กระทรวงวิทย์ฯ โชว์ต้นแบบเครื่องปอกเปลือกสับปะรด

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประสบความสำเร็จในการพัฒนาต้นแบบเครื่องปอกเปลือกสับปะรด  ซึ่งเป็นการสนับสนุนงบประมาณภายใต้ โครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ประจำปีงบประมาณ 2560

โดยมีศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นหน่วยงานบริหารจัดการโครงการ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ คือ บริษัท พี วี ที ฟู้ดส์ อินดัสตรีส์ จำกัด ในการพัฒนาต้นแบบเครื่องปอกเปลือกสับปะรด ซึ่งเป็นเครื่องมือและเครื่องจักรกลที่สามารถช่วยให้กระบวนการผลิตสินค้าด้านการเกษตรแปรรูปมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ณ บริษัท พี วี ที ฟู้ดส์ อินดัสตรีส์ จำกัด  ตำบลนาเริก อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่า ความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาสร้างเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายใต้หลักการ “วิศวกรรมย้อนรอย” ซึ่งทำให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินภายในประเทศและลดการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

“ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านเครื่องจักร มีความสำคัญมากต่อกระบวนการผลิตภายในประเทศ เพราะเป็นหัวใจของการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ทดแทนแรงงานฝีมือที่นับวันจะขาดแคลนมากขึ้น ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน ลดระยะเวลาการผลิต และได้ชิ้นงานที่ได้มาตรฐานและคุณภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้สนับสนุนการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ เพื่อทดแทนการนำเข้าและช่วยลดดุลการค้าของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้สามารถพัฒนาเครื่องจักร/เครื่องมือ/อุปกรณ์ ที่ทันสมัยจากต่างประเทศตามความต้องการของผู้ใช้ในประเทศ ด้วยคุณภาพ ราคาที่สามารถแข่งขันได้” ผอ.วนิดา กล่าว

“การพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า” โดยเน้นพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบที่มีการใช้เทคโนโลยี เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการก้าวสู่ Thailand 4.0 โดยเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม  ซึ่งความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องจักรกลต้นแบบที่นำมาแถลงข่าวในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับผู้ผลิตในประเทศ ช่วยในการทดแทนแรงงาน ลดต้นทุนการผลิต และสามารถสร้างมาตรฐานและความปลอดภัยให้กับแรงงานในอุตสาหกรรมไทย

สับปะรด พืชเศรษกิจสำคัญของไทย

สับปะรดเป็นหนึ่งในพืชเศรษกิจที่สำคัญของประเทศไทย โดยในปี 2560 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกสับปะรด 5.27 แสนไร่ มีผลผลิตจำนวน 2.175 ล้านตัน จากข้อมูลในปี 2559 ระบุว่ามีการส่งออกสับปะรดกระป๋องปริมาณ 482,637 ตัน คิดเป็นมูลค่า 23,720 ล้านบาท ซึ่งประเทศไทยมีโรงงานผลิตสับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรดเข้มข้น ที่ได้รับรองจากสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมมากกว่า 75 แห่ง

เครื่องปอกเปลือกสับปะรดต้นแบบ

ขั้นตอนการทำงานของเครื่องปอกเปลือกสับปะรดต้นแบบมีขั้นตอนในการทำงานที่สำคัญๆ 3 ขั้นตอน คือ

  1. รถบรรทุกเทดั้มสับปะรดลงในบ่อน้ำล้างทำความสะอาด
  2. สับปะรดที่ทำความสะอาดแล้วจะถูกลำเลียงขึ้นไปสู่ระบบการคัดแยกขนาด

(การคัดขนาดจะใช้ระบบปากแตรและระบบไฟฟ้าเปิดปิดกลไก)

  1. สับปะรดที่ทำการคัดแยกขนาดแล้วจะถูกป้อนเข้าไปในระบบการปอกเปลือก ตัด และคว้านแกนกลางของ ลูกสับปะรด โดยมีกำลังในการผลิตประมาณ 50 ลูกต่อนาที

เครื่องปอกเปลือกสับปะรดต้นแบบที่พัฒนาสามารถทำการปอกเปลือกสับปะรดได้กับทุกขนาด โดยทำการปรับปรุงกลไกให้มีการทำงานที่ลดการเสียดสีของกลไกลง ซึ่งจะทำให้เครื่องปอกเปลือกสับปะรดดังกล่าวได้มาตรฐานสากล ในรูปแบบของเครื่องจักรกลในการผลิตอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ออกจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ โดยต้องการพัฒนาเครื่องปอกเปลือกสับปะรดดังกล่าวให้มีขนาดที่เหมาะสมต่ออุตสาหกรรมบรรจุกระป๋องของประเทศไทย ทั้งนี้บริษัทฯ ต้องการพัฒนาให้เครื่องปอกเปลือกสับปะรดดังกล่าวมีความแข็งแรง กะทัดรัด และสวยงาม ตลอดจนสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย