ภาพรวม สถานการณ์เกษตรไทยในรอบปี รุ่งหรือร่วง?

สถานการณ์เกษตรไทยในรอบปี

เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ

ผมอยากทราบข้อมูลการผลิตและการส่งออกของสินค้าเกษตรบ้านเราในภาพรวม ทั้งพืชเศรษฐกิจ การปศุสัตว์ และประมง ว่ามีความเป็นไปอย่างไร ที่ผ่านมาเห็นแต่รายงานสินค้าเกษตรบางชนิดเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีปัญหาทั้งนั้น ผมคิดว่าข้อมูลภาพรวม นอกจากจะเป็นประโยชน์กับผมแล้ว ยังเผื่อแผ่ไปถึงผู้บริหารบ้านเมืองและของตัวเกษตรกรเอง ดังนั้น ผมจึงขอรบกวนคุณหมอเกษตร กรุณาหาข้อมูลดังกล่าวให้ทราบด้วย ผมขอขอบคุณมาเป็นการล่วงหน้า

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

สุวัฒน์ ชัยศิริธรรม

นนทบุรี

ตอบ คุณสุวัฒน์ ชัยศิริธรรม

คำถามของคุณเป็นคำถามที่ดีมาก ข้อมูลต่อไปนี้ ผมรวบรวมมาจากรายงานประจำปี ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผมถือโอกาสขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ ขอข้ามไปที่ญี่ปุ่นก่อนครับ ผมชอบใจที่เขาสรุปว่า ญี่ปุ่นเองผลิตอาหารได้เองเพียง 45 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น อีก 55 เปอร์เซ็นต์ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น เขาจึงมีแผนการผลิตและการนำเข้าสินค้าเกษตรอย่างเป็นระบบอย่างน่าชื่นชม กลับมาเข้าเรื่องของเราต่อครับ ผมจะนำสินค้าเกษตรที่สำคัญที่เราผลิตได้ การใช้บริโภคภายในประเทศและการส่งออกของปีการผลิต พ.ศ. 2560/2561 ตามลำดับ ดังนี้

ข้าว นับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศก็ว่าได้ ปริมาณการผลิต รวมทั้งนาปี และนาปรัง ได้ 32 ล้านตันข้าวเปลือก เมื่อแปรรูปเป็นข้าวสารแล้วมีปริมาณ 24 ล้านตัน โดยใช้บริโภคภายในประเทศ 11 ล้านตันข้าวสาร และส่งออกในปริมาณ 11 ล้านตันเท่ากัน ทั้งนี้ ลูกค้าสำคัญคือ จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และฮ่องกง ด้วยพอใจในคุณภาพ อีกทั้งราคาส่งออกใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่ง ประกอบด้วย เวียดนาม ปากีสถาน และเมียนมา โดยมีเกษตรกรที่เป็นชาวนา รวม 3.7 ล้านครัวเรือน

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปริมาณการผลิต 4.7 ล้านตัน แต่ปริมาณความต้องการภายในประเทศสูงถึง 8.0 ล้านตัน ต้องนำเข้าในรูปของกากข้าวโพดที่เหลือจากขบวนการผลิตเอทานอลจากสหรัฐอเมริกา เข้ามาทดแทนในส่วนที่ต้องการ เนื่องจากขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์

มันสำปะหลัง ปริมาณการผลิต 30 ล้านตัน มันสด ต้องการใช้ภายในประเทศ 10 ล้านตัน ส่วนที่เหลือส่งออกในรูปมันเส้น และผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ เนื่องจากต้นปี 2559 เกิดภาวะแห้งแล้งทำให้พื้นที่บางแห่งได้รับความเสียหาย เกษตรกรบางส่วนจึงหันไปปลูกอ้อย ข้าวโพด และสับปะรดแทน ทำให้ปริมาณการผลิตลดลง

อ้อยโรงงาน ปริมาณการผลิต 92 ล้านตัน แปรรูปเป็นน้ำตาลได้ 9.9 ล้านตัน ต้องการใช้ภายในประเทศ 2.6 ล้านตัน ส่วนที่เหลือส่งออกไปยังประเทศอินโดนีเซีย จีน ญี่ปุ่น เมียนมา และกัมพูชา เนื่องจากประสบปัญหาฝนแล้ง เมื่อปี 2559 ทำให้ต้นอ้อยไม่สมบูรณ์ การนำเข้าโรงงานไม่ทัน ผลผลิตโดยรวมลดลง

สับปะรดโรงงาน ปริมาณการผลิต 2.1 ล้านตัน ใช้บริโภคภายในประเทศ 0.23 ล้านตัน ส่วนที่เหลือส่งออกในรูปสับปะรดกวน และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ปัจจุบัน ประเทศไทยผลิตสับปะรดได้เป็นอันดับหนึ่งแซงขึ้นหน้าฟิลิปปินส์มาแล้วหลายปี เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) ทำให้ราคาจำหน่ายสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ทั้งฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยรวมแล้วผลผลิตเพิ่มขึ้น

ถั่วเหลือง ปริมาณการผลิต 0.13 ล้านตัน แต่ความต้องการใช้ภายในประเทศ 2.8 ล้านตัน จึงต้องนำเข้าอีกเกือบ 2.7 ล้านตัน ปัญหาการผลิตได้น้อย ด้วยปัญหาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ อีกทั้งต้นทุนการผลิตสูง ไม่จูงใจจชาวนาให้มาปลูกพืชชนิดนี้

ยางพารา ปริมาณการผลิต 4.5 ล้านตัน ส่งออก 3.3 ล้านตัน ราคายางแผ่นดิบช่วงนี้ 44-50 บาท ต่อกิโลกรัม ปีนี้ฝนตกมากเป็นปกติ ทำให้มีเวลากรีดน้อยลง ทำให้ปริมาณการผลิตลดลงตามไปด้วย แต่ยังให้ผลผลิตต่อไร่ 234 กิโลกรัม ปัจจุบัน ราคายางกระเตื้องขึ้น โดยมีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จีน และสหภาพยุโรป ยังเป็นลูกค้ารายใหญ่

กาแฟ ปริมาณการผลิต 25,000 ตัน แต่ความต้องการใช้ภายในประเทศ 90,000 ตัน ต้องนำเข้า 65,000 ตัน เพราะว่าการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

มะพร้าว ปริมาณการผลิต 8.3 แสนตัน แต่ความต้องการในประเทศ 1.4 ล้านตัน จึงต้องนำเข้า 4.1 แสนตัน ผลผลิตที่ได้ต่อไร่ 754 กิโลกรัม มะพร้าวผลผลิตลดลง เนื่องจากอายุมาก มีแมลงศัตรูเข้าทำลาย เมื่อเร็วๆ นี้ เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวร้องเรียนรัฐบาลว่า นำเข้ามากเกินความต้องการ ทำให้ราคามะพร้าวในประเทศมีปัญหา

ปาล์มน้ำมัน ปริมาณการผลิต 13.5 ล้านตัน ทะลายสด ยังมีการนำเข้าน้ำมันปาล์ม 7.9 หมื่นตัน ทั้งนี้ อัตราการแปรรูป ทะลายสด 7.00 กิโลกรัม ได้น้ำมันปาล์ม 1 ลิตร เนื่องจากปีที่ผ่านมาฝนตกสม่ำเสมออยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้ผลผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น

ลำไย ปริมาณการผลิต 1.0 ล้านตัน ผลผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย อีกทั้งราคาดี จึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรดูแลเอาใจใส่สวนเป็นอย่างดี ความต้องการบริโภคภายในประเทศ 35,000 ตัน ส่วนที่เหลือส่งออกไปยัง จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย ทั้งนี้ อินโดนีเซียต้องการผลขนาดกลาง อนุญาตให้นำเข้าไม่จำกัดจำนวน

ทุเรียน ปริมาณการผลิต 6.3 แสนตัน ใช้บริโภคภายในประเทศ 1.2 แสนตัน ผลผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งปลูกใหม่เริ่มให้ผลแล้ว ประกอบกับสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยในการช่วยให้ติดผลดี ที่สำคัญทุเรียนมีราคาสูงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาพัฒนาสวนอย่างเต็มความสามารถ

มังคุด ปริมาณการผลิต 2.3 แสนตัน ใช้บริโภคภายในประเทศ 2.3 หมื่นตัน ส่วนที่เหลือส่งออกไปต่างประเทศ ผลผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

มะม่วง ปริมาณการผลิต 2.8 ล้านตัน ส่งออก 7.3 หมื่นตัน ตลาดสำคัญมี เกาหลีใต้ เวียดนาม ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย เนื่องจากมะม่วงมีราคาดี เกษตรกรจึงเตรียมการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น

กล้วยไม้ตัดดอก ปริมาณการผลิต 4.6 หมื่นตัน ส่งออก 2.2 หมื่นตัน (อัตรา 33 ช่อ ต่อ 1 กิโลกรัม) การส่งออกมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากจีนมาแย่งส่วนแบ่งไปจำนวนหนึ่ง อีกทั้ง อียู คุมเข้มเรื่องเพลี้ยไฟ

สุกร ปริมาณการผลิต 20 ล้านตัว การบริโภคในประเทศคิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณการส่งออกมีแนวโน้มสูงขึ้น ด้วยประเทศไทยผลิตเนื้อสุกรได้คุณภาพมาตรฐาน ลูกค้าสำคัญคือประเทศเพื่อนบ้านเรานี่เอง

ไก่เนื้อ ปริมาณการผลิต 1,560.00 ล้านตัน ต้องการใช้ในประเทศ 1.4 ล้านตัน (ไก่ 1 ตัว หนักประมาณ  2 กิโลกรัม แปรรูปได้ 1.26 กิโลกรัม) ส่วนที่เหลือส่งออกไปยังต่างประเทศ และมีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะการผลิตของไทยได้มาตรฐาน

กุ้งทะเลเพาะเลี้ยง ปริมาณการผลิต 3.3 แสนตัน บริโภคภายในประเทศ 4.0 หมื่นตัน ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา เวียดนาม ญี่ปุ่น จีน และแคนาดา การส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

ตามรายละเอียดข้อมูลข้างต้น หากนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผน หรือปัญหาที่เผชิญอยู่ ข้อมูลเหล่านี้จะสามารถช่วยให้การคลี่คลายปัญหาดังกล่าวให้เบาบางลงได้อย่างแน่นอน