ปลูกพืชผสมผสานลดความเสี่ยง สร้างงาน ทำเงินต่อเนื่อง

คุณสมพร โนนริบูรณ์ มีสวนอยู่ที่บ้านเลขที่ 122 หมู่ที่ 3 ตำบลดงบัง อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่ยึดการทำเกษตรในรูปแบบของเกษตรผสมผสาน โดยมีการแบ่งพื้นที่สำหรับปลูกพืชหมุนเวียนอย่างเป็นระบบบนพื้นที่กว่า 6 ไร่ และเน้นการปลูกเพื่อส่งขายแก่ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่เธอได้เป็นอย่างดี

คุณสมพร เล่าว่า ก่อนที่จะผันตัวมาทำเกษตรแบบผสมผสานนั้น เดิมเคยทำนาและมะเขือเทศมาก่อน แต่เนื่องจากเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำให้ต้องประสบปัญหาเรื่องของราคาของผลผลิตที่ตกต่ำลงในบางครั้ง ทำให้รายได้ของครอบครัวลดน้อยลง ต่อมามีความสนใจเรื่องการทำเกษตรผสมผสานจึงได้เริ่มต้นปลูกมะเขือเทศและกะหล่ำปลีหมุนเวียนควบคู่ไปกับการทำนา บนพื้นที่กว่า 6 ไร่ โดยได้มีการแบ่งพื้นที่สำหรับปลูกพืชผักแต่ละชนิดอย่างเป็นระบบ

มะเขือเทศที่ยังสุกไม่เต็มที่

“ในช่วงแรกที่ทำเกษตรผสมผสานได้เริ่มต้นจากการปลูกมะเขือเทศและกะหล่ำปลี ต่อมาจึงค่อยๆ ขยายและนำผักชนิดอื่นมาลงปลูกเพิ่ม ทำให้ในตอนนี้ผักที่ปลูกจึงมีทั้งมะเขือเทศลูกเล็ก มะเขือเทศลูกใหญ่ กะหล่ำปลี กำหล่ำดอก มะเขือเปราะ ข้าวโพด รวมถึงฟักทองด้วย โดยจะแบ่งปลูกชนิดละประมาณ 1 ไร่ สำหรับฟักทองนั้นจะเริ่มปลูกหลังจากเก็บผลผลิตของผักที่ปลูกในช่วงนี้เสร็จเรียบร้อย”

และแม้ว่าจะหันมาทำเกษตรผสมผสานแล้วแต่ก็ยังคงทำนาเช่นเดิม แต่จะเน้นทำไว้เพื่อบริโภคเองในครอบครัว โดยหลังจากหมดฤดูทำนาและเก็บเกี่ยวแล้วจึงจะเริ่มปลูกผักอื่นๆ ซึ่งถือเป็นการปลูกผักหมุนเวียนควบคู่ไปกับการทำเกษตรผสมผสานอีกด้วย

สำหรับการเตรียมแปลงเพื่อปลูกผักนั้น จะเริ่มจากการไถพรวนดินเพื่อเป็นการทำให้ดินร่วนซุยและระบายน้ำได้ดี ต่อมาจึงยกร่องดิน ส่วนพืชที่จะนำมาลงปลูกในแปลงนั้นสามารถทำได้ทั้งหว่านเมล็ดเลย และนำมาเพาะแยกไว้ก่อนแล้วจึงค่อยนำลงดิน แล้วจึงค่อยโรยปุ๋ยเป็นแถวตามที่ยกร่องเอาไว้ ซึ่งการดูแลและการให้ปุ๋ยแก่พืชนั้นก็จะแตกต่างกันไป โดยกะหล่ำปลีนั้นจะต้องนำลงปลูกในแปลงเป็นเวลา 7 วัน จึงจะใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ หรือ 15 : 15 : 15 และหลังจากนั้นก็จะใส่ปุ๋ยทุกๆ 7 วัน และใช้เวลาปลูกแค่ประมาณ 75 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตออกขายได้แล้ว นอกจากนี้ เนื่องจากปลูกพืชหมุนเวียนเรื่องของโรคจึงไม่เป็นปัญหามากนัก

“ส่วนผลผลิตที่เก็บได้จะเน้นเก็บเอาไว้กินเองในครอบครัวและขายทั้งภายในหมู่บ้านและตลาดนัด แต่ราคาที่ขายได้ในแต่ละครั้งก็ไม่แน่นอน เนื่องจากเป็นไปตามกลไกราคาของตลาด อย่างกะหล่ำปลีตอนนี้ก็จะขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 10 บาท แต่ถ้าเป็นช่วงที่ราคาขึ้นก็จะขายได้ถึงกิโลกรัมละ 15 บาท ส่วนมะเขือเทศตอนนี้ราคาจะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 7 บาท สำหรับมะเขือเทศถ้าขายสดๆ ไม่ทันก็จะมีโรงงานเข้ามารับซื้อ รวมๆ แล้วผลผลิตจากพื้นที่กว่า 6 ไร่ที่มีสามารถทำรายได้กว่า 100,000-200,000 บาท ต่อปี”

ประโยชน์ของการทำเกษตรแบบผสมผสานนั้น นอกจากจะช่วยสร้างและกระจายรายได้ให้แก่เกษตรกรแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการระบาดของศัตรูพืชและการเปลี่ยนแปลงของราคาผลผลิต การปลูกพืชหมุนเวียนเองก็ถือเป็นรูปแบบการทำเกษตรที่สำคัญอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถช่วยเสริมให้การทำเกษตรผสมผสานประสบความสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากการปลูกพืชหมุนเวียนไม่เพียงแค่ช่วยในการฟื้นฟูสภาพดินเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจหรือช่วยให้ผลผลิตไม่ล้นตลาด ทั้งยังช่วยลดการใช้น้ำในหน้าแล้งได้อย่างดีอีกด้วย

สำหรับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวนั้นนอกจากจะมีความเสี่ยงในเรื่องของโรคและแมลงแล้ว เกษตรกรยังต้องรับความเสี่ยงในเรื่องราคาของผลผลิตที่ไม่แน่นอนด้วย เนื่องจากเมื่อปลูกพืชชนิดเดียว เมื่อราคาตกต่ำก็จะทำให้รายได้ลดลง แต่หากเราทำเกษตรแบบผสมผสานนั้นก็จะมีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงเรื่องราคาลง เนื่องจากแม้ราคาของผักชนิดหนึ่งลดลง แต่ก็ยังมีรายได้จากผักชนิดอื่นๆ จึงถือเป็นการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมสวน ซื้อผลผลิต หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูกพืชหมุนเวียนและการทำเกษตรผสมผสาน สามารถติดต่อได้ที่ คุณสมพร โนนริบูรณ์ หมายเลขโทรศัพท์ (063) 921-8757