร์ทโฮม) ระบบขนส่งอัจฉริยะ (อินเทลลิเจนต์ทรานสปอร์ต) และเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้)

วัตถุแต่ละชิ้นสามารถถูกระบุได้โดยไม่ซ้ำกันผ่านระบบคอมพิวเตอร์ฝังตัว และสามารถทำงานร่วมกันได้บนโครงสร้างพื้นฐานอินเตอร์เน็ตที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าเครือข่ายของสรรพสิ่งจะมีวัตถุเกือบ 50,000 ล้านชิ้น ภายในปี 2020 มูลค่าตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 80 พันล้านเหรียญสหรัฐ

AI : Artificial Intelligence วิกีพีเดียอธิบายความว่า ความฉลาดเทียมที่สร้างขึ้นให้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต ปัญญาประดิษฐ์เป็นสาขาหนึ่งในด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมเป็นหลัก แต่ยังรวมถึงศาสตร์ในด้านอื่นๆ อย่าง จิตวิทยา ปรัชญา หรือชีววิทยา ซึ่งสาขาปัญญาประดิษฐ์เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการการคิด การกระทำ การให้เหตุผล การปรับตัว หรือการอนุมาน และการทำงานของสมอง แม้ว่าดังเดิมนั้นเป็นสาขาหลักในวิทยาการคอมพิวเตอร์ แต่แนวคิดหลายๆ อย่างในศาสตร์นี้ได้มาจากการปรับปรุงเพิ่มเติมจากศาสตร์อื่นๆ