เผยแพร่ |
---|
นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นน้อยกว่าปริมาณการผลิต ทำให้สต็อกน้ำมันปาล์มโลก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับอินเดียซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าลำดับที่ 1 ของโลก (นำเข้าปีละ 10 ล้านตัน) ปรับขึ้นภาษีนำเข้าจาก ร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 44 ส่งผลทำให้ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก คือ อินโดนีเซียและมาเลเซียส่งออกได้ลดลง สต็อกน้ำมันปาล์มโลกเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2561 คาดราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงและเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง กิโลกรัมละ 17.00- 20.50 บาท
นอกจากนี้ สภาวะอากาศเอื้ออำนวยประกอบกับเกษตรกรไทยมีการขยายพื้นที่ปลูกอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คาดว่าในปี 2561 จะมีผลผลิตปาล์มน้ำมัน 15.39 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 14.10 ล้านตัน ในปี 2560 ร้อยละ 9.15 คิดเป็นปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ 2.74 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการใช้ยังคงทรงตัว อยู่ที่ 2.36 ล้านตัน ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2561 คาดว่าจะมีสต็อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือ 0.40 ล้านตัน (ระดับที่เหมาะสม 0.25 ล้านตัน) ราคาผลปาล์มและราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทย ในปี 2561 จะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยราคาผลปาล์มที่เกษตรกรขายได้ และราคาน้ำมันปาล์มดิบเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 2.80-3.80 บาท และ 19.00-23.00 บาท ตามลำดับ
คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ในคราวประชุมวันที่ 11 พฤษภาคม 2561 มีมติเห็นชอบมาตรการการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ ดังนี้ 1. เร่งผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 300,000 ตัน เพื่อลดสต็อกน้ำมันปาล์มให้เข้าสู่ระดับปกติ และช่วยรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม โดยใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 525 ล้านบาท ขณะนี้ อยู่ระหว่างสำนักงบประมาณพิจารณาเสนอขอความเห็นชอบการจัดสรรงบกลางฯ 2. มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่เห็นชอบในหลักการแนวทางการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 ในรถบรรทุกขนาดใหญ่ (ผลการจำหน่าย น้ำมันดีเซล B20 ข้อมูลวันที่ 2 กรกฎาคม-30 กันยายน 2561 สามารถจำหน่าย B20 ได้ 6.89 ล้านลิตร คิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 1,199 ตัน หรือเฉลี่ยวันละ 13.17 ตัน) 3. มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ หารือร่วมกับกรมศุลกากร พิจารณากำหนดแนวทางการบริหารจัดการการถ่ายลำผ่านแดนน้ำมันปาล์มเพื่อสามารถกำกับดูแล ความถูกต้องของสินค้าที่ถ่ายลำและผ่านแดน 4. มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องกำหนดวัตถุดิบและคุณภาพผลิตภัณฑ์ของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มโดยเร็ว ทั้งนี้ อาจพิจารณาจัดทำแผนงานในการปรับข้อกำหนดคุณภาพการสกัดน้ำมันปาล์มของโรงงานฯ ให้มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงขึ้นเป็นลำดับตามระยะเวลาที่กำหนด ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ปี 2560-2579 โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิต ด้วยการส่งเสริมโครงการปลูกปาล์มน้ำมันโดยใช้ระบบแปลงใหญ่ (ปี 2559 กลุ่มปาล์มน้ำมันแปลงใหญ่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ร้อยละ 25 และมีรายได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20) และผลจากการที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดนำร่อง โดยการผลักดันของผู้ว่าราชการจังหวัด และสภาเกษตรกรจังหวัดสุราษฎร์ธานี พัฒนาคุณภาพปาล์มน้ำมัน โดยการตัดปาล์มสุก ประสานความร่วมมือระหว่างเครือข่ายเกษตรกร ลานเท และโรงงานสกัดฯ ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถจำหน่ายผลปาล์มได้ในราคาสูงกว่าราคาทั่วไป สามารถเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันจาก 17% เป็น 17.81% อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และช่วงเวลา (ปี 2561 สามารถดำเนินการได้ 112 แปลง ครอบคลุม 13 จังหวัด) ส่งเสริมการปลูกทดแทนปาล์มน้ำมันด้วยปาล์มพันธุ์ดี ในพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนของ กสก. พบว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกปาล์มที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ประมาณ 4.7 แสนไร่ (ชุมพรร้อยละ 38 กระบี่ ร้อยละ 26 และสุราษฎร์ธานี ร้อยละ 22) และในปี 60 สามารถดำเนินการปลูกทดแทนฯ ในพื้นที่นำร่องได้ 2 พันไร่
นอกจากนี้ ได้กำหนดโครงสร้างราคาปาล์มน้ำมันที่เป็นธรรมและให้ระบบการซื้อขายปาล์มน้ำมันแปรผันตามคุณภาพ โดยให้มีคณะทำงานระดับจังหวัด และอำเภอ กำกับดูแล และแก้ไขปัญหาให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย โดยในปี 2559-2560 กำหนดให้จังหวัด สุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดนำร่อง และในปี 2561-2562 ขยายผลไปยังจังหวัด กระบี่ ชุมพร ตรัง และนครศรีธรรมราช และการปลูกพืช หรือปศุสัตว์ร่วมในสวนปาล์มน้ำมัน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร