ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
คุณสหรัฐและคุณเจษฏาภรณ์ เกษสกุล ปัจจุบัน อยู่บ้านเลขที่ 57/1 หมู่3 ตำบลบางกระจะ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี
แต่เดิมคุณสหรัฐ ทำงานอยู่ที่กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จังหวัดจันทบุรี ต่อมาได้ลาออก มาทำอาชีพค้าขายยางพารา จากนั้นเปลี่ยนมาเป็นค้าขายมะละกอ
โดยซื้อผลผลิตจากเกษตรกรไปจำหน่ายที่ตลาดสี่มุมเมืองและตลาดไท ระหว่างที่ซื้อมะละกอไปขายนั้น คุณสหรัฐพบว่า เกษตรกรมักประสบปัญหามีโรคระบาดในแปลง ผลผลิตมีน้อย บางช่วงของไม่พอส่ง เพื่อให้มีผลผลิตส่งอย่างต่อเนื่อง เขาจึงลงมือปลูกมะละกอเองส่วนหนึ่ง โดยการเช่าที่ปลูก เมื่อปลูกไปได้สักพัก ราว 2-3 ปี ก็ย้ายที่ปลูก ทั้งนี้เพื่อลดการระบาดของโรคและแมลงนั่นเอง
ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงปัจจุบัน ย้ายมาหลายแปลงแล้ว พื้นที่จะหมุนเวียนอยู่ระหว่างจันทบุรี ปราจีนบุรี และสระแก้ว

แปลงปลูกมะละกอของคุณสหรัฐ มีพื้นที่ระหว่าง 20-30 ไร่
สายพันธุ์มะละกอที่ปลูกคือพันธุ์”แขกดำหนองแหวน” เป็นพันธุ์ที่เก็บเป็นมะละกอดิบได้ แต่ทางคุณสหรัฐและภรรยา เก็บสุกอย่างเดียว เนื่องจากได้น้ำหนักและราคาเพิ่มขึ้น
คุณสหรัฐและภรรยาแนะนำการปลูกว่า ใช้ระยะระหว่างต้น 2.5 คูณ 2.5 เมตร ปลูกไปราว 7 เดือน ก็เก็บผลผลิตได้ มะละกอต้นหนึ่งให้ผลผลิตราว 100 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อระยะการเก็บเกี่ยว คือปีเศษๆ
สำหรับการดูแลรักษา ได้รับคำแนะนำว่า ปลูกมะละกอเป็นการค้า ขาดน้ำไม่ได้ เขาจึงให้น้ำโดยสูบขึ้นมาจากแหล่งน้ำที่มีอยู่แล้ว น้ำมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะช่วงแล้ง หากขาดน้ำ มะละกอจะให้ผลผลิตน้อย ผลผลิตขาดช่วง หรือไม่ให้ผลผลิตเลย
ปุ๋ย เขาใส่ปุ๋ยคอก เป็นขี้ไก่
สำหรับปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ใส่ให้ 15 วันครั้งหนึ่ง แต่ละครั้งจำนวนครึ่งกิโลกรัม ดังนั้นปุ๋ยที่ใส่ให้เดือนหนึ่งต้อง 1 กิโลกรัม ต่อต้น ที่แนะนำมานี้ หมายถึงต้นที่ให้ผลผลิตแล้ว ต้นที่ปลูกใหม่ อายุ 3-4 เดือน จำนวนปุ๋ยที่ใส่ให้น้อย
สูตรปุ๋ยที่ใส่ให้คือ 15-15-15 เป็นหลัก เมื่อเห็นว่าดอกน้อย ต้นมะละกอยืดก็ใส่สูตร 8-24-24 ให้
แต่โรคที่เอาไม่อยู่ คือโรคใบด่างวงแหวน หากพบต้องตัดทำลายทิ้ง ถ้าระบาดทั้งแปลงก็ต้องย้ายแปลงปลูก โรคใบด่างวงแหวน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มะละกอมีผลผลิตน้อยลง แล้วก็ต้องย้ายที่ปลูกอยู่เป็นประจำ
เรื่องของการจำหน่าย ยามใดที่ผลผลิตมีไม่มาก คุณสหรัฐนำมะละกอไปส่งตลาด 3 วันครั้งหนึ่ง แต่หากมีมาก ทั้งสวนตัวเองและลูกสวน ต้องส่งทุกวัน ซึ่งต้องใช้รถ 2 คัน มีที่ต้องจ้างรถคนอื่นเพิ่ม

งานเก็บมะละกอ จะเริ่มตั้งแต่เช้า พอบ่ายก็ลำเลียงใส่รถปิกอัพ ที่บรรทุกได้มากกว่า 2 ตัน ราว 4 โมงเย็น คุณสหรัฐก็ออกเดินทางจากจันทบุรี ใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์ ถึงตลาดสี่มุมเมืองและตลาดไทราว 2 ทุ่ม ขายมะละกอเสร็จก็กลับบ้าน ถึงบ้านก่อนสว่างนิดๆ ชีวิตคนปลูกและขายมะละกอจะเป็นอยู่อย่างนี้
ได้รับคำแนะนำว่า มะละกอสุก ราคาแพงช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี เพราะของมีน้อย ครั้นเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ราคามะละกอก็จะถูกลง เนื่องจากมะละกอที่ปลูกกันอยู่ทั่วไปได้รับน้ำฝนดี
ดังนั้น หากจะให้มีมะละกอเก็บเกี่ยวเดือนสิงหาคม ต้องปลูกช่วงปลายปี แต่ข้อสำคัญต้องมีน้ำให้
ทุกวันนี้ คุณสหรัฐมีลูกสวนอยู่ 4-5 ราย พื้นที่ปลูกมากกว่า 100 ไร่
คุณสหรัฐบอกว่า งานค้าขายมะละกอ ถึงแม้จะต้องเดินทาง แต่ก็คุ้มค่า
ส่วนการทำสวน ค่อนข้างเหนื่อย เพราะมีปัญหาให้แก้ไขมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศัตรูพืชระบาด หรือภัยธรรมชาติ
ผู้ที่อยากปลูกมะละกอ คุณสหรัฐและคุณเจษฏาภรณ์บอกว่า ยินดีให้คำปรึกษา โดยติดต่อได้ตามที่อยู่ หรือ โทร.087-074-8739 และ 087-134-0345