หน้าวัวช่วงฝนชุกเตรียมรับมือโรคเน่าดำ

ฝนชุก อากาศชื้นในช่วงระยะนี้ อาจส่งผลกระทบต่อการปลูกหน้าวัว กรมวิชาการเกษตร แนะวิธีรับมือโรคเน่าดำที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอร่า (Phytophthora parasitica) ให้เกษตรกรผู้ปลูกหน้าวัวเฝ้าระวังการเกิดโรค เพราะสามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของหน้าวัว มักพบแสดงอาการเริ่มแรกบนใบมีแผล ฉ่ำน้ำเล็กๆ ต่อมาแผลขยายลุกลามรวดเร็วเป็นแผลไหม้สีน้ำตาล แผลมีรูปร่างไม่แน่นอน และอาจพบอาการที่บนดอก ก้านดอก และหน่อ

เชื้อราไฟทอปธอร่าสามารถเข้าทำลายที่รากและโคนต้น จะพบโคนต้นมีแผลช้ำ สีน้ำตาล ต่อมาขยายลุกลามไปที่ก้านใบและใบ ทำให้ก้านใบและใบเน่าหลุดจากต้นได้ง่าย รากเน่ามีสีดำ

สำหรับการปลูกหน้าวัวฤดูถัดไป ควรเลือกใช้หน้าวัวพันธุ์ต้านทานโรคคุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรค จากนั้นก่อนปลูกควรแช่ต้นพันธุ์ด้วยสารฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

และเลือกใช้วัสดุปลูกที่ไม่อุ้มน้ำจนชื้นแฉะมากเกินไป หลีกเลี่ยงการให้น้ำจนวัสดุปลูกชื้นแฉะ หมั่นเก็บวัสดุปลูกที่เสียหรือเน่าเปื่อยออกไปทิ้งนอกแปลงปลูก อีกทั้งควรปรับสภาพโรงเรือนให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ปลูกพืชหนาแน่นเกินไป และควรรักษาความสะอาดภายในโรงเรือนอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ เกษตรกรควรทำความสะอาดอุปกรณ์การเกษตรเมื่อใช้กับต้นที่เป็นโรคก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ หมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดแหล่งสะสมเชื้อรา

หากพบต้นเป็นโรคให้ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคแล้วนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อรา และให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเมทาแลกซิล+แมนโคเซบ 4% + 64% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดเมโทมอร์ฟ+แมนโคเซบ 9%+60% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร