ที่มา | เทคโนโลยีปศุสัตว์ |
---|---|
ผู้เขียน | ธนสิทธิ์ เหล่าประเสริฐ |
เผยแพร่ |
อาหารสัตว์ นับเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการเลี้ยงสัตว์และเป็นหนึ่งในต้นทุนที่สำคัญ ซึ่งในวันนี้เกษตรกรเป็นจำนวนมากต้องประสบกับภาวะราคาต้นทุนอาหารที่เพิ่มขึ้น จากภาวะการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อย ที่มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนค่าอาหารที่เพิ่มขึ้นได้ จนทำให้ต้องเลิกอาชีพการเลี้ยงสัตว์ไป
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและทำให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงสัตว์เพื่อสร้างรายได้ต่อไปได้ จึงได้มีการนำแนวคิดเกี่ยวกับการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ในท้องถิ่นมาผสมขึ้นเป็นอาหารใช้เอง ทดแทนการซื้ออาหารสำเร็จรูป
ซึ่งที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนสวนแสงประทีป ตั้งอยู่เลขที่ 197 หมู่ที่ 10 ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน โทร. (054) 781-702 ซึ่งก่อตั้งโดย อาจารย์ประทีป อินแสง อันเป็นศูนย์ที่มีการสอนให้เรียนรู้อย่างหลากหลายทั้งให้ความรู้ กระบวนการเรียนรู้ การปรับกระบวนทัศน์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หลักและระบบการจัดการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ
กิจกรรมที่น่าสนใจการเรียนรู้ของศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ เช่น แปลงเกษตรผสมผสานครบวงจร การเลี้ยงไก่พื้นเมืองอินทรีย์ การเลี้ยงไก่ไข่ระบบเกษตรธรรมชาติ การเลี้ยงหมูหลุม (สุกรธรรมชาติ) เป็นต้น
นอกเหนือจากการส่งเสริมให้ความรู้ที่เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ในระบบต่างๆ แล้ว ที่ศูนย์แห่งนี้ยังเน้นให้แนวคิดเกี่ยวกับการผลิตอาหารสัตว์ขึ้นใช้เอง ภายใต้ชื่อว่า อาหารสัตว์แบบธรรมชาติ
อาหารสัตว์จากภูมิปัญญาชาวบ้าน
อาจารย์วันชัย เกิดอ้น ปราชญ์ชาวบ้านและวิทยากรของสวนแสงประทีปกล่าวว่า การที่เกษตรกรจะสามารถยืนหยัดในอาชีพนี้ได้นั้น ควรที่จะกลับมามองถึงการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ข้าวโพด ต้นกล้วย เป็นต้น
เป็นการต้องลดการพึ่งพาปัจจัยจากภายนอก ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงอยู่ในระดับที่ต่ำ และสัตว์ที่เลี้ยงมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด อาจารย์วันชัย กล่าวว่า
ที่สำคัญอีกประการคือ การเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบัน ถ้าจะให้อยู่รอดได้และประสบความสำเร็จ จะต้องไม่ใช่อยู่ในลักษณะของการให้เทวดาเลี้ยง เกษตรกรต้องมีการศึกษาวิจัย วิเคราะห์ รูปแบบการเลี้ยงของตนเอง ศึกษาว่าสัตว์กินอาหาร สัตว์ป่วย เป็นอย่างไร และรักษาอย่างไร
“ เราต้องทำให้อยู่ในรูปแบบที่ว่า คนเลี้ยงสัตว์และสัตว์นั้นเลี้ยงคนได้ โดยเน้นยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ” อาจารย์วันชัยกล่าว
อาหารสัตว์แบบธรรมชาติ
อาหารสัตว์แบบธรรมชาติ คือหลักสูตรการเรียนรู้ที่ทางศูนย์แสงประทีปได้เผยแพร่แนะนำให้เกษตรกรได้นำไปปรับใช้ โดยวัตถุดิบที่นำมาทำอาหารสัตว์จะประกอบด้วยสิ่งที่เกษตรกรปลูกได้เอง และมีอยู่ในไร่นาของตนเอง เช่น ข้าวโพด ผักสด ต้นกล้วย เป็นต้น
อย่างในพื้นที่ 1 ไร่ 400 ตารางวา ปลูกกล้วยน้ำว้า 300 หน่อ ก็จะได้ประโยชน์ทั้งตัดใบขาย ในราคากิโลกรัมละ 5 บาท ขายปลีกล้วยหัวละ 2 บาท และเครือกล้วย ส่วนต้นกล้วยก็เอามาสับเป็นอาหารเลี้ยงหมูได้ด้วย เพียงแค่พืชชนิดเดียวเกษตรกรก็จะสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมาย หากเพียงรู้จักคิดและมองให้เห็น นอกจากนี้ ยังสามารถปลูกผักแล้วเอาเศษผักที่เหลือมาเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ได้อีกด้วย
“ นอกจากนี้ ยังควรที่จะเน้นการเลิกใช้ยาปฏิชีวนะที่ต้องไปซื้อมาจากท้องตลาด ควรหันมาใส่ใจกับการใช้สมุนไพรพื้นบ้านที่ปลูกได้เองภายในสวนในไร่นาของเรา เช่น ฟ้าทลายโจร ขมิ้น นำมาใช้ประโยชน์ผสมกับอาหารให้สัตว์กิน ซึ่งสมุนไพรไทยนั้นมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยป้องกันโรคในสัตว์ได้เป็นอย่างดี ” อาจารย์วันชัย กล่าว
สำหรับสูตรอาหารสัตว์แบบธรรมชาติที่อาจารย์วันชัยแนะนำนั้น จะประกอบด้วย สูตรอาหารไก่ และอาหารหมู
สูตรอาหารไก่พื้นเมือง
โดยในส่วนของสูตรอาหารไก่พื้นเมือง อาจารย์วันชัยได้แนะนำสูตรอาหารผสมเอง
โดยสูตรแรก ใช้สำหรับการเลี้ยงไก่พื้นเมือง ที่อายุ 6 สัปดาห์ ถึงจำหน่าย
วัตถุดิบประกอบด้วย
- ข้าวโพด 68 กิโลกรัม
- รำละเอียด 15 กิโลกรัม
- ปลาป่น 5 กิโลกรัม
- กากถั่วเหลือง 10 กิโลกรัม
- เปลือกหอยป่น 1 กิโลกรัม
- ฟรีมิกซ์ 1 กิโลกรัม
- สมุนไพร 0.25 กิโลกรัม
ส่วนสูตร 2 เป็นอาหารสำเร็จรูปสำหรับไก่พื้นเมือง โดยมีการซื้อหัวอาหารมาใช้ผสม
มีวัตถุดิบประกอบด้วย
- หัวอาหารไก่พื้นเมือง 10 กิโลกรัม
- ปลายข้าว หรือข้าวโพด 20 กิโลกรัม
- รำละเอียด 10 กิโลกรัม
- สมุนไพร 0.25 กิโลกรัม
วิธีการใช้ นำส่วนผสมทั้งหมดมาผสมกันและนำไปให้ไก่กิน โดยใช้หลักการว่า ควรใช้ให้หมดภายใน 3 วัน แล้วดำเนินการผสมใหม่ เพื่อให้ได้อาหารที่ใหม่เสมอ
ทั้งนี้ สำหรับสมุนไพรที่ใช้มี ขมิ้น ไพล ฟ้าทลายโจร บดเป็นผง โดยใช้ขมิ้นและไพลอย่างละ 1 ช้อนโต๊ะ ส่วนฟ้าทลายโจรให้ใช้ประมาณ 1 ช้อนชา
สูตรอาหารหมู
ส่วนอาหารหมู อาจารย์วันชัย มีข้อแนะนำว่า ควรที่จะนำอาหารหมัก เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการนำไปผสมกับส่วนผสมอื่นๆ เช่น น้ำ และสมุนไพร หัวอาหาร (ถ้ามี) ข้าวบด หรือปลายข้าว และแกลบอ่อน ซึ่งจะเป็นสูตรอาหารที่มีคุณค่าและช่วยให้หมูเจริญเติบโตได้ดี โดยวิธีการทำอาหารหมักนั้นจะประกอบด้วยวัตถุดิบที่สำคัญคือ
- ผักสด หรือต้นกล้วย จำนวน 100 กิโลกรัม
- น้ำตาลทรายแดง 4 กิโลกรัม
- ถังพลาสติคขนาดใหญ่
ขั้นตอนการทำ
- นำผัก หรือต้นกล้วย มาสับให้ละเอียด
- นำน้ำตาลทรายแดงมาคลุกกับผักหรือต้นกล้วยที่สับให้เข้ากัน
- นำไปใส่ในถังพลาสติค ปิดฝาทิ้งไว้ ประมาณ 2-5 วัน แล้วนำมาผสมกับอาหารสำเร็จรูปให้หมูกิน
นอกจากนี้ ยังมีข้อแนะนำเกี่ยวกับอาหารแบบชุมชน ซึ่งมีขั้นตอนการทำ ดังนี้
- หาถังใบใหญ่ 1 ใบ เตรียมสำหรับหมักอาหาร
- วัสดุที่หมัก เช่น ต้นกล้วย มะละกอ ฟักทอง ผัก ผลไม้ นำมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ จำนวน 25 กิโลกรัม
- น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม
- เกลือ 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำหมักจุลินทรีย์ 2 ช้อนโต๊ะ
วิธีใช้ ให้เทส่วนผสมทั้งหมดลงในถัง แล้วคนให้เข้ากัน ปิดฝาถังหมักไว้ 5 วัน ขึ้นไป จากนั้นจึงนำไปผสมกับอาหารอื่นและนำไปให้สัตว์กินได้
ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งขององค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งเกษตรกรหรือผู้สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนสวนแสงประทีป ตามที่อยู่ข้างต้นได้ตลอดเวลา
สูตรอาหารสัตว์ 4 กระเพาะ ของปราชญ์ชาวบ้าน จ.กระบี่
นอกจากสูตรอาหารที่แนะนำโดยอาจารย์วันชัย แห่งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนสวนแสงประทีปแล้ว ยังมีข้อแนะนำที่น่าสนใจเกี่ยวกับสัตว์เพิ่มเติมมาจากศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านเขากลม ตำบลหนองทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ โทร. (089) 590-6738 ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ คุณสงวน มงคลศรีพันเลิศ ปราชญ์ชาวบ้านของจังหวัดกระบี่ และเจ้าของรางวัลเกษตรกรดีเด่น จากหน่วยงานต่างๆ อีกมากมาย
โดยสูตรอาหารสัตว์ดังกล่าว มีชื่อว่า สูตรอาหารสัตว์ 4 กระเพาะ
การผลิตอาหารสัตว์ 4 กระเพาะ เป็นสูตรอาหารที่เน้นถึงการนำวัสุดเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีอยู่ในพื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างในภาคใต้จะมีทางปาล์มน้ำมันอยู่มาก ทางคุณสงวนบอกว่า ทางปาล์มน้ำมัน เป็นวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตรปีหนึ่งๆ มีหลายร้อยพันตัน นำมาบดและหมักสามารถใช้เป็นอาหารเลี้ยงแพะและวัวแทนหญ้าได้เป็นอย่างดี ปัจจุบัน ที่ศูนย์แห่งนี้จะผลิตได้ประมาณ 9 ตัน ต่อปี ใช้เลี้ยงแพะและวัวในฟาร์ม บางส่วนยังเหลือสามารถจำหน่ายได้อีกด้วย
สูตรอาหารสัตว์ 4 กระเพาะ ของคุณสงวนนั้น จะประกอบด้วยวัตถุดิบหลักๆ คือ ใบทางปาล์มสด ผลปาล์มดิบ กากน้ำตาล ต้นอ้อย และเกลือ
ทั้งนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 สูตร โดยจะมีแบบใช้กากน้ำตาล และใช้ต้นอ้อย
สูตรที่ 1 ส่วนผสม ใบทางปาล์ม (ใบสด) 75 กิโลกรัม ผลปาล์มดิบ 20 กิโลกรัม กากน้ำตาล 5 กิโลกรัม และเกลือ 5 กิโลกรัม
สูตรที่ 2 ส่วนผสม ใบทางปาล์ม (ใบสด) 65 กิโลกรัม ผลปาล์มดิบ 20 กิโลกรัม ต้นอ้อย 15 กิโลกรัม และเกลือ 5 กิโลกรัม
วิธีการผสม
- บดวัตถุดิบแต่ละชนิดตามสูตรให้ละเอียด โดยใช้เครื่องบดย่อย (ยกเว้นกากน้ำตาล ในสูตรที่ 1 และเกลือ)
- นำวัตถุดิบตามสูตร (ยกเว้นเกลือ) มาคลุกเคล้าให้เข้ากัน
- นำส่วนผสมที่ได้จาก ขั้นตอนที่ 2 มา ถังขนาด 200 ลิตร โดยอัดให้แน่น ไล่อากาศออกให้มากที่สุด
- โรยเกลือด้านบนเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา และปิดฝาให้สนิทเพื่อป้องกันอากาศเข้า
- หมักไว้อย่างน้อย 21 วัน แล้วจะมีกลิ่นหอม นำไปให้สัตว์กินได้ (จะหมักให้นานกว่านี้ก็ได้) แต่เมื่อเปิดฝาถังหมักและนำอาหารออกมาใช้แล้ว ควรนำออกมาใช้ให้หมดภายใน 3 วัน
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นองค์ความรู้ที่จะเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ได้นำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป เพื่อนำมาซึ่งรายได้และการประกอบอาชีพที่ยั่งยืน
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562