ขนผักไปขายที่สิงคโปร์ ยังไปได้สวย ทำได้ไม่ยากเกินเอื้อม

อยู่สิงคโปร์เดือนก่อน ไปหาซื้อผักจะทำหม้อไฟกินกันที่บ้าน ซื้อผักสารพันเรียบร้อยแล้ว พากันไปดูผักไทยๆ ที่ตลาดไทยแถวย่าน Golden Mile อยากได้โหระพามาใส่ในน้ำซุป กับเอามารับประทานกับเปาะเปี๊ยะ ปกติซื้อผักหรืออะไรต่อมิอะไรจะรีบซื้อ เพราะเวลาที่สิงคโปร์เป็นเงินเป็นทอง แต่คราวนี้ได้มีเวลาพินิจพิจารณา ผักที่เคยเห็นขายกันมากมายที่เมืองไทย กับตอนที่มาปรากฏภายในร้านที่สิงคโปร์

ผักที่ขายในตลาดไทยทั่วโลก ก็จะมีเยี่ยงนี้ คือมีแทบทุกอย่างที่เมืองไทย แต่ฉันสังเกตว่าผักที่ขายในสิงคโปร์จะสดกว่า และไม่ต้องใช้ความเย็นประคบประหงมมากนัก วางไว้เฉยๆ ก็ยังสด อาจเพราะขนส่งมาไม่ไกล

แต่ที่ประหลาดใจคือ แม้จะอยู่ไกลกว่ามาก แต่ราคาผักที่สิงคโปร์ไม่ได้ถูกไปกว่าผักที่ขนไปไกลถึงอเมริกา หรือยุโรป เอาอย่างง่ายสุด ตะไคร้ ที่นี่ขายมัดละ 1.5 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 40 บาท มีราว 3-4 ต้น ที่อเมริกาก็ขายราคาประมาณนี้

ชะรอยมันจะเป็นไปตามค่าครองชีพของแต่ละที่ เพราะสิงคโปร์ถูกจัดเป็นเมืองค่าครองชีพสูง (ซึ่งฉันจะเถียง หากมีโอกาสต่อไป)

ดูในภาพ จะเห็นว่าแตงกวาจากเมืองไทย ขายถุงละ 40 บาท โดยประมาณ นับลูกก็ตกลูกละ 10 บาท เครื่องปรุงต้มยำ ถุงละ 60 บาท หัวปลี หัวละ 70 บาท กล้วยน้ำว้า หวีละ 100 บาท ใบแมงลัก ใบกะเพรา ใบโหระพา ยอดชะอม สะระแหน่ เหล่านี้มัดละ 45 บาท 1 มัด ไม่พอรับประทาน ลองกอง มะม่วงสุก กับกระท้อนสดราคาไล่เลี่ยกัน กิโลละ 200 บาท ส่วน เห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบ กิโลละ 800 บาท

วันเดียวกัน ชะอมที่ตลาดไท กรุงเทพฯ ขายกำละ 10 บาท ตะไคร้ กิโลละ 20 บาท แตงกวา กิโลละ 12 บาท มะนาวลูกละ 2 บาท และมะละกอดิบ กิโลละ 18 บาท

มีคนไทยส่งผักไปขายที่สิงคโปร์กันมาเนิ่นนาน แต่สำหรับฉันที่รู้จักสิงคโปร์ดี ยืนยันว่ายังไม่พอ เรายังส่งไปได้อีกมาก

เพราะอะไร?

เพราะสิงคโปร์มีประชากร 5.47 ล้านคน แต่ผลิตอาหารเองได้น้อยมาก เขาจำกัดพื้นที่ให้ทำการเกษตรเพียง 3% ผลิตผักได้ ร้อยละ 9 ปลา ได้ร้อยละ 8 ไข่ไก่ ได้ร้อยละ 26 ของการบริโภคทั้งประเทศ จึงกลายเป็นผู้นำเข้าอาหารสุทธิ นำเข้าสินค้าเกษตร อาหารแปรรูป และเครื่องดื่ม ปีละ 12 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 4 แสนล้านบาท ค่ากับข้าวต่อหัวสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตัวเลข ปี 2554 คนสิงคโปร์ 1 คน กินผัก 95 กิโลกรัม ผลไม้ 66 กิโลกรัม ไก่ 33 กิโลกรัม เนื้อหมู 19 กิโลกรัม เนื้อวัว 5 กิโลกรัม เป็ด 3 กิโลกรัม แกะ 2 กิโลกรัม ไข่ไก่ 308 ฟอง คูณดูเถิดว่าแต่ละปีต้องใช้อาหารเท่าไร

แต่ที่ผลิตได้เอง มีผักใบเขียว ปีละ 20,000 ตัน หรือวันละ 500 กิโลกรัม เรียกว่าน้อยกว่าสวนบ้านเราบางสวนเสียอีก ไข่ไก่ที่จากฟาร์ม 5 แห่ง ผลิตได้ปีละ 70 ล้านฟอง ปลาและกุ้ง จาก 40 ฟาร์ม ประมาณปีละ 54,000 ตัน

จึงมีช่องว่างมากมาย ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอาหารเพื่อการบริโภคภายในประเทศเกือบทั้งหมด ขนาดต้องมีองค์กรเฉพาะอย่าง “องค์กรบริหารจัดการสินค้าเกษตร, อาหารและสัตวศาสตร์แห่งชาติ” (theAgri-Food and Veterinary Authority of Singapore:AVA) เป็นหน่วยงานกำกับ ตรวจสอบการนำเข้าอาหารอย่างเข้มงวด วางแผน ดูแลให้มีอาหารเพียงพอ ป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การเกิดโรคระบาด ในประเทศที่ผลิต ปัญหาของผลผลิตที่เกิดจากประเทศเพื่อนบ้านที่อาจไม่ได้มาตรฐาน อันตรายจากสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ เช่น การหยุดงานประท้วงหรือปิดท่าเรือ ทำให้ส่งอาหารมาสิงคโปร์ไม่ได้

ขณะเดียวกันเขาก็สนับสนุนเกษตรกรของประเทศเขาที่มีหยิบมือ ให้ใช้เทคโนโลยีในการปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มผลผลิตอย่างเต็มที่ไม่หยุดหย่อน และยังออกไปลงทุนปลูกผักเลี้ยงสัตว์ในหลายประเทศ เช่น ในจีน

สิงคโปร์มีตลาดสดเหลือไม่มาก อาหารส่วนใหญ่จึงขายในซุปเปอร์มาร์เก็ต ทั้งระดับบน อย่าง FairPrice finest และ Cold Storage หรือระดับกลางลงล่าง อย่าง Sheng Siong รายสุดท้ายนี่เขาจะเน้นสั่งสินค้าจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ

อาหารที่ขายดิบดีในสิงคโปร์คือ ไก่สด และไก่แปรรูปแช่แข็ง เพราะชาวพุทธและชาวฮินดูไม่นิยมกินเนื้อวัว มุสลิมก็ไม่กินหมู สัตว์ปีกจึงเป็นตัวเลือกที่ดีและเหมาะสุด

คนมักคิดว่าการนำเข้าผักไปขายในสิงคโปร์จะยากเข็ญ ต้องไม่ลืมว่าเขาต้องการอาหารมากอยู่แล้ว ขอแค่ทำตามกฎเกณฑ์ของเขา ซึ่งที่จริงก็ไม่ได้เข็ญใจกว่าการที่เราจะกระเสือกกระสนไปไกลถึงยุโรป อเมริกา หรือกระทั่งตะวันออกกลาง

ฉันเคยเห็นผักจากไทยวางแห้งแหงแก๋ในตลาดไทยหลายแห่ง น่าเสียดายออก อุตส่าห์ดั้นด้นไปตั้งไกล ค้าขายก็ลำบาก เพราะทั้งอเมริกาและยุโรปเขาก็มีเกษตรกรของเขา ผลิตอาหารออกมาปีละมหาศาล สู้เราขนไปขายที่ประเทศที่ไม่ว่าอย่างไร เขาก็ยังต้องนำเข้าอาหารปีละมหาศาลไม่ดีกว่าหรือ

การนำเข้าสินค้าทุกประเภท ผู้นำเข้าจะต้องไปจดทะเบียนไว้กับหน่วยงาน Accounting & Corporate Regulatory Authority ขอใบอนุญาตการนำเข้าจาก International Enterprise Singapore ขอหนังสืออนุญาตในการนำเข้าสินค้าแต่ละครั้ง จาก Agri-Foods & Veterinary Authority (AVA) ลงทะเบียนเพื่อนำเข้าแต่ละครั้ง ต่อ Department of Customs เพื่อจ่ายภาษีสินค้าและบริการ (GST : 7%) ภาษีอื่นๆ และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง โดยจ่ายทางอินเตอร์เน็ต และหลายขั้นตอน นอกจากขั้นตอนตรวจสอบสินค้า สามารถทำผ่านทางอินเตอร์เน็ต ทั้งหมดมีแค่ 4 ขั้นตอน ซึ่งฉันก็ไม่เห็นว่ามันจะมากมายตรงไหน นอกเสียจากว่าเราหวังจะทำมาหากินง่ายเกิน ซึ่งมันไม่มีจริงหรอกในโลกนี้น่ะ

และที่สำคัญ ขั้นตอนทั้งหมดโปร่งใส รวดเร็ว เขามีเวลากำหนดไว้หมดว่าแต่ละขั้นตอนรอกี่วัน รอกี่ชั่วโมง ถ้าเราทำถูกทุกขั้นตอน แต่การดำเนินการของข้าราชการล่าช้า ถือเป็นความผิด เรียกร้องเอาผิดได้ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง

ไม่ดีกว่าจะไปมะงุมมะงาหราเสี่ยงสินค้าของเรากับขั้นตอนที่ไม่มีมาตรฐาน ขึ้นกับอารมณ์ของเจ้าหน้าที่ ถูกรีดค่าสินค้าโต๊ะแล้วโต๊ะเล่าหรอกหรือ?

ที่สำคัญอีกประการ การค้า-ขายกับสิงคโปร์ เขาไม่เรียกเก็บภาษีศุลกากรนำเข้า (เรียกเก็บภาษีสรรพสามิตเฉพาะ น้ำมัน รถยนต์ เหล้า และบุหรี่) แต่ที่ต้องเสียคือ ภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Tax : GST) ร้อยละ 7.2 ซึ่งก็เสียเท่ากับคนสิงคโปร์ทั่วไป

คาดว่าปีหน้า คนสิงคโปร์จะมีรายได้เฉลี่ย คนละ 61,257 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว 2 ล้านบาท ต่อปี สูงที่สุดในเอเชีย สูงเกินอเมริกามาหน่อย และสูงกว่าไทย 10 เท่า

ไทยเป็นผู้ผลิตอาหารหลักของภูมิภาคนี้ แต่เราพากันขนไปขายไกลเหลือเกิน ขายที่สิงคโปร์นี่แหละใกล้ดี มีอนาคต

สินค้าของสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกรหลายแห่งที่รวมตัวกันและจดทะเบียนถูกต้อง มีสิทธิ์เข้าไปตีตลาดทั้งสิ้น ไม่ยาก ไม่ซับซ้อน

ติดต่อโดยตรงไปที่ AVA (http://www.ava.gov.sg) เลย เขามีข้อมูลพรักพร้อม อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ผู้นำเข้ารายใหญ่มีใคร เขามีข้อมูลให้หมด ติดต่อไปเลย ไม่ต้องไปผ่านใครให้เปลืองค่าน้ำร้อนน้ำชา จะเยสหรือโน เขาจะบอกอย่างเร็ว และอย่างตรงไปตรงมา

 

โลกไม่มีพรมแดนแล้ว ลุยเลย…