โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดเพชรบูรณ์ เน้นเรียนรู้เกษตร ฝึกอาชีพพื้นฐาน เตรียมใช้ชีวิตในสังคม

จังหวัดเพชรบูรณ์ เรียกได้ว่าเป็นจังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง ที่อาณาเขตพื้นที่ไม่ได้น้อยไปกว่าจังหวัดใกล้เคียง ความสวยงามและความเจริญของเมืองควบคู่กันไป แต่สิ่งที่พบในครั้งนี้ แตกต่างไปจากทุกครั้ง เมื่อเข้าไปในโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดเพชรบูรณ์ ตำบลบ้านโตก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ พบว่า มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด เมื่อพื้นที่บริเวณโรงเรียนทั้งหมด 200 ไร่ ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่สำหรับเรียนและสอน แต่เป็นอาคารเรือนพักให้กับนักเรียน เพราะนักเรียนที่นี่ต้องอยู่ประจำ กลับบ้านเฉพาะช่วงปิดเทอมเท่านั้น

ความแตกต่างที่เอ่ยถึงก่อนหน้า คือ ความแตกต่างในตัวของนักเรียน เพราะนักเรียนที่นี่ เป็นนักเรียนที่มีความบกพร่องหรือพิการทางการได้ยิน เช่น หูหนวก เป็นใบ้ นอกจากนี้ ยังรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางด้านสติปัญญา หรือ เด็กออทิสติก สมาธิสั้น เป็นต้น ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในการเรียนการสอนที่แน่นอนว่าต้องไม่เหมือนสถานศึกษาแห่งอื่น

อาจารย์วนิดา จิตรอาษา รองผู้อำนวยการโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดเพชรบูรณ์ ให้ข้อมูลว่า สถานศึกษาแห่งนี้ มีพื้นที่มากถึง 200 ไร่ แบ่งพื้นที่เป็นอาคารเรียน ศูนย์การเรียนรู้ อาคารใช้ประโยชน์ และเรือนนอนของนักเรียน อีกส่วนเป็นพื้นที่ที่ทำการเกษตรเกือบทั้งหมด

นักเรียนบกพร่องทางสติปัญญา ช่วยกันขยายพันธุ์ต้นชบา

สถานศึกษาแห่งนี้ รับนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 และเปิดรับเข้าเรียนโดยไม่มีระยะเวลารับสมัคร เปิดให้สมัครได้ตลอดทั้งปี เหตุผลเพราะนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและบกพร่องทางสติปัญญา จะมีวุฒิภาวะที่แตกต่างจากเด็กปกติทั่วไป ปีการศึกษา 2561 จึงมีนักเรียนทั้งสิ้น 271 คน มีบุคลากรผู้สอน 42  คน

อาจารย์วนิดา บอกด้วยว่า การเรียนการสอนในกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน จะใช้หลักการสอนเช่นเดียวกับเด็กนักเรียนทั่วไป แต่จะปรับเนื้อหาเชิงวิชาการลดลง เพิ่มเนื้อหาในกลุ่มของวิชาชีพเพิ่มมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา จะเน้นเรื่องของอาชีพ การช่วยเหลือตนเอง และการใช้ชีวิตประจำวันให้มากที่สุด เพราะอนาคตข้างหน้าเด็กเหล่านี้จะต้องกลับไปอยู่กับสังคมและชุมชนที่พื้นฐานส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรม ดังนั้น การฝึกให้เรียนรู้เรื่องเกษตรกรรมและวิชาชีพ จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมที่สุด

สามหนุ่มนักเรียนพิการทางการได้ยิน เลี้ยงปลาและปลูกผัก

กว่า 22 ปีแล้วที่โรงเรียนแห่งนี้ก่อตั้งมา แต่นักเรียนที่จบการศึกษาออกไป มีอายุมากกว่าการก่อตั้ง เหตุเพราะนักเรียนในรุ่นแรกๆ เป็นนักเรียนที่เข้ามาเรียนเมื่ออายุเกินเกณฑ์ แต่ก็ประสบความสำเร็จ และที่ผ่านมา อาจารย์วนิดา บอกว่า มีหลายคนที่เรียนจบในระดับปริญญาตรี เข้าทำงานในสถานประกอบการหลายแห่ง นอกจากนี้บางส่วนที่ไม่ได้ศึกษาต่อ ก็นำวิชาชีพที่เรียนในโรงเรียนกลับไปประกอบอาชีพได้ เช่น ทำโรงเรือนเพาะเห็ด ทำสวน เลี้ยงไก่ รวมถึงงานอาชีพ เช่น การแปรรูปอาหารจำหน่าย

จำแนกพื้นที่การเกษตรของโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดเพชรบูรณ์ ออกเป็นศูนย์การเรียนรู้ จำนวน 10 ไร่ และแบ่งเป็นพื้นที่สำหรับปลูกไม้ผลชนิดต่างๆ อาทิ สวนมะขามหวาน สวนกระท้อน สวนแก้วมังกร สวนมะขามเปรี้ยว สวนกล้วย สวนไผ่ สวนมะม่วง และแปลงนา ประมาณ 50 ไร่

ทำก้อนเชื้อเห็ดเองด้วย

อาจารย์วนิดา เล่าว่า โรงเรียนให้ความสำคัญกับการเกษตรมายาวนาน ตั้งแต่การก่อตั้งโรงเรียน เพราะเข้าใจดีว่าการเกษตรเป็นวิชาพื้นฐานและเป็นจุดเริ่มต้นของครอบครัวของนักเรียน จึงจัดพื้นที่ส่วนใหญ่ให้เป็นแปลงเกษตร ซึ่งนอกจากจะปลูกพืชแล้ว ยังดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ไข่ ปลาดุก ปลานิล เลี้ยงเป็ด เลี้ยงกบ การแปรรูปอาหาร การทำโรงเรือนเพาะเห็ด ทั้งยังขยายการเรียนรู้ออกไปถึงระบบอุตสาหกรรม คือ การทำอิฐบล็อกเพื่อใช้ประโยชน์ในโรงเรียนและจำหน่ายให้กับบุคคลภายนอกอีกด้วย

“เรื่องของการปลูกพืช เราไม่ได้ซื้อต้นกล้าหรือกิ่งพันธุ์จากภายนอกให้เป็นการสิ้นเปลือง เราใช้วิธีซื้อต้นพันธุ์มา แล้วเพาะขยายพันธุ์เอง โดยใช้ร่วมกับการสอนนักเรียน นอกจากนักเรียนจะได้เรียนรู้แล้ว ยังขยายพันธุ์ไว้ใช้เองในพื้นที่ของโรงเรียน ทำให้ไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มด้วย”

เด็กหญิงวิลาสินี แซ่หลอ บกพร่องทางการได้ยิน ชอบการเลี้ยงไก่ไข่มาก

จุดเด่นของโรงเรียนแห่งนี้อยู่ที่การเกษตรครบวงจร นับตั้งแต่การขยายพันธุ์ การทำต้นพันธุ์ การลงแปลง การปลูก การดูแล การรักษา ไปถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต แล้วนำไปใช้ในโรงครัว เมื่อเหลือจากรับประทานจึงนำไปจำหน่าย ตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

การเลี้ยงไก่ไข่ ดูเหมือนจะเป็นจุดเด่นอีกชนิดของโรงเรียน เพราะโรงเรียนเลี้ยงใน 2 รูปแบบ คือ การเลี้ยงกรงตับ และ การเลี้ยงปล่อยลาน

ในระยะแรกเลี้ยงไก่ไข่กรงตับ ต่อมาได้รับคำแนะนำจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเพชรบูรณ์ และสำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ ให้ทดลองเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อยลาน เพื่อให้ไก่มีสุขภาพดี ไข่ไก่ที่ได้มีคุณภาพ และปรับระบบอาหารไก่ โดยนำผักและเศษอาหารจากโรงครัวมาให้ไก่กิน เมื่อได้ไข่ไก่ จึงเรียกว่า ไข่ไก่อินทรีย์ เมื่อไข่ไก่มีคุณภาพก็ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเพขรบูรณ์และสำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ ในการประสานการนำไข่ไก่อินทรีย์ไปจำหน่าย ทำให้ปัจจุบันไข่ไก่อินทรีย์ได้รับการยอมรับจากตลาดระดับบน ส่งวางจำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรด เช่น ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ภายใต้ชื่อแบรนด์ “ฟาร์มโสต”

ส่วนงานแปรรูปและงานคหกรรม ผลงานที่ได้มา เช่น เบเกอรี่ ขนมไทย เครื่องดื่ม งานผ้า ก็มีวางจำหน่ายที่ร้านค้าสหกรณ์ของโรงเรียน และด้วยผลงานที่นักเรียนอย่างมีคุณภาพ ทำให้มีงานจ้างทำของชำร่วย สร้างรายได้ให้กับนักเรียนเพิ่มเติมด้วย

เมื่อถามถึงการจัดระบบการเรียนการสอน อาจารย์วนิดา กล่าวว่า เพราะนักเรียนของโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดเพชรบูรณ์ มีนักเรียนที่การพัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ แตกต่างจากเด็กนักเรียนทั่วไป ทำให้การจัดระบบการสอนต้องแตกต่าง

“เวลาสอนเราต้องมีเทคนิค หากเป็นนักเรียนที่บกพร่องทางสติปัญญา จะต้องเน้นการสาธิต สอนย้ำ ซ้ำ ทวน หลายครั้งหลายขั้นตอน บางคนเรียนรู้เร็ว บางคนเรียนรู้ช้า ต้องสอนแบบการวิเคราะห์งาน ต้องแบ่งชิ้นงานให้ย่อยที่สุดเพื่อสอนเท่าที่จะทำได้ ส่วนเด็กที่บกพร่องทางการได้ยิน ใช้วิธีสอนเหมือนคนปกติ แต่เน้นการสาธิต และครูผู้สอนต้องมีทักษะภาษามือ ต้องให้เด็กได้เห็นจริง เขาจึงจะนำไปปฏิบัติได้”

การสอน จำเป็นต้องแบ่งเป็นระดับชั้น

ระดับประถมศึกษา เรียนเรื่องพื้นฐานอาชีพ เช่น การใช้เครื่องมืออุปกรณ์ การลงมือทำในตอนท้ายของการเกษตร คือ การเก็บผลผลิต ระยะนี้เป็นการหาความสนใจของเด็ก และการเติมเพื่อให้เด็กให้ซึมซับ

ระดับมัธยมศึกษา จะเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนเลือกอาชีพหรือกิจกรรมที่นักเรียนสนใจ เพื่อเริ่มปูพื้นฐานในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และเริ่มให้นักเรียนจับงานที่ยากขึ้นตามความสนใจของแต่ละคน เช่น นักเรียนชาย สนใจเรื่องงานอุตสาหกรรมก็ให้ทำอิฐบล็อก ผู้หญิงสนใจเรื่องงานแปรรูปอาหาร งานประดิษฐ์ รวมถึงงานเกษตรที่ลงลึกไปมากกว่าการขยายพันธุ์พืชแบบปกติ ไปถึงการเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ ทำก้อนเชื้อเห็ด และการเลี้ยงไก่ไข่

นายก้องภพ ราศรีชัย หรือ น้องแคมป์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีความบกพร่องทางการได้ยิน อธิบายด้วยภาษามือ ว่า ผมชอบเลี้ยงปลาและปลูกผัก ถึงจะไม่ใช่เรื่อง่าย แต่ผมก็ทำได้ เพราะต้องการนำความรู้ที่ได้ไปใช้ที่บ้านซึ่งเลี้ยงปลาดุกในกระชัง

นายนพดล ธงชัย หรือ น้องแว่น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีความบกพร่องทางการได้ยิน อธิบายด้วยภาษามือเช่นเดียวกันว่า ชอบการเลี้ยงปลา  และการทำหน้าที่เลี้ยงปลาในโรงเรียนได้แบ่งความรับผิดชอบกับเพื่อนด้วยกัน เช่น การให้อาหาร นำจับ การนำไปขายที่ตลาด ซึ่งตนได้รับมอบหมายให้อาหารปลา ต้องให้ในเวลาเช้าและเย็น ซึ่งการเรียนรู้เช่นนี้ทำให้ตนได้ประโยชน์ สามารถนำกลับไปประยุกต์ใช้ที่บ้านได้ และอาจเป็นอาชีพในอนาคตได้ด้วย

ด้าน เด็กหญิงวิลาสินี แซ่หลอ หรือ น้องไก่ อายุ 10 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีความบกพร่องทางการได้ยิน พูดคุยด้วยภาษามือให้ฟังว่า สนใจเรื่องการเลี้ยงไก่ ที่บ้านเลี้ยงไก่ จึงขออนุญาตครูช่วยพี่มัธยมศึกษาดูแลไก่ไข่ ทุกๆ วันจะเก็บไข่ไปจำหน่าย เริ่มเก็บไข่ในเวลาเที่ยงของทุกวัน ไม่กลัวเลอะ และไม่เหม็นขี้ไก่ เพราะชอบเลี้ยงไก่

อาจารย์วนิดา บอกว่า เด็กหญิงวิลาสินี เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาคนเดียวที่ได้เรียนรู้เรื่องการเลี้ยงไก่ไข่ เพราะเด็กหญิงวิลาสินีสนใจมาก ทุกสัปดาห์จะสามารถเก็บไข่ไก่ส่งให้กับห้างท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต 700 ฟอง จากจำนวนไก่ 180 ตัว ส่วนไข่ไก่ที่ได้จากไก่เลี้ยงแบบกรงตับ จะเก็บจำหน่ายในชุมชนและบริโภคในโรงเรียน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเรียนการสอนที่ดูเหมือนจะครบถ้วนบริบูรณ์ แต่สิ่งที่โรงเรียนยังไม่พร้อมและต้องการการช่วยเหลือดูแล คือ การส่งเสริมความรู้ในภาคเกษตร เนื่องจากครูส่วนใหญ่ไม่ได้จบการศึกษาด้านเกษตร แต่การเรียนการสอนเรื่องเกษตรมีความจำเป็นมากที่สุด หากหน่วยงานใดต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนขอเป็นการให้ความรู้ทางด้านเกษตรจะเหมาะสมที่สุด

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดเพชรบูรณ์ ตำบลบ้านโตก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ โทรศัพท์ (085) 052-7677 หรือ (056) 029-839 ในวัน เวลาราชการ